ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย และคณะทำงานยกร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กองทุนค่ารักษาพยาบาลข้าราชการท้องถิ่น เปิดเผยว่า กรณีผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยื่นข้อเสนอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) อุดหนุนงบประมาณ 7,500 ล้านบาท ตามเงื่อนไขเดิมที่กำหนดในการทำบันทึกข้อตกลงหรือ (MOU) ระหว่าง 13 องค์กรผู้บริหาร ข้าราชการท้องถิ่น กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อตั้งกองทุนค่ารักษาพยาบาลให้ข้าราชการและพนักงานท้องถิ่นทั่วประเทศกว่า 5 แสนคน เบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลในสถานบริการของรัฐให้ทันวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เนื่องจาก สปสช.ได้รับการจัดสรรงบเพียง 4,061 ล้านบาท ซึ่งอาจไม่เพียงพอจัดตั้งกองทุน ต่อมาผู้บริหาร สถ.เชิญตัวแทนเครือข่าย 13 องค์กรเข้าร่วมประชุมในวันที่ 2 กรกฎาคม ล่าสุด ได้แจ้งเลื่อนการประชุมไปโดยไม่มีกำหนด

"ปัญหาการใช้งบจำนวนมากจัดตั้งกองทุนฯ เกิดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการเข้ามาควบคุมงบ ดังนั้น สปสช.และผู้บริหาร สถ.ต้องเร่งหาข้อสรุปเพื่อดำเนินการให้ทันการเบิกจ่าย เนื่องจากงบสนับสนุนทั้งหมด เป็นงบอุดหนุนทั่วไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศที่จัดสรรมาใช้เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล สำหรับการกำกับดูแลการใช้เงินก้อนนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป ระหว่างการเสนอร่าง พ.ร.ฎ.เกี่ยวกับการตั้งกองทุนค่ารักษาพยาบาลนี้ ขอให้ สปสช.หรือ สถ.ตั้งคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลกองทุนค่ารักษาพยาบาลฯหนึ่งชุด โดยมีที่มาจากผู้แทนต่างๆ ตามที่คณะทำงานทำข้อสรุปเสนอทั้ง สปสช. กระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการกระจายอำนาจ ผู้แทน 3 สมาคม ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้แทนปลัดท้องถิ่น ใน ก.กลาง 3 คน ผู้แทนปลัดจากการคัดเลือก 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อติดตามการบริหารงบทุกเดือน เพื่อให้ทุกหน่วยงานร่วมกันแสดงความรับผิดชอบการตรวจสอบการนำไปใช้จ่ายที่ผิดเจตนารมณ์ หรือวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้" นายศักดิพงศ์กล่าว

นายเชื้อ ฮั่นจินดา ประธานสมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตที่ สถ.เลื่อนการประชุม เนื่องจากการแก้ปัญหากองทุนฯควรเป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทย และ สปสช.จะต้องหาทางออกให้มีความชัดเจน คาดว่าเป็นประเด็นการกำกับดูแลเงินกองทุนก้อนแรก 3,500 ล้านบาท ซึ่ง สปสช.อ้างว่างบไม่พอและขอเพิ่ม ก่อนหน้านี้ผู้บริหารบางรายยืนยันว่าจะมีงบสำรองจ่าย ขณะที่ สถ.ต้องการแบ่งจ่ายเป็นงวด ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าว สถ.ไม่ควรนำ 13 องค์กรเครือข่ายไปเกี่ยวข้องหลังลงนามบันทึกข้อตกลงกับนายกฯ

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 3 กรกฎาคม 2556