ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักกฎหมาย สธ.โต้ทุกข้อกล่าวหาบริษัทบุหรี่ฟ้องศาลปกครองล้มภาพคำเตือน 85% ฟังไม่ขึ้น “หมอประกิต”ชี้ เป็นเพียงการข่มขู่   หวังชะลอการบังคับใช้ เหตุภาพคำเตือนใหญ่ทำให้ยอดขายลดลง ชี้โลกสูญเงินรักษาโรคปีละกว่า 5 หมื่นล้าน

วันนี้ (2 ก.ค.) ที่โรงแรมเดอะสุโกศล ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงกรณีบริษัทบุหรี่ฟ้องร้องกระทรวงสาธารณสุขต่อศาลปกครองกรณีออกประกาศให้เพิ่มขนาดคำเตือนบนซองบุหรี่จาก 55% เป็น 85% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ต.ค.นี้ ว่า เป็นเพียงมาตรการข่มขู่เพื่อยืดการบังคับใช้กฎหมายออกไป อุรกวัย กำหนดให้คำเตือนมีขนาด 80% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2553 ประเทศศรีลังกา กำหนดให้คำเตือนมีขนาด 80% เช่นกัน แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้เพราะบริษัทบุหรี่ไปฟ้องศาลแต่แพ้ความในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างศาลฎีกาตัดสิน ในขณะที่ออสเตรเลียมีคำเตือนบนซองบุหรี่ใหญ่ที่สุดในโลกเฉลี่ย 85% คือ ด้านหน้า 75% และด้านหลัง 100% บริษัทบุหรี่เคยฟ้องรัฐบาลออสเตรเลีย ศาลยังตัดสินว่ามาตรการเรื่องนี้ของรัฐไม่ได้ละเมิดเครื่องหมายการค้า ดังนั้นคิดว่ากรณีของประเทศไทยไม่น่าจะแตกต่างจากที่อื่น

“การล้มประกาศกระทรวงสาธารณสุขในครั้งนี้เป็นเพียงการข่มขู่ หวังผลกำไรสูงสุดของบริษัท เพราะบริษัทบุหรี่ออกแบบซองเพื่อดึงดูดวัยรุ่น ดังนั้นจึงมีการแทรกแซงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการคัดค้านข้อความคำเตือนบนซอง ภาพคำเตือน การขึ้นภาษี”นพ.ประกิต กล่าว และว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับใหม่ได้ผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว อยู่ระหว่างปรับปรุงรายละเอียดเพื่อให้ รมว.สาธารณสุข นำเสนอ ครม. มีรายละเอียด เช่น การเปิดเผยข้อมูลทางธุรกิจของบริษัทบุหรี่ การห้ามทำกิจกรรมเพื่อสังคม (ซีเอสอาร์) เชื่อว่าบริษัทบุหรี่ต้องล้ม พ.ร.บ.ฉบับนี้แน่นอน

นายจิรวัฒน์ อยู่สะบาย คณะทำงานด้านกฎหมายเพื่อต่อสู้คดีการฟ้องร้องโดยธุรกิจยาสูบ กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ภายหลังกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศให้เพิ่มขนาดคำเตือนบนซองบุหรี่ จาก 55% เป็น 85% โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2556 และให้มีผลบังคับใช้ วันที่ 2 ต.ค. 2556 ส่งผลให้บริษัทบุหรี่ ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุขต่อศาลปกครอง 2 ประเด็น คือ 1.ขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อคุ้มครองชั่วคราวกรณีให้ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ต.ค. โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถดำเนินการซื้อเครื่องจักรตามเงื่อนไขเพิ่มพื้นที่คำเตือนได้ทัน ซึ่งในชั้นไต่สวนที่ศาลปกครองวันที่ 1ก.ค.เราได้ให้การต่อศาลว่า แม้จะกำหนดให้วันที่ 2 ต.ค. เป็นวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้วันแรก แต่จากการประชุมร่วมกันได้กำหนดให้มีการขยายระยะเวลาออกไป จนถึงวันที่ 30 มี.ค. 2557 ฉะนั้นตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวง วันบังคับใช้ และระยะเวลาขยายในการระบายของเก่า รวมแล้วเกือบ 1 ปี ดังนั้นข้อกล่าวหานี้จึงฟังไม่ขึ้น

