ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ประดิษฐ”เอาจริงปัญหาท้องไม่พร้อม เตรียมนำโซเชียลมีเดียมาใช้ตอบคำถามวัยรุ่น แจกถุงยางผ่านตู้-อินเทอร์เน็ต  พร้อมผุดคลินิกให้คำปรึกษา  สั่งทบทวนกฎหมายเป็นอุปสรรค

วันนี้(26 มิ.ย. ) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ว่า วันนี้มีประเด็นปัญหาหลัก 2 เรื่องที่มีการพิจารณาคือ คนไทยเกิดน้อย และท้องไม่พร้อม โดยปัญหาท้องไม่พร้อมคณะกรรมการฯเห็นว่า กลุ่มเป้าหมายที่ต้องเข้าไปดูแลคือกลุ่มเยาวชนในระบบการศึกษา และกลุ่มที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ปัญหาที่เจอคือ ทัศนคติต่อการคุมกำเนิด การเข้าถึงการคุมกำเนิดยังมีปัญหา การเข้าถึงอุปกรณ์การคุมกำเนิด เช่น ถุงยางอนามัย และความรู้ในการคุมกำเนิดก็มีปัญหาเช่นกัน

นพ.ประดิษฐ กล่าวต่อว่า กลยุทธ์ที่จะทำคือการให้ข้อมูล การสื่อสาร การให้การศึกษาอย่างต่อเนื่องในเด็ก ว่าเซ็กซ์ไม่พร้อมไม่ดีอย่างไร และต้องทำความเข้าใจกับผู้ใหญ่ก่อนว่าการมีเซ็กซ์ในวัยรุ่นคงห้ามไม่ได้ในยุคนี้ แต่ทำอย่างไรให้มีการป้องกันและเข้าถึงการคุมกำเนิด เช่น ถ้าไปแจกถุงยางอนามัยในโรงเรียนแล้วครูไม่เข้าใจ ห้ามแจก ก็คงจะไม่ประสบความสำเร็จ 100% ส่วนการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายกลยุทธ์ออกทีวีสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ใหญ่ได้ แต่กลุ่มเด็กและเยาวชนควรนำโซเชียลมีเดียมาใช้เป็นตัวช่วยในการเข้าถึงบริการและเข้าถึงถุงยางอนามัย เช่น อาจจะแจกถุงยางทางอินเทอร์เน็ต โดยให้เอกชนดำเนินการ รัฐสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งโซเชียลมีเดียจะตอบคำถามที่เยาวชนอยากรู้ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากัน

รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า ช่องทางบริการท้องไม่พร้อมที่มีอยู่หากยังให้ภาครัฐดำเนินการ เยาวชนคงไม่ยอมไปโรงพยาบาล ดังนั้นต้องมีการพัฒนาช่องทางให้มาอยู่ข้างนอก เช่น ตามคลินิกต่าง ๆ เอาภาคประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ส่วนการเข้าถึงถุงยางอนามัยก็แจกผ่านตู้หรือให้สั่งทางอินเทอร์เน็ต โดยภาครัฐที่ควรจะมาร่วมด้วย เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กระทรวงมหาดไทย เอ็นจีโอ และดึงกลุ่มเป้าหมาย คือ เยาวชน ผู้ใช้แรงงาน มาร่วมด้วย มาช่วยคิด วางแผน นอกจากนี้ควรจะมีการเปลี่ยนชื่อคลินิกให้เหมาะสมเป็นคลินิกสุขภาพวัยรุ่น สำหรับงบประมาณที่จะนำมาใช้ดำเนินการมี 2 ทาง คือจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ( สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นพ.ประดิษฐ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้มอบให้อนุกรรมการไปทำแผนปฏิบัติการมานำมาเสนอภายใน 60 วันแล้วค่อยมาพิจารณากันอีกครั้ง ส่วนคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์ระดับจังหวัดให้ดึงเยาวชน ผู้ใช้แรงงานมาร่วม และอนุกรรมการกฎหมายควรทบทวนกฎระเบียบที่มีอุปสรรคต่อการเข้าถึงการคุมกำเนิด การท้องไม่พร้อม รวมไปถึงการออกกฎหมายอนามัยเจริญพันธุ์ให้ชัดเจน เช่น กรณีท้องไม่พร้อมมีกฎหมายอะไรที่เป็นอุปสรรคทำให้เข้าไม่ถึงบริการ ไม่สามารถเข้าถึงวิธีการแก้ปัญหาได้ อย่างเช่น ยาทำแท้ง ที่ห้ามจำหน่าย ในวันนี้ก็ได้พูดคุยกับราชวิทยาสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยว่าต้องมีข้อบ่งชี้ในการใช้ที่ชัดเจน มีมาตรการควบคุมไม่ให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด ถ้ามีมาตรการที่ชัดเจนแล้วต่อไปจึงค่อยมาดูเรื่องนี้

ที่มา: http://www.dailynews.co.th