ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับเอฟเอโอ จัดเวที ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสัตว์และสาธารณสุขจากองค์กรระหว่างประเทศ แลกเปลี่ยนเทคนิควิธีการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ในเอเชีย พร้อมนำประสบการณ์การควบคุมโรคในประเทศจีนเป็นแนวทางการป้องกันโรคในภูมิภาค ซีพีเอฟหนุนจุฬาฯวิจัยไข้หวัดนกต่อเนื่อง ปีที่ 8

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยภายหลัง การประชุมหารือด้านนโยบายและเทคนิคในการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนก สายพันธุ์ H7N9 ในเอเชีย ณ โรงแรมรอยัลออร์คิดเชอราตันว่า การประชุมครั้งนี้กระทรวง เกษตรฯได้ร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization-FAO) จัดขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้กับหน่วยงานต่าง ๆ ในการป้องกันโรคไข้หวัดนก H7N9 เช่น USAID, FAO, OIE, WHO, อาเซียน SAARC และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านสุขภาพสัตว์และด้านสาธารณสุข ขณะเดียวกัน ยังจะได้มีการนำแนวทางการควบคุมโรค H7N9 ที่พบในประเทศจีนมาเป็นกรณีศึกษา ซึ่งขณะนี้ทางจีนสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้แล้ว และไม่พบข้อมูลการ แพร่ระบาดเพิ่มเติม เพื่อจัดทำเป็นข้อมูลทางวิชาการในการป้องกันโรคไข้หวัดนก H7N9 ในภูมิภาคเอเชีย

สำหรับประเทศไทย กรมปศุสัตว์ยังคงดำเนินมาตรการควบคุมโรคในสัตว์ปีก อย่างต่อเนื่อง  โดยการตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและติดตามโรคไข้หวัดนก การดำเนินการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุและ เตรียมความพร้อมการเฝ้าระวังและควบคุมโรค โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวชายแดน และมีการสุ่มเก็บตัวอย่างสัตว์ปีก ซึ่งบูรณาการ ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขที่เฝ้าระวังโรคในคน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการเฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายของนกอพยพ โดยยืนยันได้ว่าขณะนี้ประเทศไทยยังไม่พบทั้ง H7N9 และ H5N1 แต่อย่างใด

ด้านนายฮิโรยูกิ โคนูมะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization-FAO) และผู้แทนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกขณะนี้ถือว่าอยู่ในขั้นตอนที่ควบคุมได้ แต่เชื้อไวรัสจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ จะต้องมีการ เฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ ในด้านการควบคุมและป้องกันโรค เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ทั้งที่ยังไม่มีการพบ เชื้อไข้หวัดนก หรือที่มีการพบเชื้ออยู่ทั้ง H5N1 ใน 9 ประเทศ และ H7N9 ที่มีการพบเชื้อในประเทศจีนเท่านั้น ได้มีการเตรียม ความพร้อมและเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการพบเชื้อในประเทศ ทั้งนี้ ต้องขอชมเชยประเทศไทยที่สามารถกำหนดมาตรการในการควบคุมโรคไข้หวัดนกได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะมาตรการพื้นฐานคือการเลี้ยงสัตว์ปีกในระบบฟาร์มปิด หรือคอมพาร์ตเมนต์ ซึ่งเป็นการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดนกตั้งแต่ต้นทาง และมาตรการอื่น ๆ ใน การป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายวีรชัย รัตนบานชื่น รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ มอบเงินจำนวน 300,000 บาท แก่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนงานวิจัยไข้หวัดนก

นายวีรชัยเปิดเผยว่า ซีพีเอฟเล็งเห็นความสำคัญในการสนับสนุนงานด้านวิชาการ และให้การสนับสนุนผ่านโครงการต่าง ๆ มาโดยตลอด โดยเฉพาะการวิจัยเชื้อไวรัสไข้หวัดนกของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อไวรัส ซึ่งทุ่มเทให้กับการวิจัยดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยซีพีเอฟให้การสนับสนุนทุนวิจัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ด้วยการมอบทุนเป็นประจำ ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 300,000 บาท รวมมูลค่าการสนับสนุนตลอด 8 ปีที่ผ่านมาร่วม 4,200,000 บาท เพื่อเป็นทุนในการศึกษาวิจัยไวรัสไข้หวัดนกอย่างใกล้ชิด และจะยังคงให้การสนับสนุนเช่นนี้ต่อไป

ด้านศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าซีพีเอฟ ให้การสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ทำให้ทางศูนย์สามารถทำ การศึกษาวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง โดย ปัจจุบันสามารถตรวจไวรัสหวัดใหญ่ และไข้หวัดนก ทั้งชนิด H5N1 และ H7N9 ด้วยวิธีพีซีอาร์ (PCR) ที่มีขั้นตอนการตรวจที่รวดเร็ว ทำให้ทราบผลในเวลาไม่นานประมาณ 2-3 วัน ที่สำคัญยังได้ ผลตรวจที่ถูกต้องแม่นยำ โดยได้ต่อยอดไปสู่การตรวจไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์อื่น ๆ ต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 - 3 ก.ค. 2556