นายจิรวัฒน์ กล่าวต่อว่า 2.ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนประกาศเพิ่มขนาดคำเตือน โดยทางผู้ฟ้องอ้างว่าการออกประกาศดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขทำเกินอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเรายันยันว่าการออกประกาศอยู่บนพื้นฐาน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขได้ ส่วนข้อกล่าวหาที่ระบุว่าการออกประกาศดังกล่าว ไม่เป็นไปตามรูปแบบและขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 57 วรรค 2 อ้างว่ากระทรวงสาธารณสุขนั้น ไม่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งจริงๆ แล้วตามกฎหมายกำหนดว่าการรับฟังความคิดเห็น จะต้องเป็นโครงการของรัฐเท่านั้น เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน สร้างถนน สร้างเขื่อน เป็นต้น ดังนั้นข้อกล่าวหานี้จึงไม่เข้าข่าย

น.ส.บังอร ฤทธิภักดี ผอ.เครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบในอาเซียน กล่าวว่า บริษัทบุหรี่รู้ดีว่าการพิมพ์ภาพคำเตือน 85% จะมีผลทำให้ยอดขายลดลง ดังนั้นการฟ้องกระทรวงสาธารณสุขในครั้งนี้ไม่ต่างจากที่บริษัทบุหรี่ฟ้องประเทศอื่น ๆ ซึ่งล้วนฟังไม่ขึ้น โดยเฉพาะการที่บอกว่ามาตรการนี้ทำให้บริษัทเสียหายทั้งที่โดยแท้จริงแล้วบริษัทบุหรี่ทั้งในและต่างประเทศสร้างความเสียหายต่อประเทศไทย จากการที่ใช้เงินไปรักษาโรคนี้ถึงปีละ 52,200 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 0.5% ของจีดีพี สำหรับประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ถึงปีละ 50,700 คน

ด้าน ผศ.ลักขณา เติมศิริกุลชัย อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการสำรวจการบริโภคยาสูบในผู้ใหญ่ระดับโลกของประเทศไทยเมื่อปี 2552 ผู้ที่เคยเห็นภาพคำเตือนบนซองบุหรี่แล้วคิดอยากจะเลิกในกลุ่มอายุ 15-24 ปี คิดเป็น 67.3 % อายุ 25-44 ปี คิดเป็น 70.6% อายุ 45-59 ปี คิดเป็น 66.5% อายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็น 55.1% แต่จากผลการศึกษาในปี 2554 กลับพบว่าภาพคำเตือนมีผลให้อยากเลิกบุหรี่มีอัตราลดลงในทุกกลุ่มอายุ โดยอายุ 15-24 ปี 59.3% อายุ 25-44 ปี 66.6% อายุ 45-59 ปี 63.5% และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 52% ทั้งนี้เนื่องมาจากการใช้ภาพเดิมๆ ที่ใช้มากว่า 2-3 ปีแล้ว ทำให้ไม่เกิดแรงดึงดูดใจ ดังนั้นจึงมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้เพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เพิ่มเป็น 85% เพราะมีงานวิจัยทั่วโลกยืนยันว่าขนาดภาพคำเตือนที่ใหญ่ขึ้นทำให้ผู้สูบบุหรี่อยากเลิกมากขึ้น และทำให้อยากสูบน้อยลง

“ทางบริษัทบุหรี่รู้ดีว่าภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ผลการสูบและต่อยอดขาย ดังนั้นจึงมีการช่วงชิงพื้นที่บนซองบุหรี่ แต่ทางบริษัทต้องการพื้นที่นี้ไปเพื่อให้เด็กๆ ติดบุหรี่ไห้ได้ผลกำไรสูงสุด มีหน่วยนับเป็นเงินกำไร แต่กระทรวงสาธารณสุขต้องการพื้นที่ของซองบุหรี่เพื่อป้องกันเด็กๆ ให้ติดบุหรี่น้อยที่สุด มีหน่วยนับเป็นจำนวนชีวิตที่รอดจากการสูบบุหรี่” ผศ.ลักขณา กล่าว.

ที่มา: http://www.dailynews.co.th