ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -ภายหลังนพ.วิทิต อรรถเวชกุล อดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) พร้อมทนายได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง เพื่อขอความเป็นธรรมหลังถูกคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) เลิกสัญญาจ้าง โดยขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉิน และคุ้มครองชั่วคราวให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ หรือกลับไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งพิพากษาถึงที่สุด รวมถึงชะลอการสรรหาแต่งตั้ง ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมคนใหม่

รวมทั้ง นพ.วิทิตยังยื่นฟ้อง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. และคณะกรรมการบอร์ด อภ.ทุกคน รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ออกคำสั่งเลิกจ้าง และขอให้ห้ามมิให้ผู้ที่ถูกยื่นฟ้องให้ข่าวพาดพิงตนเองว่าบกพร่องต่อหน้าที่หรือไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาด้วย ทั้งนี้ การยื่นฟ้องได้เรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 49,653,600 บาท  ซึ่งทั้งหมดยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของชั้นศาล 

ประเด็นคือจะมีการฟ้องกลับของผู้ถูกฟ้องหรือไม่ เรื่องนี้ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะที่เป็นผู้ถูกฟ้อง ให้สัมภาษณ์แต่เพียงว่า 

“ผมยังไม่เห็นตัวคำฟ้องของคุณหมอวิทิต และทางศาลก็ยังไม่ได้ส่งคำฟ้องนั่นมาให้ จึงยังบอกไม่ได้ว่าสิ่งที่ฟ้องผมเป็นจริงหรือไม่ ต้องดูข้อเท็จจริงก่อน การจะฟ้องกลับหรือไม่ยังตอบตอนนี้ไม่ได้ครับ”

ขณะที่ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ.ให้สัมภาษณ์ ว่า  “ยังไม่ฟ้องกลับ ต้องขอดูคำฟ้องของศาลก่อน แต่ทางเราเตรียมเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาด้านกฎหมายแล้ว และจะทำเรื่องส่งไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดในการแต่งตั้งทนายฝ่ายผู้ถูกฟ้อง ซึ่งประกอบด้วยบอร์ด อภ. ครม. และผู้ถูกฟ้องทุกคน เพราะเป็นข้าราชการ จึงต้องเป็นการดำเนินการผ่านสำนักงานอัยการสูงสุด โดยจะมีทนายความทีมเดียวกัน” 

ส่วนประเด็นที่ นพ.วิทิต ขอให้ศาลคุ้มครองให้กลับมาดำรงตำแหน่ง และชะลอการสรรหาผู้อำนวยการ อภ.คนใหม่  จนกว่าศาลจะมีคำสั่งพิพากษาถึงที่สุด นพ.พิพัฒน์  ย้ำว่า  ในเมื่อศาลยังไม่ตัดสิน  การทำงานของอภ.ต้องเดินหน้า จึงจำเป็นต้องทำการสรรหาผู้อำนวยการ อภ.คนใหม่เช่นเดิม เนื่องจากคนปัจจุบันดำรงตำแหน่งรักษาการ 

เมื่อถามว่า ลำบากใจหรือไม่กับสิ่งที่เกิดขึ้น  ประธานบอร์ด อภ. บอกว่า ไม่ลำบากใจ เพราะทำทุกอย่างตามหน้าที่ และเป็นสิ่งที่ต้องทำ เรื่องนี้ตรงไปตรงมา ไม่มีอะไรต้องเหนื่อย  ที่ผ่านมาทำงานในรูปของบอร์ด อภ. การตัดสินใจเป็นไปตามข้อมูลข้อเท็จจริง  ทั้งนี้ เข้าใจว่า ย่อมมีคนรักคุณหมอวิทิตมาก ก็เป็นธรรมดาของคนที่ทำงานที่นี่มานาน แต่ความถูกต้องก็ต้องยึดถือ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ไม่ใช่คนไม่ดี เป็นคนดี แต่อย่าลืมว่า แม้จะเป็นคนดี แต่หากทำผิดและมีหลักฐานชัดเจนก็ต้องถูกลงโทษ ไม่มีข้อยกเว้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.วิชัย โชควิวัฒน  ในฐานะอดีตประธานบอร์ด อภ. แสดงความเห็นว่า  การฟ้องร้องขอความเป็นธรรมครั้งนี้ ชัดเจนว่าที่ผ่านมาเป็นเช่นไร ซึ่งเป็นการยื่นฟ้อง 3 คดี ประกอบด้วย  1. คำฟ้องคดีปกครอง กรณียกเลิกคำสั่งปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งหากมีผลตามผู้ฟ้องก็จะได้กลับไปปฏิบัติงานตามเดิม 2. คำฟ้องคดีแพ่ง เพราะมีการปลดโดยมิชอบ ทำให้เสียหาย ไม่เป็นไปตามสัญญาจ้าง และ3.คำฟ้องคดีอาญา มีการออกข่าวเป็นเท็จ ทำให้เสียหายเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีการฟ้องหมิ่นประมาทอีก ซึ่งเดิมมีฟ้องหมิ่นอาญา ที่มีโทษจำคุก แต่คดีนี้เป็นคดีปกครอง จึงเป็นการเรียกค่าเสียหายเท่านั้น

 “เรื่องนี้สมเหตุสมผลในการดำเนินการฟ้องร้อง ส่วนอีกฝ่ายจะฟ้องกลับหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่ทั้งหมดอยู่ที่ศาลตัดสิน ซึ่งข้อมูลข้อเท็จจริงทุกอย่าง ทั้งเรื่องวัตถุดิบยาพาราเซตามอล หรือโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ล้วนเป็นข้อมูลชุดเดียว”

ส่วนประเด็นที่บอร์ด อภ.ได้ตั้งคณะกรรมการละเมิดเพื่อพิจารณาเรียกค่าเสียหาย นพ.วิทิต สมัยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ.  ทั้งปัญหาวัตถุดิบยาพาราเซตามอล และความล่าช้าการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกนั้น

“เป็นการตั้งคณะกรรมการมาพิจารณาที่ไม่ตรงช่วงเวลา เพราะถ้านพ.วิทิต ผิดจริงก็ควรจะตั้งมาตรวจสอบตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่ง ไม่ใช่มาตั้งตอนออกไปแล้ว ซึ่งไม่มีใครเขาทำกัน ที่สำคัญ การสั่งปลดครั้งนี้ก็ไม่มีหลักฐานข้อเท็จจริงที่เพียงพอ โดยไปตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงยาพาราเซตามอล และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก  ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าว เป็นเพียงชุดสอบข้อเท็จจริง  เป็นเพียงการสอบเบื้องต้น ไม่ใช่คณะกรรมการสอบความผิดวินัย ซึ่งถือเป็นการทำงานข้ามขั้นตอน  อยู่ๆ ก็มาลงโทษ ซึ่งไม่มีที่ไหนทำกันแบบนี้” นพ.วิชัย กล่าวทิ้งท้าย

สุดท้ายจะออกมาเช่นไร..อยู่ที่ศาลตัดสิน