ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -ความเชื่อหนึ่งเดียวตอกย้ำยาวนาน “เนื้อแดง” คืออาหารกินแล้วไม่อ้วน หนักเข้าว่ากันถึงขั้น กิน “เนื้อแดง” แทนข้าว น้ำหนักลดฮวบ หุ่นเฟิร์มร่างฟิต วัดเฉพาะน้ำหนักตัวคงไม่มีใครโต้แย้ง ด้วยหลากหลายความสำเร็จพิสูจน์ชัดว่าเป็นจริง ทว่า ในความเป็นจริงข้างต้น กลับมีรายละเอียดที่ถูกละเลย

งานวิจัยที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซด์ JAMA Internal Medicine ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับโลก ได้ตีแผ่ข้อมูลอันน่าสะพรึง เพราะ “เนื้อแดง” เจ้ากรรม กลายเป็นเพชฌฆาตซ่อนรูป

“การบริโภคเนื้อแดง เพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2” คือความคิดรวบยอดงานวิจัย

การวิจัยครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อหาความเกี่ยวพันระหว่างการบริโภคเนื้อแดงกับความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นชาวอเมริกัน แบ่งออกเป็นเพศชาย 2.63 หมื่นคน เพศหญิง 4.87 หมื่นคน และติดตามผลในทุกๆ 4ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2529-2549

นอกจากนี้ ในปี 2534-2550 ยังมีการติดตามผลจากกลุ่มผู้หญิงอีก 7.4 หมื่นคน โดยกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมการวิจัยถูกขอให้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับการบริโภคอาหาร และมีการประเมินความเสื่อมถอยของร่างกายจากปัจจัยอื่นๆ

ผลการศึกษาพบว่า ภายในระยะเวลา 4 ปี การกินเนื้อแดงเพิ่มขึ้นกว่าเดิม 45 กรัมต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานถึง 48% และเมื่อลดปริมาณการกินเนื้อแดงลงกว่าเดิมตั้งแต่ 45 กรัมต่อวัน ความเสี่ยงจะลดลงตามลงไปถึง 14%

สรุปคือ การเพิ่มปริมาณการบริโภคเนื้อแดงเป็นเวลานานต่อเนื่อง มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวานประเภท 2 โดยความสัมพันธ์นี้บางส่วนมีความเชื่อมโยงกับน้ำหนักตัว ผลการศึกษาพบหลักฐานว่าการจำกัดปริมาณการบริโภคเนื้อแดง มีส่วนช่วยป้องกันการเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 ได้

งานวิจัยข้างต้น สอดคล้องกับสถานการณ์การบริโภคเนื้อสัตว์ในประเทศไทย และอัตราผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เพิ่มมากขึ้น

สมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก รายงานข้อมูลปี 2554-2550 พบว่าคนไทยบริโภคเนื้อสุกรมากขึ้นจาก 10.28 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เพิ่มเป็น 13.7 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ขณะที่สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย รายงานว่า การบริโภคเนื้อไก่ในประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยข้อมูลปี 2546 อยู่ที่ 859 ตัน เพิ่มเป็น 935 ตัน ในปี 2551

พฤติกรรมการบริโภคเนื้อที่มากขึ้น สอดรับกับสถิติผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานของ สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี 2544-2554 ที่พบว่า มีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้น 1.51 แสนราย เป็น 4.96 แสนราย หรือกว่า 200% ในรอบ 10 ปี

สำหรับโรคเบาหวาน แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ประเภท 1 ที่ต้องพึ่งอินซูลิน มักเกิดขึ้นในเด็ก และประเภท 2 ซึ่งไม่ต้องพึ่งพาอินซูลิน หรือเบาหวานในผู้ใหญ่ โดยพบประมาณ 90-95% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด

สาเหตุที่แท้จริงของเบาหวานประเภท 2 ยังไม่ทราบชัดเจน แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม และยังสัมพันธ์กับภาวะน้ำหนักตัวเกิน การขาดการออกกำลังกาย และวัยที่เพิ่มขึ้น ตับอ่อนของผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภท 2 ยังคงมีการสร้างอินซูลิน แต่สร้างได้น้อยลงเนื่องจากเซลล์ที่สร้างอินซูลินค่อยๆ ถูกทำลายไป และอินซูลินยังทำงานไม่เป็นปกติเนื่องจากมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน บางคนเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนโดยไม่รู้ตัว และต้องการยาในการรับประทาน และบางรายต้องใช้อินซูลินชนิดฉีด เพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือด

อาการที่แสดง อาทิ ปัสสาวะมากขึ้นและบ่อยครั้งขึ้น ปัสสาวะกลางคืนบ่อยขึ้น (ระหว่างช่วงเวลาที่เข้านอนแล้วจนถึงเวลาตื่นนอน) หิวน้ำบ่อยและดื่มน้ำในปริมาณที่มากๆ เหนื่อยง่ายไม่มีเรี่ยวแรง น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ติดเชื้อบ่อยกว่าปกติ สายตาพร่ามองเห็นไม่ชัดเจน เป็นแผลหายช้า       

ล่าสุด นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สถานการณ์สุขภาพที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือผู้ที่เจ็บป่วยจากโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ซึ่งทั่วประเทศมีผู้ป่วยประมาณ 3 ล้านคน โดยสิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ เรื่องตาบอดจากปัญหาจอประสาทตาเสื่อม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเบาหวานขึ้นตา พบได้ประมาณ 23% ของผู้ป่วย มีความเสี่ยงสูงกว่าประชาชนทั่วไป 25 เท่าตัว

แม้เนื้อสัตว์จะเป็นเพียงหนึ่งในหลายองค์ประกอบของการเกิดโรคเบาหวาน

ทว่าไม่มีสาเหตุใดควรค่าให้เพิกเฉยได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง