ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวียนนา-ยูเอ็นแสดงความกังวลต่อการระบาดของสารออกฤทธิ์ต่อประสาทที่ถูกกฎหมายและออกจำหน่ายในอินเทอร์เน็ตโดยแฝงเป็นเกลืออาบน้ำ หรือเครื่องเทศ

สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี) เปิดเผยรายงานประจำปีว่าด้วยสถานการณ์ยาเสพติดโลก ที่ตั้งข้อกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (เอ็นพีเอส) ที่ออกจำหน่ายทางอินเทอร์เน็ตอย่างมากมายในรูปแบบของเกลืออาบน้ำ ผงปรุงรส หรือกำยานสมุนไพร ซึ่งแม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมายแต่ในระยะยาวอาจจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้อย่างรุนแรง

ยูเอ็นโอดีซีระบุว่า สารเอ็นพีเอสเหล่านี้ออกจำหน่ายโดยไม่มีการทดลองด้านความปลอดภัย และอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้มากกว่ายาเสพติดทั่วไปหลายเท่า ทั้งนี้จำนวนสารเอ็นพีเอสที่ตรวจพบว่ามีการจำหน่ายในตลาดมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 166 ชนิดในปี 2552 เป็น 251 ชนิดในปี 2555

เอ็นพีเอสอาจผลิตขึ้นมาจากการสังเคราะห์ หรือใช้พืชบางชนิด ซึ่งสามารถสร้างสารชนิดใหม่ขึ้นมาได้ง่าย ซึ่งยูเอ็นโอดีซีพยายามผลักดันให้มีการออกกฎหมายควบคุมหรือห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ โดยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับการควบคุมการจำหน่ายเอ็นพีเอสเป็นครั้งแรกท่ามกลางการระบาดอย่างรวดเร็วของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีการสร้างขึ้นมาจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามมุมมองที่ว่าสารเอ็นพีเอสที่จัดเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งนั้นเป็นสารปลอดภัยในการใช้งาน กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการขับเคลื่อนกฎหมายหรือระบบการควบคุมการจำหน่าย

ปัจจุบันเอ็นพีเอสได้รับความนิยมในกลุ่มนักศึกษาในสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก โดยได้รับความนิยมรองจากการเสพกัญชาเท่านั้น ขณะที่การเสพเอ็นพีเอสในยุโรปก็เพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้การเสพกัญชาลดลง แต่ปริมาณการเสพยาเสพติดชนิดอื่นในยุโรปยังคงทรงตัวเช่นเดิม โดยมีการเรียกสารเอ็นพีเอสกันว่า "ลีกัล ไฮส์" หรือ "ดีไซเนอร์ ดรัก"

ขณะเดียวกัน เอ็นพีเอสก็ระบาดในเอเชียและแอฟริกา เนื่องจากการไม่เอาจริงเอาจังของหน่วยงานด้านสาธารณสุข ตำรวจ ศุลกากรของประเทศในสองภูมิภาคในการปราบปรามและควบคุม ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ต้องการการแก้ไขโดยอาศัยความร่วมมือกับต่างประเทศในการตรวจจับยาเสพติดประเภทนี้มากขึ้น

ทั้งนี้ยูเอ็นโอดีซีเปิดเผยในรายงานด้วยว่า ยาเสพติดประเภทกัญชายังคงได้รับความนิยมมากที่สุดในระดับโลก โดยประชากรโลก 3.9% วัยระหว่าง 15-64 ปี เป็นผู้ใช้มากที่สุด นอกจากนั้นยังระบุด้วยว่า 60% ของประเทศทั่วโลกมีการใช้ยากล่อมประสาทและยาระงับประสาทในทางที่ผิดมากที่สุดซึ่งเป็นปัญหาที่น่ากังวลมาก

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 27 มิถุนายน 2556