ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากความร่วมมือองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) และกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น ศึกษาระบบหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่นในเรื่องระบบการจ่ายค่ารักษาบริการเฉพาะ ที่เรียกว่า Fee schedule ซึ่งเป็นการจ่ายตามรายการของแต่ละโรคด้วยราคากลางที่ตกลงกัน โดยทั้งหมดต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่จัดทำระบบนี้ ขณะที่ไทยยังไม่มีระบบดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในกลุ่มโรค โดยเฉพาะโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็ง จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเรื่องนี้ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นระบบการจ่ายเงินให้หน่วยบริการแบบใหม่ที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ

นพ.วินัยกล่าวว่า สปสช.ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมาให้ความรู้และประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกัน เพื่อนำมาปรับการวางระบบของไทย หากทำได้จะช่วยให้ไทยควบคุมค่าใช้จ่าย ไม่เพียงแต่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคเท่านั้น แต่ระบบอื่นๆ ก็ประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน เนื่องจากจะมีการกำหนดราคากลาง ตามข้อบ่งชี้และเงื่อนไขต่างๆ เช่น หากต้องทำซีทีสแกน หรือการเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ ก็จะมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีข้อบ่งชี้อย่างไรจึงจะสามารถใช้สิทธิได้ และใช้ได้เดือนละกี่ครั้ง ซึ่งหน่วยบริการสามารถเบิกจ่ายได้ตามราคาที่กำหนดไว้ เช่นเดียวกับการตรวจ เอ็มอาร์ไอ (MRI) เนื่องจากเครื่องมือพวกนี้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

"ระบบดังกล่าวจะช่วยทำให้การบริหารการเงินเป็นระบบ และการบริการผู้ป่วยมีประสิทธิภาพตรงตามกลุ่มโรคและความจำเป็นจริงๆ เบื้องต้นคาดว่าจะนำมาให้บริการผู้ป่วยโรคมะเร็ง รวมไปถึงการบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน ซึ่งมีการหารือกับโรงเรียนแพทย์ สนใจระบบดังกล่าว อาจนำร่องในร.พ.สงขลานครินทร์ ร.พ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น" นพ.วินัยกล่าว

--ข่าวสด ฉบับวันที่ 15 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--