ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชิงดักทางไว้ล่วงหน้า ท่ามกลางความเป็นไปได้ที่อาจออกได้ทั้งหัวและก้อย คือ "รอดหรือไม่รอด"

เจ๊หน่อย - คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เปิดบ้านแถลงข่าวฟอกตัวเองเสร็จสรรพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มิ.ย. 56 ที่ผ่านมาว่าไม่ได้ทำผิดคิดทุจริตต่อบ้านเมืองกลับช่วยรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติเสียอีก แล้วคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะมาสอบสวนตัวเองทำไมให้เสียเครดิตการเมืองมาเนิ่นนานหลายปี

คดีนี้ จากเดิมที่โหมโรงบอกว่าอังคารที่ 18 มิถุนายน 2556 ป.ป.ช.จะปิดสำนวนการสอบสวนคดีทุจริตการยกเลิกการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ กระทรวงสาธารณสุขมูลค่าเกือบ 900 ล้านบาทโดย มิชอบได้แน่นอน แต่สุดท้ายก็ปิดสำนวนกันไม่ลง ประชุมกันไปสองนัดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้

ทำให้ผู้คนสงสัยกันมากมายว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่เป็นเรื่องที่เกิดตั้งแต่ปี 46-47 ล่วงผ่านเลยมาร่วมสิบปี อีกทั้ง ป.ป.ช.ก็ตั้งแท่นลุยสอบเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว ก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาตลอดว่าอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช.ตั้งแต่ยุค ภักดี โพธิศิริ เป็นประธานได้ข้อยุติการสอบสวนหลายปมแล้ว ก่อนที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงประธานอนุกรรมการไต่สวน เพราะมีการร้องขอความเป็นธรรมจากคนที่ ป.ป.ช.สอบสวนจนมีการยื่นเรื่องถอดถอนภักดีไปที่วุฒิสภา จนมาถึงยุคของ วิชัย วิวิตเสวี แต่ก็ยังไม่สามารถชี้มูลความผิดได้ สรุปมูลเหตุที่ ป.ป.ช.ได้แต่ง้างเรื่องทุจริตยกเลิกการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ฯ ไม่สามารถสรุปผลได้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ แม้ที่ประชุมได้มีข้อสรุปในการสอบสวนข้อเท็จจริงบางเรื่องยุติไปแล้ว มีการลงมติกันไปแล้วบางประเด็น แต่ที่ประชุมยังมีข้อเท็จจริง บางประเด็นที่กรรมการต้องไปพิจารณาเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง หลังอนุกรรมการไต่สวนได้สรุปผลการไต่สวนส่งมาให้ที่ประชุมใหญ่ ไปแล้ว

โดยประเด็นที่ยังหาข้อยุติร่วมกันไม่ได้มี 2-3 ประเด็นใหญ่ ป.ป.ช.บอกว่าหากที่ประชุมในสัปดาห์นี้ หาข้อยุติได้ก็จะไปสู่ขั้นตอนการพิจารณาข้อกฎหมาย แล้วก็ไปวินิจฉัยถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องว่าจะมีใครบ้าง

แม้ผู้ให้ข่าวคือ นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.จะ ไม่ได้บอกอะไรตรงๆ พูดแต่ขั้นตอนวิธีการไต่สวนของ ป.ป.ช.ตามระเบียบปฏิบัติ แต่ก็พอจะถอดความให้เห็นภาพได้ง่ายๆ ว่า หากสุดท้าย ป.ป.ช.ชี้มูลคดีนี้คือเห็นว่ามีการทำผิดจริง  มันก็จะโยงกันไปหมดทั้ง ข้าราชการประจำ-นักการเมือง ถ้าข้อเท็จจริงตรงนี้ได้ข้อสรุปร่วมกันจนเป็นมติของที่ประชุมหรือมติเสียงข้างมาก ก็จะไปสู่การพิจารณาข้อกฎหมายคือดูว่าพฤติการณ์การทำผิดที่ ป.ป.ช.เชื่อว่ามีมูล เข้าองค์ประกอบความผิดกฎหมายฉบับไหน มาตราไหนเพราะอะไร มีพยานหลักฐานอะไรทำให้เชื่อว่าสามารถชี้มูลความผิดตามกฎหมายได้

ก็ไม่รู้ว่า ที่มีข้อสรุปกันไปแล้วคืออะไร แล้วที่ยังถกเครียดลงมติกันไม่ได้คือเรื่องอะไร เพราะต้องยอมรับว่ามีการปกปิดกันได้มิดชิดมาก ไม่มีข่าวรั่วไหลใดๆ ออกมาเลยว่าใครจะรอด-ใครไม่รอด

ขณะที่ฟากเจ๊หน่อย-สุดารัตน์ ประมวลข้อต่อสู้ในคดีนี้พบว่า มุ่งไปที่ 5 ประเด็นหลักคือ

1. การยกเลิกโครงการดังกล่าวของกระทรวงสาธารณสุขเวลานั้น เป็นเพราะกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เห็นว่าบริษัทที่เข้าร่วมประมูลเสนอสินค้าที่มีคุณสมบัติต่ำกว่าที่ทีโออาร์กำหนดทั้งเรื่องหน่วยความจำ ความเร็ว และระบบไฟสำรองของเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นสาระสำคัญในการจัดซื้อ จึงยกเลิกโครงการได้โดยชอบ ด้วยกฎหมาย เมื่อยกเลิกโครงการก็คืนงบประมาณทั้งหมด 900 ล้านบาท ให้กระทรวงการคลัง โดยไม่มีการจัดซื้อแม้แต่เครื่องเดียว ไม่ได้ทำให้ราชการเสียหาย

2. ไม่ได้เป็นผู้ออกคำสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขยกเลิกการประมูลโครงการ โดยยืนยันว่า ไม่ได้สั่งการใดๆ ขณะนั้นเรื่องยังมาไม่ถึงตัวเองและช่วงที่มีการยกเลิกโครงการ ก็ไม่ได้อยู่กระทรวงสาธารณสุขแล้ว แต่ย้ายไปเป็น รมต.อยู่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว

3. มีบริษัทเอกชนไปยื่นฟ้องตนเองต่อศาลปกครองว่า ยกเลิกโครงการโดยมิชอบ แต่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อปี 2553 ว่าการยกเลิกการประกวดราคาเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของทางราชการ

4. ระหว่างสู้คดีกับ ป.ป.ช. มีกลุ่มบุคคล 3 คน เป็นพยานเท็จ ไปให้การกับ ป.ป.ช. หนึ่งในนั้นเป็นอดีตข้าราชการระดับสูง ทำให้กลุ่มข้าราชการที่ตกเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ร่วมกับตนเองไปยื่นเรื่องฟ้องศาลอาญาดำเนินคดีกับพยานเท็จกลุ่มนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 พ.ค.56 ศาลมีคำตัดสินให้จำคุกอดีตข้าราชการระดับสูงคนนี้ข้อหาให้การเท็จเป็นเวลา 2 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

5. มีข้อมูลว่าระหว่างที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อคอมพิวเตอร์กระทรวงสาธารณสุขนั้น มีรัฐมนตรีขณะนั้นคนหนึ่ง พยายามบีบบังคับเรียกข้าราชการเหล่านี้ไปเจรจาเกลี้ยกล่อมให้ปรักปรำนักการเมืองว่าเป็นผู้สั่งการยกเลิกโครงการ แต่ข้าราชการกลุ่มนี้ไม่ทำตาม และยังอัดเทปบันทึกเสียงรัฐมนตรีผู้นี้ไว้ด้วย ซึ่งได้ส่งหลักฐานชิ้นนี้ให้ ป.ป.ช. ไปประกอบการพิจารณาแล้ว

