ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมอประดิษฐ"ยันหลักเกณฑ์ชดเชยเยียวยาต้องใช้ระเบียบค่าตอบแทนฉบับเก่าลบฉบับใหม่ คาดแล้วเสร็จไม่เกินสิ้นเดือน มิ.ย. เผยความคืบหน้าตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผลสอบ "หมอวิทิต" อยู่ในขั้นตอนรอรายชื่อจากทางเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ด้าน "ดร.คณิศ" คาดใช้เงินชดเชย รพ.ชุมชน 500 ล้านบาท

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เปิดเผยถึงกรณีที่แพทย์ชนบทได้เสนอระเบียบค่าตอบแทนฉบับที่ 10 คือการเพิ่มอัตราค่าตอบแทนให้กับวิชาชีพพยาบาล ว่า เท่าที่คุยกันมาหลักการแรกคือการจ่ายเงินชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการนโยบายพีฟอร์พีตามหลักการของเก่าลบของใหม่ ซึ่งจะพยายามทำให้ทัน มิ.ย.นี้ แต่ก็ต้องไปถามกระทรวงการคลังว่าระเบียบต่างๆ สามารถใช้ได้หรือไม่ แต่เรื่องเงินจะลงไปจ่ายได้เมื่อไหร่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตอนนี้ก็จ่ายไปแล้ว 3 พันล้านที่ปลัดสธ.ลงนามไปเรียบร้อยแล้วนั้น แต่ต้องมาคำนวณว่าเงินที่ต้องใช้เท่าไหร่ และจะเอาแหล่งเงินมาจากไหน และต้องมาตรวจกันว่าจะชดเชยไปที่โรงพยาบาลไหน ด้วยวิธีการอย่างไร ซึ่งต้องทำคู่ขนานกับการให้ความรู้เรื่องการทำพีฟอร์พี ผู้สื่อข่าวถามว่ากังวลหรือไม่หากไม่สามารถทำให้แล้วเสร็จใน มิ.ย.นี้ แพทย์ชนบทจะมาเรียกร้องอีกครั้ง นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า เขาคงไม่พูดถึงขนาดนั้น เพราะถ้าพูดอย่างนั้นก็เหมือนกับการเอาเงินเป็นตัวตั้ง ซึ่งการชดเชยเราก็แสดงให้เห็นแล้วว่าจะชดเชยจริงๆ ก็คงไม่ช้าเกินไปเป็นเดือน เพียงแต่วันนี้ต้องมาพูดมาตรการก่อน น่าจะสามารถยอมรับกันได้ ไม่คิดว่าเขาจะมายื่นคำขาดถ้าไม่ได้เงินเพราะมันจะกลายเป็นเอาเงินเป็นตัวตั้ง

นพ.ประดิษฐ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้แพทย์ชนบทยังได้เสนอเรื่องการปรับพื้นที่ด้วย ซึ่งตนเห็นว่าไม่ได้ขัดกับหลักการอะไร เพราะว่าได้ตกลงกันแล้วว่าจะมีการทำงานแบบมีตัวชี้วัดทั้งระดับองค์กร ผู้ปฏิบัติงาน และตอบแทนตามปริมาณ คุณภาพงาน โดยให้โรงพยาบาลชุมชนจะเป็นผู้คิดตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและให้เป็นไปตามตัวกำหนดภาพรวมของ สธ. แต่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเพราะเป็นโรงพยาบาลคนละระดับ

ทั้งนี้ตัวชี้วัดที่ได้ต้องนำมาเสนอเพื่อทำเป็นกติกากลางที่ใช้ร่วมกัน เช่น ค่าเงินที่เอามาจ่ายต้องเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ต้องเหลือจากสภาพคล่องของโรงพยาบาลเท่าไหร่ เป็นต้น เพื่อกันผู้ที่จะเอาไปใช้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง

ส่วนความคืบหน้าเรื่องการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวิธีการตรวจสอบ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล อดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอรายชื่อจากทางฝั่งผู้ที่มาเรียกร้อง ซึ่งก่อนหน้านี้ส่งมา 9 รายชื่อ แต่ตนขอให้ลดเหลือเพียง 6 ชื่อ เพื่อให้มีสัดส่วนคณะกรรมการจาก สธ.ซึ่งประกอบไปด้วย นพ. วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นักกฎหมาย 1 คน โดยมี นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ เป็นประธานคณะกรรมการฯ ซึ่งตัวประธานไม่ได้มีอำนาจอะไรมาก เพียงแต่มาทำหน้าที่ในการจัดระเบียบการพูด" นพ.ประดิษฐ กล่าว ทั้งนี้สำหรับกรณีที่แพทย์ชนบทไม่ค่อยพอใจเรื่องที่ไม่เอาตัวแทนจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรมเข้ามาเป็นกรรมการฯด้วยนั้น นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า เนื่องจากสหภาพองค์การเภสัชกรรมเป็นคนในปกครองของ อภ. ซึ่งโดยทั่วไปเราไม่ควรจะเอาคนในตำแหน่งพนักงานเข้ามาเพราะคนที่จะมาให้การเป็นกรรมการบริหารขององค์กร จะดูไม่สมควร อย่างไรก็ตามสามารถเข้าไปนั่งฟังได้พร้อมกับสื่อมวลชน ตรงนี้ไม่ได้ปิดกั้น แต่การจะให้ความเห็นนั้นบางครั้งอาจจะกลายเป็นประเด็น เพราะเป็นเรื่องระหว่างลูกจ้างกับผู้บังคับบัญชา ต้องฟังด้วยเหตุและผลคิดว่าน่าจะเข้าใจ

