ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"เจแปนโทแบคโก" บริษัทบุหรี่ญี่ปุ่นยื่นฟ้องรัฐบาลไทยกรณีเตรียมขยายพื้นที่คำเตือนบนซองบุหรี่ เพราะเป็นอุปสรรคทางด้านการค้า ด้าน "ฟิลิปมอร์ริส" ก็เตรียมฟ้องต้นเดือนหน้า ขณะที่รัฐมนตรีสาธารณสุขบอกว่ากระทรวงมีหน้าที่ต้องทำ สธ.เดินหน้าขยายเตือนภัยบุหรี่หลายฝ่ายออกมาหนุนกระทรวงสาธารณสุขขยายภาพเตือนภัยบนซองบุหรี่จาก 50% เป็น 85% เพื่อลดจำนวนนักสูบ พร้อมประณามสมาคมผู้ค้ายาสูบที่ยื่นฟ้องศาลปกครอง

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เจแปนโทแบคโกอินเตอร์เนชันแนล (เจทีไอ) บริษัทบุหรี่ที่มีบริษัทแม่อยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตบุหรี่ของโลก มีแถลงการณ์ออกมาว่า การเตรียมบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขไทยที่จะขยายพื้นที่คำเตือนบนซองจาก 50 เปอร์เซ็นต์ เป็น 85 เปอร์เซ็นต์ เป็นอุปสรรคในการทำการค้าของบริษัทในประเทศไทย

กฎระเบียบใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเจทีไอบอกว่า มีผลกระทบที่ไม่เหมาะสมต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม ลิขสิทธิ์ทางปัญญา และเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อเป็นการพิทักษ์ความสามารถในการใช้ตราและเครื่องหมายการค้าต่อในประเทศไทย เจทีไอจึงมีมาตรการทางกฎหมายที่ไม่เห็นด้วยกับระเบียบที่ออกมาใหม่นี้ ซึ่งได้ยื่นฟ้องต่อศาลไทยแล้วเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา

ทางด้านบริษัท ฟิลิปมอร์ริส และผู้จำหน่ายบุหรี่หลายร้อยรายในประเทศไทย ได้มีคำเตือนออกมาว่าอาจจะยื่นฟ้องยังกระทรวงสาธารณสุขด้วยเช่นกัน โดยอ้างว่ากระทรวงไม่ได้ปรึกษาหารือกับบริษัทเกี่ยวกับการใช้ระเบียบใหม่ดังกล่าว

ขณะที่นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ปฏิเสธว่ายังไม่ได้รับคำเตือนดังกล่าวจากฟิลิปมอร์ริส และว่ากระทรวงมีหน้าที่ต้องทำ ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ ซึ่งเชื่อว่าการขยายพื้นที่คำเตือนบนซองบุหรี่จะทำให้คนใคร่ครวญก่อนที่จะสูบบุหรี่

นอกจากบริษัทบุหรี่ต่างชาติได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านก็ขยายพื้นที่คำเตือนบนซองบุหรี่ของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว อีกด้านหนึ่งสมาคมผู้ค้ายาสูบไทยได้ไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อให้พิจารณายกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว โดยทางสมาคมฯ อ้างว่าเป็น การออกกฎหมายที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้สอบถามความคิดของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน

นางสาวบังอร ฤทธิภักดี ผอ.เครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งอาเซียน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่สมาคมผู้ค้ายาสูบไปฟ้องต่อศาลปกครอง เนื่องจากทางสมาคมฯ มีจุดประสงค์เพียงเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนเองเท่านั้น เชื่อว่าประกาศดังกล่าวของ สธ.จะสามารถทำให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่เห็นถึงโทษของการสูบบุหรี่ และไม่เลือกที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน แต่จะช่วยลดจำนวนคนสูบบุหรี่ได้มากหรือน้อยเพียงใดนั้น จะต้องพิสูจน์ภายหลังประกาศนี้บังคับใช้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การวิจัยของต่างประเทศพบว่า การเพิ่มพื้นที่คำเตือนเรื่องอันตรายบนซองบุหรี่นั้นสามารถช่วยลดจำนวนผู้เสพหน้าใหม่ได้จริง

"ที่ สธ.ได้ออกกฎดังกล่าวมานั้นเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ซึ่งบริษัทผู้ประกอบการบุหรี่ไม่สามารถอ้างได้ว่าพวกตนไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดประกาศดังกล่าว เนื่องจากตามอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์การอนามัยโลก ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามธุรกิจยาสูบเข้ามามีส่วนร่วมกับการออกกฎหมายของรัฐเด็ดขาด" น.ส.บังอรกล่าว และว่า ขณะนี้ร้านค้าส่วนใหญ่ก็ยังฝ่าฝืนกฎหมายโดยการจำหน่ายบุหรี่ให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

เธอเปิดเผยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกด้วยว่า บุหรี่เป็นสาเหตุให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตปีละกว่า 6 ล้านคน หรือเฉลี่ยนาทีละ 11 คน ส่วนในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ปีละ 50,700 คน เฉลี่ย 1 คนในทุก 10 นาที ด้วยโรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด และโรคหัวใจและหลอดเลือด จากจำนวนผู้สูบบุหรี่ทั่วประเทศ 13 ล้านคน

ด้าน ผศ.ดร.กิตติ กันภัย นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การออกมาเรียกร้องของสมาคมผู้ค้ายาสูบนั้นเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มของตน โดยไม่สนใจสุขภาพอนามัยของประชาชนแม้แต่น้อย ดังนั้นการออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าวคาดว่าไม่สามารถเปลี่ยน แปลงประกาศดังกล่าวของกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างแน่นอน

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 27 มิถุนายน 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง