ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ประสบการณ์การฝึกงานในโรงพยาบาล  ช่วงที่นพ.อมร นนทสุต เป็นนักเรียนแพทย์  ทำให้ท่านติดวัณโรคจากคนไข้   จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ท่านไม่อยากทำงานในสายการรักษา หันมาเน้นงานสายอนามัย ประกอบกับท่านมีความประทับใจในเรื่องของ “น้ำใจ” จากผู้คนรอบข้างที่ได้รับมาตั้งแต่วัยเด็ก และตระหนักดีถึงจิตใจของคนไทยที่มีความเอื้อเฟื้อต่อกัน ท่านจึงนำแนวความคิดในเรื่องนี้มาใช้ และทุ่มเทให้กับงานสายนี้ จนท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นครูและนักคิดคนสำคัญมากที่สุดคนหนึ่ง สำหรับงานสาธารณสุขในประเทศไทย 

นอกจากท่านจะเป็นครูชั้นยอด นักคิดชั้นเซียน ผู้บริหารที่ดีที่สุดแล้ว ท่านยังเป็นผู้ที่มีบทสำคัญในการวางรากฐานงานต่างๆ ของระบบสาธารณสุขในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Healthcare) และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งในที่สุดแล้ว ผลพวงของโครงการนี้ อย่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ก็กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบงานสาธารณสุขไทยจนถึงปัจจุบัน

อาจารย์เริ่มคิดวางรากฐานงานสาธารณสุขมูลฐาน ตั้งแต่เมื่อไหร่

จริงๆ ผมคิดมาตลอด  ตั้งแต่เป็นอนามัยจังหวัด (นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในปัจจุบัน) ที่แพร่ แต่เพิ่งมีโอกาสทำจริงๆ ตอนย้ายมาอยู่จังหวัดเชียงใหม่  คงต้องเล่าย้อนกลับไปสมัยที่จบโรงเรียนแพทย์ใหม่ๆ แล้วมาอยู่ที่แพร่ เมื่อปีพ.ศ.2496 ตอนนั้นผมเป็นหมอปริญญาคนเดียวของที่นั่น  ลูกน้องของผมส่วนใหญ่ คือ พวกอนามัยอำเภอ   ซึ่งเป็นคนแก่ๆ หน่อย เขาคอยเอ็นดูเอาใจใส่ อย่างเวลาเข้าป่าเข้าดง หรือจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เขาก็พาผมไปด้วย ทำให้ผมมีโอกาสสัมผัสชาวบ้านเยอะ ได้พบเห็นน้ำใจของชาวบ้าน ที่มาช่วยยกโต๊ะ ยกเก้าอี้  จดชื่อนักเรียนให้ และที่สำคัญยังทำให้ผมมีโอกาสเห็นความลำบากของชาวบ้านว่า เวลาที่เจ็บป่วยไม่มีเงิน  ต้องจูงควายไปขาย  ถ้าหนักหน่อยก็ต้องขายบ้านขายนา บางคนถึงกับหมดตัวเลยก็มี

หลังจากเห็นปัญหามาเยอะ ผมก็คิดว่าจะทำยังไงต่อดี  เพราะหากผมยังคงทำแบบเดิมอยู่คงไม่รอดแน่นอน  เพราะผมอยู่คนเดียว จะให้ไปดูคนไข้ทั้งจังหวัดคงเป็นไปไม่ได้ จังหวะนั้นผมนึกย้อนไปถึงสมัยเด็กที่ได้รับการดูแลจากญาติผู้ใหญ่ เวลาเจ็บป่วย ท่านก็เอาไปนอนตัก ป้อนยาแล้วลูบหัว เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ผมรู้สึกประทับใจมาก  เลยคิดว่าหากเอาเรื่องพวกนี้มาใช้ในหมู่บ้านบ้างก็คงดี

แล้วตอนนั้นอาจารย์ทำอะไรบ้าง

ไม่ได้อะไรมาก เป็นแค่ความคิดเท่านั้น เนื่องจากผมยังไม่มั่นใจว่าจะทำได้จริง  เพราะฉะนั้นงานหลักของผม  จึงกลายเป็นการแก้ปัญหาเรื่องคอพอกเสียมากกว่า เนื่องจากตอนนั้นตามหมู่บ้านต่างๆ มีคนป่วยเป็นโรคนี้เยอะ  และผมเองมีความฝังใจกับคอพอก เพราะพี่เลี้ยงผมเป็น เม็ดใหญ่มากๆ  ตอนเด็กผมยังเคยไปลูบคลำบ่อยๆ  ทำให้หลังจากนั้นเวลาผมเห็นใครเป็นคอพอก  เหมือนมีแรงดึงดูด  ต้องเร่เข้าไปหาเลย

