ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับยาชื่อสามัญมากขึ้นส่งผลให้ตลาดยาชื่อสามัญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยุโรป และสหรัฐอเมริกา ที่มีการใช้ยาชื่อสามัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ต่อปี เนื่องจากยาชื่อสามัญมีประสิทธิผลในการรักษาทัดเทียมกับยาต้นแบบและมีราคาถูกกว่า

องค์การเภสัชกรรม รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้นำในธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์และจำเป็นต่อสังคมไทยอย่างเป็นธรรม จึงทำการวิจัยยาชื่อสามัญอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง ช่วยให้ภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณด้านยาได้ปีละหลายพันล้านบาท และสามารถดูแลคนไข้ได้มากขึ้น

ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ก่อนจะรู้จักยาชื่อสามัญ ต้องรู้จักยาต้นตำรับ (original drug) หรือยาต้นแบบก่อน ซึ่งหมายถึงยาที่บริษัทยาทำการวิจัยและพัฒนาขึ้นมา แล้วนำไปจดสิทธิบัตร มีอายุคุ้มครอง 20 ปี เนื่องจากยาตำรับดั้งเดิมซึ่งวางขายเป็นเจ้าแรกมักจะมีสิทธิบัตรคุ้มครองจึงมีการตั้งราคาขายแพงมากจนผู้ป่วยส่วนใหญ่เดือดร้อนเพราะไม่มีเงินซื้อยา

ดังนั้นเมื่อสิทธิบัตรผูกขาดหมดอายุลง ยานั้นจะกลายเป็นตัวยาทั่วไปที่ไม่มีใครอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของเพียงผู้เดียวได้ผู้ผลิตในประเทศจึงสามารถผลิตยาชื่อสามัญที่มีคุณภาพดีได้มาตรฐาน แต่มีราคาถูกกว่ามากออกมาขายแข่งขันประชาชนจึงมีทางเลือกในการรักษาด้วยยาที่มีราคาย่อมเยากว่าแต่มีประสิทธิผลในการรักษาเท่ากัน นอกจากนี้ ยังเป็นการลดภาระด้านการเงินการคลังประเทศอีกด้วย

ส่วนยาชื่อสามัญ (generic drug) หมายถึงยาที่มีตัวยาสำคัญในการออกฤทธิ์ เช่นเดียวกับยาต้นตำรับ โดยมีคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัย เช่นเดียวกับยาต้นตำรับทุกประการ เพียงแต่ไม่มีสิทธิบัตรคุ้มครอง และมีราคาถูกกว่ายาต้นตำรับหลายเท่า

"ชื่อของยาอาจเรียกโดยใช้ ชื่อสามัญ หรือชื่อการค้าสำหรับชื่อสามัญ จะเป็นชื่อจริงของตัวยาที่ใช้เรียกเพื่อสื่อสารให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันทั่วโลก เป็นชื่อที่ออกเสียงยากไม่คล่องปาก แต่ชื่อการค้าจะเรียกง่าย กระชับและอาจสื่อสารให้เข้าใจว่ามีไว้เพื่อทำอะไร ฉะนั้น ยาชื่อสามัญหนึ่งตัวจะมีชื่อการค้าได้เป็นร้อยชื่อ เช่น ยาสรรพคุณแก้ปวด ลดไข้ มีชื่อสามัญ พาราเซตามอล (Paracetamol) และมีชื่อการค้ามากกว่า 100 ชื่อ ซึ่งมีขนาด รูปร่าง สีสัน แตกต่างกันแต่เป็นยาตัวเดียวกัน ใช้รักษาอาการเดียวกัน"

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิทธิของผู้ป่วยที่จะต้องรู้จักชื่อยาสามัญซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการรณรงค์ให้คนไข้รู้จักยาชื่อสามัญมากขึ้น โดยให้แพทย์หรือเภสัชกรบอกชื่อยาสามัญขณะจ่ายยาให้กับคนไข้ทุกครั้งเพื่อให้คนไข้นำไปปรึกษากับเภสัชกรตามร้านขายยา หรือโรงพยาบาลอื่นได้ รวมถึงค้นคว้าข้อมูลเบื้องต้นจากอินเตอร์เน็ตด้วยตนเอง "ปกติข้างกล่องยาจะมีชื่อยาสามัญควบคู่กับชื่อการค้าแต่ถ้ายาบรรจุอยู่ในแผงข้างหลังแผง จะมีชื่อยาสามัญปรากฏอยู่แต่ถ้าเป็นยาเม็ดๆ อยู่ในขวด ที่จ่ายโดยโรงพยาบาลบางครั้งคนไข้ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า ชื่อยาสามัญอะไร แต่ปัจจุบันโรงพยาบาลก็ให้ความสำคัญกับการจ่ายยาโดยบอกชื่อยาสามัญด้วย โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มี HA กำกับจะมีสติกเกอร์บอกทั้งชื่อทางการค้า และชื่อยาสามัญ" เมื่อถามถึงสถานการณ์การใช้ยาชื่อสามัญในประเทศไทยผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการใช้ยาชื่อสามัญมากขึ้นเนื่องจากในปี 2554-2555 ที่ผ่านมา มียาที่หมดสิทธิบัตรมากขึ้น ทำให้มียาชื่อสามัญออกมามากขึ้นด้วยเช่นกันอย่างที่กล่าวข้างต้นว่า ยาชื่อสามัญจะมีคุณภาพประสิทธิผล และความปลอดภัยเทียบเท่ายาต้นแบบแต่ราคาต่างกัน จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้บริโภค ขณะเดียวกันทั่วโลกมีการใช้ยาชื่อสามัญมากขึ้น ทั้งยุโรป และสหรัฐอเมริกาที่มีอัตราการใช้ยาชื่อสามัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ต่อปี ทำให้ตลาดยาชื่อสามัญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมืองไทยที่มีโครงการหลักประกันสุขภาพเข้ามาสนับสนุนให้ใช้ยาชื่อสามัญมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เชื่อว่าถ้ามียาชื่อสามัญออกมามากขึ้น ส่งผลให้โครงการหลักประกันสุขภาพของภาครัฐเติบโตอย่างยั่งยืน

วันนี้องค์การเภสัชกรรม ไม่เพียงแต่สนับสนุนให้คนไทยได้ใช้ยาชื่อสามัญมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่น พัฒนา วิจัยยาใหม่ๆ ออกมาอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มยาต้านไวรัสเอดส์ กลุ่มยาจิตเวช รวมถึงยาในกลุ่มธาลัสซีเมีย เพื่อให้มียาชื่อสามัญ บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คนไทยได้เข้าถึงยาที่มีคุณภาพมากขึ้น ในราคาที่ถูกลง

อย่างไรก็ตาม การใช้ยามีทั้งประโยชน์และโทษการดูแลตัวเองด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดื่มน้ำสะอาด ช่วยให้คนไทยทุกคนห่างไกลจากโรค และไม่ต้องรับประทานยาโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 12 กรกฎาคม 2556