ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การไม่มีระบบประกันสุขภาพ ยิ่งทำให้ผู้ป่วยกลัวการเข้ารับการรักษา

เพราะนั่นหมายถึงภาระค่าใช้จ่ายที่อาจนำมาซึ่งหนี้สินเกินตัว และหากเป็นกลุ่มคนไร้รัฐที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว ความเสี่ยงของการถูกจับในระหว่างการเดินทางมาโรงพยาบาลยิ่งทำให้ไม่อยากมาที่หน่วยบริการมากขึ้น

สู้ยอมทนป่วย ความเสี่ยงอาจจะน้อยกว่าก็เป็นได้...

ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งความจำนนของคนไร้รัฐ ที่มักจะรักษาตามมีตามเกิดในหมู่บ้าน หรืออาจมารับการรักษาที่โรงพยาบาลเมื่ออาการทรุดหนักแล้ว เหมือนเช่นกรณีของนายไหร่โผ่

นายไหร่โผ่ มีถิ่นฐานอยู่ในหมู่บ้านเลตองคุ อ.อุ้มผาง จ.ตาก บริเวณชายแดนไทย-พม่า เขาไม่มีสถานะ เมื่อวันที่เขา เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอุ้มผางครั้งแรกเมื่อ 30 เมษายน 2554 แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคไตระยะสุดท้ายและรับเป็นผู้ป่วยในให้การรักษาทางยา โดยใช้สิทธิในฐานะคนไข้ “บัตรขาว” ซึ่งทางโรงพยาบาลอุ้มผางจัดทำขึ้นเพื่อให้คนในพื้นที่มีบันทึกประวัติทางการรักษา และสามารถเข้าถึงระบบประกันสุขภาพ

พออาการของนายไหร่โผ่ทุเลา แพทย์จึงให้กลับบ้านใน 5 วันถัดไป แต่เขากลับมาที่โรงพยาบาลอีกครั้งในสองอาทิตย์ให้หลัง ด้วยอาการอ่อนเพลีย และเริ่มไม่รู้สึกตัวเนื่องจากร่างกายไม่สามารถขับของเสียออกมาได้ เนื่องจากข้อจำกัดในการรักษาของโรงพยาบาล แพทย์ผู้ให้การรักษาจึงตัดสินใจส่งตัวเขาไปพบกับแพทย์เฉพาะทางโรคไตของโรงพยาบาลแม่สอด ไกลกว่า 150 กิโลเมตรออกไป

บนเส้นทางที่คดเคี้ยว ผ่านป่าทึบสีเขียวครึ้ม นายไหร่โผแสดงอาการกระวนกระวายใจอย่างเห็นได้ชัด มิทราบว่าจะเป็นเพราะความกลัวต่อการออกนอกพื้นที่โดยไม่มีสัญชาติ หรือเป็นเพราะความกลัวต่อความตายที่ย่างก้าวเข้ามาใกล้

พ่อของเขา นายหม่อทูอี ประทีปชิงชัย ซึ่งติดตามไปกับรถพยาบาล ก็มีสีหน้าวิตกกังวลที่ไม่แพ้กัน

เมื่อล้อรถพยาบาลหยุดลงที่โรงพยาบาลแม่สอด นายไหร่โผ่ถูกลำเลียงไปยังห้องรักษาโดยเร่งด่วน แพทย์เฉพาะทางโรคไตจึงตัดสินใจทำการเจาะเส้นเลือดที่คอ เพื่อฟอกเลือดขับของเสียแทนไต จากนั้นจึงอนุญาติให้เขากลับมาทำการฟอกไตที่หน่วยไตเทียมของโรงพยาบาลอุ้มผาง

เนื่องจากต้นทุนการฟอกไตค่อนข้างสูง ประมาณ 25,000-35,000 บาทต่อเดือนต่อคน ทางโรงพยาบาลอุ้มผางต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดเพื่อช่วยชีวิตนายไหร่โผด้วยหลักทางมนุษยธรรม เจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลเห็นว่าการขอบัตรประชาชนให้เขาจะช่วยให้เขาเข้าถึงสิทธิทางการรักษาของบัตรทอง ประกอบกับที่ค้นพบว่าพ่อของเขาเป็นบุคคลสัญชาติไทยที่มีเลขประจำตัว

พ่อของเขาได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อและแจ้งเกิดเกินกำหนดในทะเบียนบ้าน ทร.14 แก่นายไหร่โผ่และพี่น้องไว้ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2553 แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ โครงการก่อตั้งคลินิกฎหมายอุ้มผางเพื่อผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ ภายใต้ความร่วมมือของสถาบันวิจัยและเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ โดยมี รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร เป็นที่ปรึกษาโครงการจึงช่วยเหลือติดตามคำร้องดังกล่าว จนนายไหร่โผ่ได้รับเลขที่บัตรประชาชนในวันที่ 26 สิงหาคม 2554และเข้าสู่หลักประกันสุขภาพใน 1 เดือนถัดไป!

เขาได้รับการรักษาตามสิทธิบัตรทอง ได้รับการฟอกไตและยารักษาอย่างต่อเนื่อง

แต่ดูเหมือนว่าจะสายเกินไป ...

4 เดือนต่อมา การรอคอยสิทธิด้านการรักษาอันยาวนานของนายไหร่โผ่ นำไปสู่จุดจบของชีวิต ภาวะร่างกายอ่อนแอของเขาทำให้เขาติดเชื้ออีสุกอีใส และมีสภาวะการแพร่เชื้อ ชีวิตที่ถูกริดรอนสิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ได้พาให้ร่างกายของเขาอ่อนแอเกินกว่าจะโอบรับโอกาสแห่งการอยู่รอด

ทิ้งคำถามให้แก่ผู้อยู่เบื้องหลัง ว่าแม้ผู้ที่อยู่ชายขอบ ก็สมควรที่จะได้มีชีวิตที่ยืนนานด้วยสุขภาพที่ดีมิใช่หรือ? การเสียชีวิตของไหร่โผมิได้เกิดจากตัวเขา หากแต่เกิดจากการถูกผลักออกไปให้เป็นคนนอก ทั้งๆที่รากฐานของเขาคือแผ่นดินไทย

            //////////

หมายเหตุ: สนับสนุนข้อมูลโดย จันทราภา จินดาทอง นักสังคมสงเคราะห์ประจำโรงพยาบาลอุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก

รูปประกอบจาก: http://anniesanpan.exteen.com/20091111/entry