ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกรัฐมนตรี เล็งพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางจัดประชุมวิชาการระดับโลกด้านการแพทย์ ในโครงการเมดิคัลฮับ เนื่องจากศักยภาพไทยพร้อมทุกด้าน ทั้งวิชาการและการวิจัยทางการแพทย์ของไทยไม่เป็นรองใคร สถานที่สวยงามและอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น กทม. ชลบุรี นนทบุรี เชียงใหม่ สงขลา ภูเก็ต คาดโครงการนี้ให้ผลคุ้มค่า ทั้งการสร้างรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีความรู้และรายได้สูง ได้ไม่ต่ำกว่า 117,700 ล้านบาทในอีก 3 ปี และเป็นการพัฒนาระบบการแพทย์ไทยก้าวล้ำสมัย ตอกย้ำความมั่นใจคนไทยยิ่งขึ้น สร้างชื่อเสียงไทยโด่งดังทั่วโลกและนำไปสู่การพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศไทยได้

วันนี้ (27มิถุนายน 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง ระหว่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ (TCEB) เรื่อง การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการประชุมวิชาการและการจัดนิทรรศการนานาชาติทางการแพทย์

นายแพทย์ประดิษฐ แถลงข่าวว่า ขณะนี้ชื่อเสียงด้านการแพทย์ของประเทศไทย อยู่ในระดับแนวหน้าของโลกมีความพร้อมที่จะพัฒนาให้เป็นสาขาหนึ่งในการสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศไทยควบคู่ไปกับผลประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับบริการดูแลทางการแพทย์ที่ทันสมัยไปพร้อมๆกัน โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีนโยบายพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการประชุมวิชาการและการจัดนิทรรศการนานาชาติทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญกิจกรรมหนึ่งของโครงการเมดิคัล ฮับ ในด้านการเป็นศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย ( academic hub) เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานการจัดประชุมวิชาการในประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่สากล สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถประมูลงานวิชาการสำคัญมาจัดการประชุมในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการสร้างชื่อเสียง พัฒนาศักยภาพทางวิชาการ นำไปสู่การยกระดับการจัดบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐานต่อประชาชนชาวไทย และสร้างรายได้จากการเดินทางเข้ามาร่วมประชุมของบรรดานักวิชาการต่างชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ มีความรู้ รายได้สูงและมีระดับการใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปประมาณ 3-5 เท่า

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า จากการประเมินศักยภาพของไทยเบื้องต้น ไทยมีความพร้อมทั้งด้านวิชาการ มีแพทย์ที่มีชื่อเสียง ทั้งด้านวิชาการ งานวิจัย และบริการ มีสถานที่ที่จะสามารถจัดการประชุมนานาชาติได้หลายแห่ง เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และภูเก็ต เป็นต้น โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือ TCEB ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการจัดประชุมระดับนานาชาติ กำกับดูแลโดยสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพในการบูรณาการจัดทำร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการประชุมวิชาการและการจัดนิทรรศการนานาชาติทางการแพทย์ เพื่อเป็นกรอบในการบริหารและขับเคลื่อนนโยบายระดับประเทศ

ทั้งนี้จากข้อมูลอุตสาหกรรมการประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ หรือ “ไมซ์” (MICE = Meeting/Incentive/Convention/Exhibition) ในปี พ.ศ. 2554 ทั่วโลกมีการจัดประชุมวิชาการนานาชาติทั้งหมด 12,336 งาน มากที่สุดในทวีปยุโรปคิดเป็นร้อยละ 55 ในเอเชียแปซิฟิกร้อยละ 20 โดยงานประชุมดังกล่าวร้อยละ 18 หรือจำนวน 2,165 งาน เป็นงานประชุมด้านการการแพทย์ ในส่วนของประเทศไทยพบว่าอุตสาหกรรมไมซ์

มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไทยฟื้นตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ ในปี พ.ศ.2555 ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม ทั้งหมด 7,294 งาน โดยแบ่งเป็นการจัดงานประชุมองค์กร จำนวน 2,751 ครั้ง การประชุมนานาชาติ 2,643 ครั้ง และการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล จำนวน 1,900 ครั้ง และไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญที่ชาวต่างชาติต่างให้ความสนใจในการจัดงานประชุมเป็นลำดับต้นๆ ของโลก โดยสภาวะเศรษฐกิจของไทยมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.5 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 โดยคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2556 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ 940,000 คน รายได้จำนวน 88,000 ล้านบาท และในอีก 3 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมไมซ์จะสร้างรายได้ให้ไทย กว่า 117,700 ล้านบาท จากจำนวนนักเดินทางกลุ่มนี้ ประมาณ 1,089,000 คน ทั้งนี้การจัดงานประชุมนานาชาติโดยใช้ศักยภาพและขีดความสามารถที่มีอยู่ของทรัพยากรทางด้านการแพทย์ จะนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม จนนำไปสู่การพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทย (Real section)

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อไปว่า ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับในการเป็นศูนย์กลางการประชุมวิชาการและจัดนิทรรศการนานาชาติทางการแพทย์ถือว่าคุ้มค่ามาก ทั้งเป็นการยกระดับการจัดบริการสุขภาพแก่ประชาชนชาวไทยด้วยเทคโนโลยีความรู้ที่ก้าวล้ำสมัย นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการและนวัตกรรมงานวิจัยทางการแพทย์ของประเทศไทยในเวทีโลก กระตุ้นการท่องเที่ยวของประเทศ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เสริมศักยภาพและส่งเสริมบทบาทของหน่วยงานที่จัดประชุมในประเทศไทย สร้างเครือข่ายและพันธมิตรในอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม

ทั้งนี้ ในการจัดประชุมวิชาการนานาชาติโดยทั่วไป จะมี 2 ลักษณะ คือ การจัดประชุมของสมาคมหรือองค์กรระดับนานาชาติ (Association Meeting) และการจัดประชุมของภาครัฐ (Government Meeting) ซึ่งต้องมีการวางแผนการจัดประชุมล่วงหน้าและหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม และต้องมีการจัดเตรียมแผนการจัดประชุมที่สมบูรณ์ โดยความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมวิชาการนานาชาตินั้น องค์ประกอบสำคัญได้แก่ การมีองค์ความรู้ทางด้านวิชาการงานวิจัยและพัฒนา การเดินทางสะดวกสบายทุกช่องทาง สถานที่พักมีคุณภาพและปริมาณเพียงพอ มีแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดและมีชื่อเสียงระดับโลก มีระบบความมั่นคงและปลอดภัยที่มีเสถียรภาพ รวมทั้งความพร้อมของหน่วยงานหรือสมาคมที่เป็นเจ้าภาพ ความพร้อมของผู้ให้บริการหลัก ความพร้อมของสถานที่จัดประชุม บริหารโดยมืออาชีพ ค่าครองชีพ มีการสนับสนุนที่จริงจังจากรัฐบาล ตลอดจนมีประสบการณ์ในการจัดการประชุมนานาชาติในอดีตด้วย