ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผ่านไปเพียง 6 เดือน การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกปี 2556 พุ่งกระฉูดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน พบผู้ติดเชื้อป่วยไปแล้วกว่า 6.7 หมื่นราย เสียชีวิต 71 ราย คาดว่าสิ้นปีอาจมีตัวเลขสูงถึง 1.2 แสนราย ขณะที่ปี 2555 มีผู้ป่วย 7.4 หมื่นราย เสียชีวิต 79 ราย กระทรวงสาธารณสุขกำลังลุ้นระทึกตัวเลขผู้ป่วยคนสุดท้ายตอนสิ้นปีนี้ เพราะอาจถูกบันทึกเป็นสถิติใหม่แพร่ระบาดมากสุดในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา

ล่าสุด โรคไข้เลือดออกได้คร่าชีวิต "นนฑีฐิยา ภูวนนท์" อายุ 21 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ด้วยอาการไข้สูงปวดท้อง อีก 2 วันต่อมา เริ่มมีอาการช็อก อวัยวะภายใน เช่น ไต ตับ และหัวใจล้มเหลว ปอดอักเสบ และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไข้เลือดออกระบาดมีหลายสาเหตุด้วยกัน แต่ข้อมูลที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิดคือ “ภาวะโลกร้อน” เนื่องจาก “ยุงลาย” ตัวการแพร่เชื้อชอบอากาศอบอุ่นร้อนชื้น เมื่อโลกมนุษย์ร้อนขึ้นยุงลายก็เติบโตแพร่ขยายพันธุ์ดีขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

นพ.วิชัย สติมัย ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค หนึ่งในคณะกรรมการติดตามผลกระทบด้านสุขภาพจากภาวะโลกร้อน กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ปีที่แล้วจำนวนตัวเลขผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มสูงขึ้นในระดับน่าเป็นห่วง ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ประเทศแถบเอเชียทั้งหมดเพิ่มขึ้นด้วย ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียนาม ฯลฯ งานวิจัยหลายชิ้นระบุถึงสาเหตุของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ยุงลายแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น และอายุยืนกว่าในอดีตด้วย ที่สำคัญประเทศในเขตหนาวเย็นหรือภูเขาสูงที่มีหิมะตลอดปี ซึ่งไม่เคยมียุงลายมาก่อน เริ่มตรวจพบผู้ป่วยไข้เลือดออกจากยุงลายเป็นครั้งแรก ตัวอย่างเช่น ประเทศภูฏาน พบผู้ป่วยไข้เลือดออกรายแรกในปี 2547 ต่อมาคือประเทศเนปาล พบผู้ป่วยไข้เลือดออกรายแรกในปี 2549

“ย้อนหลังไปในอดีต อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นประมาณ 0.5 องศาทุกๆ 50 ปี แต่ช่วงนี้ผ่านไปเพียงแค่ 20-30 ปี โลกร้อนขึ้นแล้ว 0.5-1 องศา น่าเป็นห่วงมาก เพราะยุงลายชอบอากาศร้อนชื้น ลูกหลานเจริญเติบโตได้เร็ว และอายุยืนขึ้นจากค่าเฉลี่ยที่ตายภายใน 30 วัน ก็เพิ่มเป็น 40-60 วัน หมายถึงมีโอกาสไปกัดคนเพื่อแพร่เชื้อได้หลายวันมากขึ้น"

นพ.วิชัย ยอมรับว่า ตั้งแต่ปีที่แล้วเฝ้าติดตามสถานการณ์ระบาดของไข้เลือดออก รู้สึกตกใจ เพราะตัวเลขสูงขึ้นต่อเนื่องทั้งปีอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ปกติช่วงสิ้นปีในหน้าหนาวจะมีรายงานผู้ป่วยสัปดาห์ละประมาณ 100-300 คนเท่านั้น แต่ปี 2555 จำนวนสูงขึ้นถึงเกือบ 2,000 คน มากกว่าปีอื่นๆ เกือบ 10 เท่า หากเปรียบเทียบย้อนหลัง คาดว่าปีนี้อาจมีผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงที่สุดในรอบ 25 ปี

ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงประกาศให้ทั่วประเทศเฝ้าระวังและช่วยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะแหล่งคนอาศัยอยู่หนาแน่น เช่น ท่ารถขนส่ง เขตตลาดเทศบาล ฯลฯ หากยุงลายหนึ่งตัวมีเชื้อไข้เลือดออกมันจะกัดคนได้หลายคนครั้ง แม้ว่าจะกินเลือดจนอิ่มแล้วก็ตาม โดยร้อยละ 10 ของคนที่ถูกยุงลายกัดจะป่วยเป็นไข้เลือดออก ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 90 จะไม่ป่วย เพราะร่างกายแข็งแรง แต่อาจเป็นพาหะนำโรคได้

“ถ้ามีผู้ป่วยไข้เลือดออก 7 หมื่นราย หมายถึงมีคนถูกยุงลายกัดประมาณ 7 แสนคน ตอนนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน เพราะไข้เลือดออกเกิดจากไวรัสเดงกี (Dengue Virus) ในเมืองไทยมี 4 สายพันธุ์ ปัจจุบันสามารถพัฒนาวัคซีนป้องกันได้ 3 สายพันธุ์แล้ว ต้องรออีกสักระยะหนึ่ง เพื่อให้ผลิตวัคซีนได้สมบูรณ์ วิธีดีที่สุดในตอนนี้คือ ให้ช่วยกันกำจัดแหล่งที่อยู่อาศัยของยุงลาย” นพ.วิชัย แนะนำ

ดร.จิตติ จันทร์แสง นักวิทยาศาสตร์กลุ่มกีฏวิทยาทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า อากาศร้อนชื้นจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของลูกน้ำ เหมือนเป็นการเร่งให้วงจรชีวิตมันโตเร็วขึ้น จากเดิมที่ไข่กลายเป็นตัวยุงใช้เวลาอย่างน้อย 7 วันขึ้นไปอาจถึง 10 วัน แต่เดี๋ยวนี้ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 7 วันก็เป็นตัวแล้ว ทั้งนี้ยุงลายในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ "ยุงลายบ้าน" และ "ยุงลายสวน"

“มีงานวิจัยหลายชิ้นจากเมืองนอกที่อธิบายภาวะโรคร้อนทำให้ยุงเติบโตเร็วขึ้น และทำให้ไวรัสที่อยู่ในตัวยุงแพร่เชื้อเร็วขึ้นด้วย แต่ก่อนพอยุงไปกัดคนมีเชื้อไวรัสเดงกีจะใช้เวลา 10-14 วัน รอให้ไวรัสที่อยู่ในเซลล์กระเพาะอาหารเดินทางไปฝังตัวที่ต่อมน้ำลายยุง เชื้อนี้จะส่งต่อให้คนใหม่ที่ถูกยุงกัดเป็นวิธีแพร่เชื้อออกไป เมื่อเดินทางเร็วขึ้นก็แพร่เชื้อต่อได้มากขึ้น”

ดร.จิตติ ยอมรับว่า จุดนี้สำคัญ เนื่องจากเป็นการเพิ่มฤทธิ์เดชให้ยุงลาย เพราะถ้าเชื้อไวรัสเดงกีเข้าไปอยู่ในต่อมน้ำลายยุงเร็วขึ้น หมายความว่าพวกมันพร้อมที่จะปล่อยเชื้อไข้เลือดออกให้คนต่อไปจำนวนมากขึ้นไปอีก ปกติยุงลาย 1 ตัว มีโอกาสแพร่เชื้อให้คนถึง 5-6 คน สำหรับเมืองไทยยังไม่มีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่า ระยะทางจากกระเพาะไปต่อมน้ำลายของยุงลายไทยใช้เวลาสั้นลงหรือไม่ คงต้องวิจัยเพิ่มเติมอย่างละเอียดว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร ?!!

มหันตภัย"ไข้เลือดออก”

จากสภาวะโลกร้อนทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำสูงขึ้น ส่งผลให้ลูกน้ำยุงลายฟักตัวเร็วขึ้นจากเดิม 7 วัน กลายเป็น 5 วัน และจากที่เคยพบไวรัสไข้เลือดออกเดงกีเฉพาะในตัวเมีย ปัจจุบันยังพบในยุงลายตัวผู้และลูกน้ำด้วย

โรคไข้เลือดออกพบครั้งแรก 200 ปีที่แล้ว ระบาดหนักครั้งแรกช่วง พ.ศ.2500 ใน 9 ประเทศ ปัจจุบันกลายเป็นโรคประจำท้องถิ่นกว่า 100 ประเทศ ในทวีปแอฟริกา อเมริกา เอเชีย ฯลฯ ซึ่งมีการติดเชื้อเพิ่มปีละ 50-100 ล้านคน อัตราเสียชีวิตร้อยละ 2.5 ส่วนประเทศไทย พบการระบาดตั้งแต่ปี 2501 สถิติเฉลี่ยผู้ป่วยประมาณ 5 หมื่น-1 แสนคนต่อปี

เฝ้าระวัง13โรคร้าย...โลกร้อน

ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคติดต่ออุบัติใหม่จากกรมควบคุมโรค ระบุว่า ช่วง10 ปีที่ผ่านมาไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำที่รุนแรงหลายชนิดจากภาวะโลกร้อน โดยมีโรคที่คนไทยต้องเฝ้าระวัง 13 โรค

          1.โรคไข้กาฬหลังแอ่น

          2.โรคไข้เลือดออกอีโบลา

          3.โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์และเฮนดรา

          4.โรคไข้หวัดนก

          5.ไข้เหลือง

          6.โรคชิคุนกุนยา

          7.โรคมือเท้าปาก จากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71

          8.โรคติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัสซูอิส

          9.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส)

          10.โรคทูลารีเมีย

          11.โรคเมลิออยโดซิส

          12.โรคลิชมาเนีย

          13.โรควีซีเจดี หรือโรคสมองเสื่อมชนิดใหม่

ที่มา: http://www.komchadluek.net