ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัญหาหนึ่งในการเสวนาเรื่อง "โอกาสหรือวิกฤต : สิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุไทย" ซึ่ง แพทย์หญิงนาฏ ฟองสมุทร กรรมการบริหารอาคารสวางคนิเวศ สภากาชาดไทย กล่าวถึง คือผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่มีการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะในส่วนของการออมทรัพย์

ในการอบรมหลักสูตร เตรียมความพร้อมบุคลากรเข้าสู่วัยสูงอายุ ปี 2556 ระหว่างวันที่ 27-29 มกราคม 2556 โดยสำนักงานส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฤดี ธีระเดชพงศ์ กับ อาจารย์บุญตา กลิ่นมาลี สรุปไว้ในวารสารดอนขังใหญ่ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ฉบับประจำวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2556 ตอนหนึ่งเรื่องการวางแผนออมทรัพย์พร้อมรับวัยเกษียณ ตอนหนึ่งว่า

ปัจจุบันอายุขัยของคนไทยสูงขึ้น ปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการวางแผนเงินออมจากอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยในเรื่องที่เกี่ยวกับประวัติทางกรรมพันธุ์ว่าอายุยืนมากน้อยแค่ไหน ถ้าประวัติทางกรรมพันธุ์มีอายุถึง 100 ปี อาจมีสิทธิใช้ชีวิตหลังเกษียณอีก 40 ปี ในแต่ละปีต้องใช้เงินเท่าไร การสร้างหลักประกันรายได้ และการมีความรู้ในระบบการออมในช่วงวัยทำงานที่เพียงพอเพื่อสำหรับการดำเนินชีวิตในวัยสูงอายุอย่างมีความสุข

สาเหตุที่คนส่วนใหญ่เกษียณแล้วไม่มีเงินใช้ ได้แก่

1. วางแผนช้าเกินควร ถ้าคิดว่าเริ่มอายุ 55 ปี ถือว่าช้าไป การวางแผนเริ่มเร็วเท่าไรยิ่งดี จะได้มีระยะเวลาเก็บเงินนาน

2. มีการสำรวจพบว่า ร้อยละ 71 มั่นใจเกินเหตุว่าเงินที่เก็บไว้พอ แต่ลืมนึกไปว่ามีเรื่องเงินเฟ้อเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ค่าเงินเปลี่ยนไป

3. ร้อยละ 84 มีหนี้มากเกินไป ไม่มีเงินเหลือเก็บ ถ้ามีหนี้มากกว่าร้อยละ 35 ของรายได้ จะทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน

แหล่งเงินออมเพื่อการเกษียณ (ขึ้นอยู่กับอาชีพ)

1. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 2. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ 4. เงินฝากประจำ 5. กองทุนอื่นๆ ที่ตั้งไว้ยามเกษียณ 6. เงินได้จากกรมธรรม์สะสมทรัพย์ 7. สินทรัพย์ส่วนตัวอื่นๆ

จำนวนเงินออมที่ต้องออมเพิ่ม ต้องมีเงินเท่าไร ปัจจุบันที่มี ออมเพิ่มเท่าไร ต้องมีเงินเท่าไรถึงจะพอ

ตัวอย่าง จะใช้เงินที่มีอยู่อีกนานแค่ไหน นานถึง 10 ปีหรือไม่ สมมติมีเงินอยู่ 1 ล้านบาท

ใช้เดือนละ 30,000 บาท อยู่ได้ 2 ปี ใช้เดือนละ 20,000 บาท อยู่ได้ 4 ปี ใช้เดือนละ 10,000 บาท อยู่ได้ 8 ปี ต้องวางแผนออมเงินแล้วตั้งแต่วันนี้ นอกจากนั้น ต้องรู้กฎหมายสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ด้าน คือ

1. ด้านทรัพย์สิน ต้องมีการบริหารจัดการให้เหมาะสมเพื่อจะได้ไม่ต้องห่วงและไม่เกิดปัญหากับลูกหลานในอนาคต เช่น การจัดการโอนมรดกให้ลูกหลาน หรือการเขียนพินัยกรรมไว้ เป็นต้น

2. ด้านร่างกาย มีความสำคัญมาก ปัจจุบันมีผู้กล่าวว่า "ทุกวันนี้คนเราตายแพง" ต้องมีการวางแผน ดูแลสุขภาพให้ดี และอาจมีการเขียนคำสั่งล่วงหน้า เพื่อแสดงเจตนารมณ์ขอตายตามธรรมชาติ ซึ่งตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 รองรับดังนี้

มาตรา 12 บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดในกฎกระทรวง

เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด และให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง

การเตรียมความพร้อมที่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพดี สังคมดี และเศรษฐกิจดี สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจ ไม่เป็นภาระแก่บุตรหลาน ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ

ในอนาคตจะต้องมีการวางแผนที่ดีในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ การออมเงินในอนาคต การจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม และด้านกฎหมาย โดยไม่ต้องคอยว่าจะเริ่มเมื่อไรดี

ควรมีการวางแผนแล้วตั้งแต่วันนี้ เพราะถ้าเราวางแผนเร็วเท่าไร ระยะในการเตรียมความพร้อมก็มากขึ้น โอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็มากขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้สูงอายุและผู้ดูแลควรให้ความสนใจ คือการจัดปรับสภาพแวดล้อมในบ้านที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวคิดในการออกแบบ 3 ประการ คือ

1. การป้องกัน โดยเฉพาะการหกล้มของผู้สูงอายุ พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่หกล้มมีถึงร้อยละ 70 อยู่ในช่วง Young Old และพบการหกล้มในบ้าน มีปัญหากระดูกสะโพก หัก ร้าว กลายเป็นผู้พิการ ไม่สามารถเดินหรือช่วยเหลือตัวเองได้

2. การสร้างเสริมสุขภาพ เช่น การจัดสวน มีพื้นที่นั่งเล่น

3. การบำบัดฟื้นฟู การปรับปรุงห้องครัว ห้องอาหาร การปรับบ้านให้ปลอดภัยเหมาะกับผู้สูงอายุ ต้องสอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุ และไม่ลืมความสำคัญด้านอื่นด้วย

ตัวอย่าง ห้องนอนผู้สูงอายุต้องการความสงบ ไม่ควรมีโทรทัศน์ในห้องนอน ควรเลือกเตียงนอนสูงเสมอข้อพับเข่า ที่นอนไม่นุ่มหรือแข็งจนเกินไป

อีกประการหนึ่งที่สำคัญ ห้องนอนผู้สูงอายุควรอยู่ชั้นล่าง เพราะผู้สูงอายุเดินขึ้นลงบันไดลำบาก--จบ--

ที่มา--มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 มิ.ย. - 4 ก.ค. 2556--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง