ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทีมกฎหมายแก้ทุกข้อกล่าวหาบริษัทบุหรี่ฟ้อง สธ. ออกประกาศขยายภาพคำเตือนไม่ชอบ “หมอประกิต” ชี้แค่ข่มขู่ หวังชะลอการบังคับใช้ ด้านเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบเชื่อ บริษัทไม่หยุดแค่ฟ้องยกเลิกประกาศ แต่ต้องการล้ม พ.ร.บ.ควบคุมฯ

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ นายจิรวัฒน์ อยู่สะบาย ทีมกฎหมายเพื่อต่อสู้คดีการฟ้องร้องโดยธุรกิจยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ภายหลังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกประกาศให้เพิ่มขนาดคำเตือนบนซองบุหรี่ จาก 55% เป็น 85% โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2556 และให้มีผลบังคับใช้วันที่ 2 ต.ค. ส่งผลให้บริษัท เจแปน โทแบคโค บริษัท ฟิลลิป มอร์ลิศ และสมาคมการค้ายาสูบไทย ยื่นฟ้อง สธ.ต่อศาลปกครอง 2 ประเด็น คือ 1.ขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ต.ค. เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการซื้อเครื่องจักรใหม่มาปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ทัน ซึ่งในชั้นไต่สวนที่ศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ทางเราได้ให้การต่อศาลว่า แม้ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ต.ค. แต่ได้มีการขยายเวลาให้เริ่มปฏิบัติในวันที่ 30 มี.ค.2557 เมื่อรวมกับการขยายเวลาระบายของเก่าแล้ว รวมเป็น 1 ปี ดังนั้นข้อกล่าวหานี้จึงฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ 2.ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนประกาศเพิ่มขนาดคำเตือน โดยอ้างว่า สธ.ทำเกินอำนาจที่กฎหมายแม่บทกำหนด นายจิรวัฒน์กล่าวว่า เรายันยันว่าการออกประกาศอยู่บนพื้นฐาน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ปี 2535 มาตรา 12 ที่กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขได้ ส่วนข้อกล่าวหาที่ระบุว่าการออกประกาศดังกล่าวไม่เป็นไปตามรูปแบบและขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 57 วรรค 2 เพราะ สธ.ไม่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งจริงๆ แล้วตามกฎหมายกำหนดว่า การรับฟังความคิดเห็นจะต้องเป็นโครงการของรัฐเท่านั้น เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน สร้างถนน สร้างเขื่อน เป็นต้น ดังนั้นข้อกล่าวหานี้จึงไม่เข้าข่าย ขณะนี้ทีมกฎหมายได้เตรียมเอกสารคำให้การยื่นต่อศาลปกครองภายใน 30 วันนี้ เพื่อแก้ข้อกล่าวหา

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การฟ้องร้องเป็นเพียงมาตรการข่มขู่เพื่อยืดการบังคับใช้กฎหมายออกไป ประเทศอุรุกวัยกำหนดให้คำเตือนมีขนาด 80% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2553 ประเทศศรีลังกากำหนดให้คำเตือนมีขนาด 80% เช่นกัน แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ เพราะบริษัทบุหรี่ไปฟ้องศาล แต่แพ้ความในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างศาลฎีกาตัดสิน ในขณะที่ออสเตรเลียมีคำเตือนบนซองบุหรี่ใหญ่ที่สุดในโลก เฉลี่ย 85% คือด้านหน้า 75% และด้านหลัง 100% บริษัทบุหรี่เคยฟ้องรัฐบาลออสเตรเลีย ศาลยังตัดสินว่ามาตรการเรื่องนี้ของรัฐไม่ได้ละเมิดเครื่องหมายการค้า ดังนั้นคิดว่ากรณีของประเทศไทยไม่น่าจะแตกต่างจากที่อื่น

ศ.นพ.ประกิตกล่าวว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับใหม่ได้ผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว อยู่ระหว่างปรับปรุงรายละเอียดเพื่อให้ รมว.สธ.นำเสนอ ครม. มีรายละเอียด เช่น การเปิดเผยข้อมูลทางธุรกิจของบริษัทบุหรี่ การห้ามทำกิจกรรมเพื่อสังคม (ซีเอสอาร์) เชื่อว่าบริษัทบุหรี่ต้องล้ม พ.ร.บ.นี้แน่นอน

นางสาวบังอร ฤทธิภักดี เครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบในอาเซียน (SEATCA) กล่าวว่า ขณะนี้มาตรการใช้ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก แต่จะมีขนาดที่แตกต่างกัน แต่มีหลายประเทศไม่สามารถกำหนดให้มีขนาดใหญ่เท่าประเทศไทยได้ เพราะถูกบริษัทบุหรี่ล็อบบี้ไม่ให้กฎหมายผ่าน หรือฟ้องร้องประเทศที่ต้องออกกฎหมายขยายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ที่มีขนาดใหญ่กว่า 75% เช่น ประเทศบรูไน 75% บริษัท.

ที่มา: http://www.thaipost.net