ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.56 เครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (12 D) และภาคีพันธมิตรรวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนทิศทางนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติด ยุติกระทำความรุนแรงกับผู้ใช้ยา

เครือข่ายระบุว่า กว่า 10 ปี แล้วที่ประเทศไทยนำโดยฝ่ายการเมืองและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดประกาศสงครามกับยาเสพติดโดยหวังว่าสักวันหนึ่งประเทศไทยจะปลอดจากยาเสพติด ซึ่งประเทศชาติต้องสูญเสียบุคลากร เวลา งบประมาณ จำนวนมหาศาลเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว แต่ 10 ปีที่ผ่านมาผลปรากฏว่าจำนวนผู้ใช้ยาเสพติดรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจากหลักหมื่นกลายเป็น 1.2 ล้านคน ยาเสพติดยังคงมีอยู่ ที่สำคัญมียาเสพติดชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้น ราคายาเสพติดมีราคาสูงขึ้นสร้างรายได้มหาศาลและเป็นสิ่งจูงใจให้กับเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด อีกทั้งยังมีบุคลากรของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอีกมากมาย กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด

อรอุมา เกื้อทาน ตัวแทนผู้ใช้ยากล่าวว่า กว่า 10 ปีแล้วที่มีการใช้การลงโทษและการใช้ความรุนแรงเพื่อที่จะแก้ปัญหากับผู้เสพในหลายรูปแบบ เช่น การใช้มาตรการทางกฎหมายในการจับกุมและคุมขัง การบังคับบำบัดและการสร้างภาพให้เกิดการรังเกียจและตีตราอันเป็นต้นเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการกระทำความรุนแรงทางเพศกับผู้หญิงที่ใช้ยาเสพติด ถึงเวลาแล้วที่ผู้มีอำนาจในเรื่องนี้จะต้องทบทวนการบำบัดในปัจจุบัน โดยยกเลิกมาตรการบังคับบำบัด ยุติมาตรการที่ไร้ประสิทธิภาพและนำมาตรการใหม่ๆ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลมาใช้ในการแก้ปัญหา โดยการรณรงค์ สนับสนุนการไม่ลงโทษ และยุติการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหากับผู้ใช้ยาภายใต้หลักการ ผู้ใช้ยาคือผู้ป่วย

สุพจน์ ตั้งเสรีทรัพย์ มูลนิธิพีเอสไอ ประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการรับทุนจากกองทุนโลกเพื่อดำเนินการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีการฉีด กล่าวว่า ปัจจุบันเราการทำงานในโครงการแชมเปี้ยน ทำให้เราเข้าถึงผู้ใช้ยาจำนวนมาก และเห็นว่าหากเขาได้รับการพัฒนาก็จะสามารถดูแลตัวเองและดูแลเพื่อนให้ปลอดภัยได้ จึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีมาตรการด้านการลดอันตรายจากการใช้ยา สนับสนุนทรัพยากรและงบประมาณในการดำเนินโครงการด้านการลดอันตรายจากการใช้ยาเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของผู้ใช้ยา เนื่องจากนโยบายลดอันตรายจากการใช้ยา ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลสำเร็จ คุ้มค่าสำหรับดูแลแก้ไขปัญหากับผู้ใช้ยา

สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ได้ให้ข้อคิดเห็นต่อการปรับปรุงนโยบายและปฏิรูปกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดขวางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของผู้ใช้ยา โดยระบุว่ารัฐบาลต้องยุติการเอาผิดทางอาญาและการลงโทษผู้ใช้ยา และต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเช่นในระหว่างรอตรวจพิสูจน์ ต้องไม่นำผู้ใช้ยาไปอยู่ในเรือนจำ ให้ยุติการคุมขังโดยอ้างว่าเป็นการบำบัดรูปแบบหนึ่ง การบำบัดยาเสพติดต้องเป็นไปโดยสมัครใจ ผ่านการพิสูจน์ว่าใช้ได้ผล และสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้นรัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้กับองค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายผู้ใช้ยาซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยและวางแผนการดูแลแก้ไขปัญหาด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาของผู้ใช้ยา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง