ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“พวกเขาเป็นโฮโมซาเปี้ยน(มนุษย์)เหมือนเรา เพียงแต่อาศัยอยู่ในป่า หรือในที่ห่างไกล”

นั่นคือคำนิยามถึงคนไร้รัฐ ของนพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการ รพ.อุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก ผู้ที่คุ้นเคยกับการรักษากลุ่มคนไร้รัฐมานาน

มากกว่า 50,000 คนในอ.อุ้มผางเป็นบุคคลไร้รัฐ ไม่มีบัตรประชาชน หรือมีบัตรประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 ส่วนมากทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ฐานะไม่ดีนัก ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของรพ.อุ้มผางได้ทำการรักษากลุ่มคนเหล่านี้ตามหลักมนุษยธรรม มีการให้วัคซีนป้องกันโรค โดยที่ทางโรงพยาบาลเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ประมาณ 30-36ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ความเสี่ยงของโรคระบาดยังคงมีอยู่ เพราะระบบประกันสุขภาพในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมคนกลุ่มนี้

ในปี 2553 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้สิทธิ (คืนสิทธิ) หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่บุคคลที่มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิ จำนวน 4.5 แสนคน ประกอบด้วย กลุ่มคนเข้าเมืองโดยชอบ 90,033 คน กลุ่มคนผู้ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราวเพื่อรอกระบวนการแก้ปัญหาและพิสูจน์สัญชาติ 296,863 คน และกลุ่มบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน 70,513 คน โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดการบริหารกองทุนสุขภาพคนไร้สถานะแทนสปสช.ซึ่งใช้ระบบเหมาจ่ายรายหัวที่ 2,067บาท/คน/ปี เป็นกองทุนคู่ขนานกับกองทุน 30 บาทรักษาทุกโรค อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประกาศมติครม. อัตราการเข้าถึงบริการของคนไร้สถานะยังคงต่ำมาก  เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ในกลุ่มคนไร้รัฐที่อยู่พื้นที่ห่างไกล มีปัญหาด้านการสื่อสาร กลุ่มคนไร้รัฐไม่รู้สิทธิตน นอกจากนั้น ยังไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทางอ้อมได้ เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก และ ค่าอาหาร

อย่างไรก็ตาม มติครม.ปี 2553 ได้ทิ้งก้อนปัญหาก้อนใหญ่ไว้ จากการที่กระทรวงสาธารณสุขไม่ยอมรับแนวคิดการย้ายสิทธิไปยังภูมิลำเนาที่ผู้มีสิทธิทำงานอยู่จริง จึงทำให้บุคคลชายขอบที่ย้ายถิ่นฐานการทำงานไม่สามารถเข้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อคนชายขอบได้ นอกจากนั้น รัฐบาลไม่มีนโยบายเพิ่มโควตาบุคคลผู้มีปัญหาทางสถานะ รวมถึงมีกระบวนการพิสูจน์สัญชาติที่ล่าช้าเกินควร จึงทำให้มีผู้คนชายขอบที่ยังคงตกหล่นอยู่มากกว่า 250,000 คน และเชื่อว่ามีมากกว่านั้น เช่น ชนกลุ่มน้อย และชาวเขา ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสุขภาพ รวมถึงบุคคลไร้รัฐหลายคนในอ. อุ้มผาง
แต่ดูเหมือนว่าคงไม่ใช่เร็วๆนี้เป็นแน่ ที่กลุ่มคนเหล่านี้จะได้เข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพ

นพ. สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการ รพ.จะนะ จ.สงขลา  ผู้ทำการศึกษาเรื่องหลักประกันสุขภาพเพื่อคนชายขอบผู้ไม่มีสัญชาติไทย กล่าวว่า กลุ่มคนชายขอบเหล่านี้ บางกลุ่มอยู่บนผืนผืนดินไทยมาอย่างยาวนาน แต่กลับไม่ได้รับสิทธิเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์เหมือนคนไทย

ในวิทยานิพนธ์ของนพ. สุภัทร ระบุข้อเสนอว่า รัฐบาลจะต้องตั้งประมาณเพิ่มอีกประมาณ 516.8 ล้านบาทต่อปี เพื่อขยายกองทุนดูแลบุคคลที่มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิตามมติครม. 2553 ให้ครอบคลุมคนไร้รัฐที่เหลือ (ที่มีบัตรขึ้นต้นด้วยเลข0) และมีข้อเสนอให้ขยายผู้มีสิทธิเข้าร่วมกองทุนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง จากเดิมที่จำกัดเพียงแรงงานจากพม่า ลาว และกัมพูชา ให้ครอบคลุมแรงงานไร้สัญชาติด้วย ซึงผู้มีสิทธิต้องจ่าย 1,300 บาทเพื่อซื้อบัตรประกันสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุข จึงไม่กระทบต่องบปประมาณภาครัฐ

นพ.สุภัทรเสนอเพิ่มเติมว่า รัฐบาลควรจะจัดตั้งกองทุนใหม่เพื่อช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่คนไร้รัฐ หรือผู้ลี้ภัย ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงสิทธิสองข้อที่กล่าวมาได้ คิดว่าน่าจะใช้งบปนะมารประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนบุคคลไร้สถานะ 100,000 คน (ค่าหัวคนละ 2000 บาท)

ทั้งสามข้อเสนอนั้น รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณโดยรวมเพียงประมาณ 700 ล้านบาทต่อปี

“ทุกข้อเสนอสามารถทำได้ หากเพียงรัฐบาลมีความจริงใจจะแก้ปัญหา” นพ.สุภัทรกล่าว “กระบวนการให้สิทธิทางการรักษาแก่กลุ่มคนไร้รัฐขึ้นอยู่กับความกระตือรือร้นของรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

ที่ผ่านมา ไม่มีการตั้งกองทุนด้านสุขภาพให้แก่คนไร้รัฐอย่างจริงจัง มีการกล่าวอ้างถึงกระบวนการพิสูจน์สัญชาติที่ต้องใช้เวลา เพื่อเข้าถึงพื้นที่ห่างไกล เพื่อพิสูจน์ว่ารากเหล้าของคนไร้รัฐมาจากมี่ใด เป็นเหตุทำให้กลุ่มคนไร้รัฐยังไม่สามารถเข้าร่วมระบบประกันสุขภาพ เช่น กองทุนแรงงานคนต่างด้าว หรือแม้แต่กองทุน 30 บาทรักษาทุกโรค

แค่ต้องให้คนกลุ่มนี้รอนานขนาดไหนกัน?

“กระบวนการขยายสิทธิหลักประกันสุขภาพควรทำได้ทันที” นพ.สุภัทรกล่าว “สิทธิทางสุขภาพไม่เกี่ยวกับเรื่องของความมั่นคง  มนุษย์ทุกคนควรได้รับการดูแลและรักษา”

 

(รูปประกอบจาก http://www.stateless4child.net/autopage/images/ThuJune201116839_DSC_3505.JPG)