ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา "ตระกูล ส." ในระบบสุขภาพตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นพวก "ลัทธิประเวศ" และเป็นปฏิปักษ์กับ"ระบอบทักษิณ" ซึ่งต่อมาหน่วยงานเหล่านี้ก็ถูกผู้มีอำนาจโดยเฉพาะในรัฐบาลนี้ไล่ "เช็กบิล"อย่างต่อเนื่องจนทำให้เกิดเหตุการณ์หลายอย่างได้แก่ การล้มบอร์ดเดิมของ "สวรส." ยกชุด"การยึดบอร์ด" และการแทรกแซงการแต่งตั้งรองเลขาธิการ "สปสช." และล่าสุดคือการปลดนพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เป็นต้น จึงมีคำถามว่าองค์กรตระกูล ส. เหล่านี้ เป็นใครมาจากไหน มีบทบาทอะไร ทำไมจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์โจมตีและไล่เช็กบิลอยู่ในเวลานี้

ก่อนอื่นคงต้องทำความรู้จักกับองค์กรตระกูล ส. เพื่อเป็นพื้นฐานองค์กรเหล่านี้คือหน่วยงานของรัฐที่ "แตกหน่อ" และ "แยกตัว"ออกไปจากกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.)เป็นต้น หน่วยงานเหล่านี้ทำงานด้านสุขภาพทั้งสิ้น ทำไมจึงต้องแยกตัวออกไปจากกระทรวงสาธารณสุข

เหตุผลสำคัญที่ต้องแยกตัวออกไปจากกระทรวงสาธารณสุข ก็เพื่อให้สามารถทำงานด้านสุขภาพเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนได้ตามเป้าหมายอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะโดยสภาพของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงาน"ราชการ" ทำให้มีข้อจำกัดในตัวเองมากมายขณะที่ภารกิจงานด้านสุขภาพขยายขอบเขตออกไปเรื่อยๆและจำเป็นต้องมีการพัฒนาทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ทั้งนี้เป็นไปตามทฤษฎีรัฐศาสตร์ของ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ที่เคยวิเคราะห์ไว้อย่างชัดเจนว่า สภาพแวดล้อมของโลกเปลี่ยนไป สถานการณ์และปัญหาต่างๆเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเมื่อโลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ หลังระบอบสังคมนิยมล่มสลาย นับตั้งแต่การทำลายกำแพงเบอร์ลิน เมื่อพ.ศ.2532 หน่วยงานของรัฐที่เดิมมีแต่ "ส่วนราชการ" และ "รัฐวิสาหกิจ" เป็นหลัก ไม่พอเพียงที่จะตอบสนองภารกิจภาครัฐได้ จำเป็นต้องมีหน่วยงานรูปแบบใหม่ๆ ขึ้น เช่น หน่วยงานอิสระต่างๆ

ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 2485 ก็ได้ทำภารกิจสำคัญๆสำเร็จ เช่น การสร้างโรงพยาบาลจังหวัดจนครอบคลุมทุกจังหวัดตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการปฏิรูปครั้งสำคัญ เมื่อพ.ศ.2518 รวมงานด้านการรักษาพยาบาลและการป้องกันโรคเข้าด้วยกัน สร้างเอกภาพทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคขึ้นสำเร็จ ต่อมามีการสร้างโรงพยาบาลขึ้นจนครบทุกอำเภอ และสถานีอนามัยครบทุกตำบลในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 และ 6 พ.ศ. 2525-2534 ตลอดระยะเวลาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2519-2524 กระทรวงสาธารณสุขมีชื่อเสียงว่าเป็นกระทรวงที่มีแผนพัฒนาเข้มแข็งที่สุด และสามารถดำเนินการตามแผนจนบรรลุผลได้อย่างเป็นรูปธรรม โรคติดเชื้อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนลดลงอย่างชัดเจน โรคขาดอาหารก็เช่นกัน งานวางแผนครอบครัวก็ประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชมระบบบริการก็ครอบคลุมทั่วถึงทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และตำบลประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น และคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมดีขึ้น

นอกจากการทำงานอย่างมีแผน มีระบบและมีการพัฒนาเชื่อมโยงกับหน่วยงานระดับโลก เช่น องค์การอนามัยโลก อย่างต่อเนื่องปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของกระทรวงสาธารณสุข คือ ระบบคุณธรรม (Merit System) ที่ค่อนข้างเข้มแข็ง โดยเฉพาะในฝ่ายข้าราชการประจำ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอธิบดีต่างๆ นอกจากมีความรู้ความสามารถแล้วยังมี "ศักดิ์ศรี" และบารมีให้ฝ่ายการเมืองเกรงใจ โดยฝ่ายการเมืองที่มาบริหารกระทรวงนี้ หลายท่านตั้งใจสร้างชื่อเสียงและผลงานจนเป็นที่ประจักษ์เช่น พระบำราศนราดูร นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ชวน หลีกภัย มารุต บุนนาค เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ กร ทัพพะรังสีเป็นต้น

กระทรวงสาธารณสุข เริ่มส่อสัญญาณ"เสื่อม"เมื่อเริ่มทศวรรษ2530 เป็นต้นมา ที่ผู้บริหารในฝ่ายประจำ เริ่มระบบ "เจ้าขุนมูลนาย" และการทุจริตคอร์รัปชั่นในการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ราคาแพงทำให้ "ภูมิคุ้มกัน"ในฝ่ายข้าราชการประจำเสื่อมทรุดลงเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองเริ่มใช้อำนาจแทรกแซงได้ จนเกิดกรณีฝ่ายการเมืองเรียกเลขาธิการ อย.เข้าไปพบ เปรยว่า วันหนึ่งๆ ต้องใช้เงินราวสองแสน "จะทำอะไรก็ทำซะ" และต่อมาก็มีการโยกย้ายเลขาธิการ อย. ไปเป็นผู้ตรวจราชการ และย้ายอธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อไปเป็นรองปลัดกระทรวง เพราะไม่ตอบสนองการจัดซื้อสารกำจัดลูกน้ำยุงลาย (Lavicost)

ช่วงนั้น "ระบบคุณธรรม" ของฝ่ายข้าราชการประจำในหลายส่วนยังมีความเข้มแข็งพอสมควร จึงเกิดการประท้วงอย่างรุนแรง จนทำให้มีการปรับ ครม. เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีสาธารณสุข ทำให้เลขาธิการ อย.และอธิบดีที่ถูกสั่งย้าย ได้กลับสู่ตำแหน่งเดิม

รัฐมนตรีที่ใช้อำนาจย้ายเลขาธิการ อย.และอธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ ยังแสดงอำนาจบาตรใหญ่ "ยุบ" สำนักงานคณะกรรมการระบาดวิทยาแห่งชาติ ซึ่งออกข่าว"กระทบ" กระทรวงสาธารณสุขด้วย สำนักงานระบาดวิทยาแห่งชาติ ก่อตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ เพื่อสนับสนุนงานระบาดวิทยาของกระทรวงสาธารณสุขให้เข้มแข็ง แต่นักการเมืองผู้นั้นมองไม่เห็นความสำคัญ มองแต่ว่าทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้อำนาจ

สถานการณ์ช่วงนั้นส่อสัญญาณชัดเจนว่ากระทรวงสาธารณสุขกำลังจะกลายสภาพเป็นกระทรวงสาธารณทุกข์แล้ว จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงถึงขั้น "ปฏิรูป"

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 2 กรกฎาคม 2556