นพ.ประดิษฐ กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องการขนย้ายวัตถุดิบยาพาราเซตามอลนั้น ตนเห็นจากข่าวหนังสือพิมพ์ว่าเป็นการคืนสินค้า แลกเปลี่ยนเอาอันใหม่มาให้ ซึ่งก็ได้ถามไปยังประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ทราบว่ารักษาการ อภ. จะใช้วิธีการเอาวัตถุดิบที่ได้คืนมาไปขายให้โรงงานเภสัชกรรมทหารผลิตต่อ ไม่เอามาเก็บไว้ที่ อภ.แล้ว เพราะเก็บไว้ก็ไม่ได้ผลิต ภารกิจของ อภ.ก็คงต้องผลิตยาตัวอื่นไปก่อน "แต่ผมมีข้อกังวลว่าเมื่อทำออกมาแล้วน่าจะเป็นของที่มีคุณภาพ อย่าไปตั้งข้อกังวลว่า เอาวัตถุดิบมาจากแหล่งที่มีปัญหาเดิม เพราะไม่อย่างนั้นก็แก้ปัญหาไม่จบ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องเอาไปผลิต ไม่อย่างนั้นก็ต้องเอาไปทิ้ง แล้วต้องมีผู้รับผิดชอบอีก ซึ่งผมไม่อยากให้มีผู้รับผิดชอบยาว แต่ว่าเราต้องมีการตรวจสอบคุณภาพอย่างเข้มข้น จะได้เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน" นพ.ประดิษฐ กล่าว

ต่อข้อถามว่าวัตถุดิบที่แลกคืนมาจะนำไปเก็บที่ไหน นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพราะเขาก็เอาไปขายต่อให้โรงงานเภสัชกรรมทหารไปผลิตต่อ โรงงานเภสัชกรรมทหารจะเอาไปเก็บที่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ได้มา 100 ตัน ผลิตเดือนละ 10 ตันก็ใช้เวลาปีหนึ่ง ยกเว้นมีการตกลงกันว่าฝากอภ.เก็บไว้ก่อน จะใช้ก็เบิกไปเรื่อยๆ เดือนละ 10 ตัน ใจเย็นๆ ถ้าหักกันแรงๆ คือไม่รับคืนแล้วก็คงทะเลาะกันไม่จบ ทางจีนก็คงคิดว่าทำไมไปว่าโรงงานเขาขนาดนั้น

ด้าน ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมได้มีการพูดคุยใน 3 ประเด็น 1. เรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในภายในสัปดาห์หน้า แต่ยังคงต้องคุยกันถึงรายละเอียดในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปเนื่องจากบางวิชาชีพทำพีฟอร์พีแล้วอาจจะได้รับเงินค่าตอบแทนน้อยกว่าที่ควร เช่น ปกติเคยได้รับ 5 พันบาท แต่เมื่อทำวัดผลการปฏิบัติงานแล้วได้รับน้อยกว่าเดิมก็จะได้รับค่าชดเชยในส่วนต่างที่หายไป

2. เรื่องการประเมินผลการปฏิบัติงานทางชมรมแพทย์ชนบทได้เสนอว่าต้องพิจารณาตัวแปรให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ โดยหลังจากนี้การประเมินผลจะต้องเชื่อมโยงไปยังโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป เพื่อรองรับระบบสุขภาพที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เช่น การส่งต่อ ซึ่งจะเป็นผลดี เพราะก่อนหน้านี้ต่างคนต่างทำ

และ 3. ได้มีการเสนอให้ นพ.ลุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปดูระบบประเมินผลและการจ่ายค่าชดเชย โดยคาดว่าภายใน 2 เดือนเรื่องการจ่ายค่าชดเชยจะเสร็จสิ้น และค่าตอบแทนฉบับใหม่น่าจะเสร็จสิ้น เพราะทั้ง 2 ส่วนต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตามตัวเลขการชดเชยเยียวยาไม่มีปัญหาเพราะว่าเป็นการกลับไปใช้แนวทางเดิม ส่วนที่หายไปที่ต้องชดเชยในส่วนของ โรงพยาบาลชุมชนประมาณ 500 ล้านบาท

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 22 มิถุนายน 2556