มองตามคำแถลงของคุณหญิงสุดารัตน์เรียกได้ว่า ทุ่ม สรรพกำลังทุกอย่าง เพื่อสู้คดีนี้อย่างเต็มที่มาตลอดหลายปี ดังนั้นการรีบชิงแถลงก่อน ป.ป.ช.จะสรุปผล มันแสดงให้เห็นอาการเลือดเข้าตาของเจ๊หน่อย ซึ่งหาก ป.ป.ช.จะสรุปผลใดๆ ออกมา ก็คงต้องหักล้างข้อต่อสู้ของเจ๊หน่อยให้ได้ด้วยเช่นกัน

ก็ดูว่าที่ ป.ป.ช.บอกว่าไม่เกินเดือนนี้ที่ก็หมายถึงประชุมกันอีกสองนัดวันอังคารที่ 25 มิถุนายนและ 27 มิถุนายน 2556 หากป.ป.ช.จะสอบสวนไม่ได้ข้อยุติแถลงปิดสำนวนไม่ได้ ก็ต้องมีคำแถลงออกมาอย่างเป็นทางการให้สาธารณชนได้รับรู้แล้วว่า มันเกิดปัญหาตรงไหน

เพราะ ป.ป.ช.เองก็ต้องตระหนักด้วยว่า "ความยุติธรรมที่ล่าช้า ก็คือความอยุติธรรม" การที่บุคคลใดถูก ป.ป.ช.สอบสวนหรือตั้งข้อกล่าวหา ตกเป็นข่าวถูกสอบสวนเรื่องทุจริตหรือการทำหน้าที่โดยมิชอบอะไรต่างๆ มันก็กลายเป็นเรื่องมัวหมอง-ชนักติดหลังที่ส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานและความรู้สึกของตัวเองและครอบครัวอย่างมาก

จริงอยู่ว่าการสอบสวนต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สอบสวนได้ข้อมูลรอบด้านและลึกมากที่สุด ต้องมีพยานหลักฐานปรากฏแน่ชัดทั้งพยานเอกสารและพยานบุคคล ยิ่งหากจะชี้มูลความผิดใครก็ต้องมีข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ไม่ใช่ทำกันสุ่มสี่สุ่มห้า และต้องไม่มีธงในการสอบสวนว่าจะเอาผิดเล่นงานใคร

แต่เนื่องจากที่ผ่านมาโดยเฉพาะ ป.ป.ช.ชุดนี้มีเสียงวิจารณ์กันมากเรื่องสำนวนคั่งค้าง ทำงานล่าช้ามาก โดยเฉพาะเรื่องสำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างกับประเทศชาติ -คนที่ถูกสอบสวน และโครงการที่ถูก ป.ป.ช.เข้าไปตรวจสอบ

จุดนี้ ป.ป.ช.ก็ต้องตระหนักด้วย ในการปรับการทำงานให้รวดเร็วมากขึ้น ไม่ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม เรื่องไหนสำคัญก็ต้องมีการจัดลำดับความเร่งด่วนด้วย

อย่างกรณีเรื่องโครงการรับจำนำข้าวที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์ยื่นป.ป.ช.ไปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555 หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็พบว่าจนถึงขณะนี้การสอบสวนของ ป.ป.ช.ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมาเลย ทั้งที่คนทั้งประเทศเห็นตรงกันว่ามันมีช่องโหว่มีความเสียหายเกิดขึ้น มีกระบวนการทุจริตเกิดขึ้น ส่งผลให้มีการขาดทุนงบประมาณไปแสนกว่าล้านบาท

ป.ป.ช.ที่เป็นองค์กรหลักที่จะยับยั้งความเสียหายตรงนี้ได้ ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะการสอบสวนเอาผิดคนที่เกี่ยวข้องกับขบวนการทุจริตรับจำนำข้าว แต่ก็กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมา

ที่มา: http://www.manager.co.th