สำหรับวิธีการแก้ปัญหาเรื่องคอพอกนั้น  ผมใช้เกลืออนามัยเป็นตัวหลักในการทำงาน โดยได้รับความร่วมมือจาก UNICEF และกองโภชนาการที่กรุงเทพฯ  ส่วนข้อมูล อาจารย์ร่มไทร  สุวรรณิก จากศิริราช ที่กำลังทำวิจัยเรื่องการค้นหาไอโอดีนในปัสสาวะคน แต่ว่าไม่ได้ใช้มาก เพราะว่าท่านเน้นในเรื่องรังสีวิทยาเป็นหลัก ทำเรื่องเทคนิค เจาะเลือด ส่วนผมเป็นฝ่ายอนามัย ก็สนใจว่าจะทำอย่างไรให้โรคมันหาย จากนั้นเราตั้งโรงเกลือขึ้นที่ อำเภอเด่นชัย  ถือเป็นโรงเกลือแรกในจังหวัดเลย เวลาเกลือลงจากรถไฟ ก็พ่นไอโอดีนก่อน  แล้วค่อยแพร่กระจายไปสู่จุดต่างๆ ในเมืองแพร่  เมืองน่าน แล้วคอยติดตามผล ซึ่งผลน่าพอใจมาก เพราะจำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างเห็นได้ชัด

จากแพร่ อาจารย์ย้ายไปอยู่เชียงใหม่ใช่ไหม

ยัง  ผมไปเรียนปริญญาโทก่อน ไปเรียนเรื่องสาธารณสุขอยู่ที่ Harvard  University พอกลับมาเมื่อปีพ.ศ.2511  ก็ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ พอดีอาจารย์สมบูรณ์   วัชโรทัย กับอาจารย์กำธร  สุวรรณกิจ  ท่านมีโครงการส่งเสริมบริการอนามัยชนบท อยู่ที่อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก โดยจ้างเด็กชาวบ้านหนุ่มๆ สาวๆ มาช่วยกันทำเรื่องสุขภาพในชุมชน  เพราะช่วงนั้นท่านมองว่า แม้กระทรวงสาธารณสุขจะขยายเครือข่ายงาน และสถานบริการสาธารณสุขออกไปถึงตำบลแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนประชาชนไม่ค่อยรับรู้เท่าใดนัก  ขาดความร่วมมือ และขาดความรับผิดชอบจากท้องถิ่น ส่งผลให้ไม่อาจบริการงานสาธารณสุขได้ตามที่คาดหวังไว้ได้

ช่วงที่ผมกลับมา  เป็นจังหวะเดียวกับตอนที่อาจารย์ทั้ง 2 ท่านเกิดความคิดจะขยายงานไปตามจุดต่างๆ ในประเทศ  จึงมาชวน พอดีผมเพิ่งกลับมาจากเมืองนอก ความมั่นใจที่จะทำอะไรก็มากขึ้น ไอเดียที่จะนำมาใช้จัดการบริการเต็มไปหมด  ฉะนั้นผมจึงตอบตกลง จากนั้นผมก็สร้างโครงการนี้ที่อำเภอสารภี  จังหวัดเชียงใหม่

ตอนนั้นอาจารย์ต้องทำอะไรบ้าง

ผมทำคล้ายกับที่วัดโบสถ์  แต่คอนเซ็ปท์หรือวิธีการทำงานนั้นต่างกัน  เพราะผมไม่จ้างเด็กหนุ่มๆ สาวๆ มาขับเคลื่อนโครงการ  แต่ผมนึกไปถึงประสบการณ์ในวัยเด็กว่า  หากผมเอาคนที่เป็นผู้ใหญ่ หรือคนที่เป็นที่นับถือของคนอื่นมาเป็นตัวขับเคลื่อน น่าจะได้ผลมากกว่า

วิธีการที่ผมทำ คือ ผมสร้างความคิดเรื่อง  ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข หรือ ผสส. ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวกลางในการสื่อสารงานสาธารณสุขระหว่างชาวบ้าน เพราะปกติแล้วชาวบ้าน เขาต้องสื่อสารกันอยู่แล้ว   จากนั้นผมก็เอาเทคนิค Social Metric ที่ได้จาก Harvard มาใช้ โดยผมคุยกับชาวบ้าน แล้วถามสัก 2-3 คำถาม เช่น เวลาเจ็บป่วยคุณไปหาใคร   เวลามีปัญหาเรื่องสุขภาพคุณปรึกษาใคร ใครเป็นที่พึ่งของคุณ บอกมาสัก 3 ชื่อซิ ถามง่ายๆ แบบนี้ละ

ชาวบ้านเขาก็บอกชื่อมา  คำตอบที่ได้ ก็ดูความถี่ว่า ใครเป็นคนที่ชาวบ้านระบุชื่อมากที่สุด  ชื่อที่พบ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอาวุโส  หรือผู้ที่ได้รับการนับถือจากชาวบ้าน ซึ่งถือเป็นผู้นำแบบธรรมชาติ  ที่มีอิทธิพลทางความต่อชาวบ้านสูง  จากนั้นทำเป็นแผนภูมิออกมาว่า ตาคนนี้อยู่ตรงนั้น ยายคนนี้อยู่ที่นี่ ซึ่งชื่อเหล่านี้จะกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ เฉลี่ยแล้ว ทุกๆ 15 หลังคาเรือน จะมีอย่างนี้คนหนึ่ง คนเหล่านี้ละที่จะดึงมาทำหน้าที่เป็น ผสส.โดยผมเอาความรู้เรื่องสาธารณสุขใส่เข้าไป แล้วให้เขาไปกระจายความรู้ต่อชุมชนต่อไป 

แล้วคนเหล่านั้นเขายอมทำงานนี้กันง่ายๆ เลยหรือ

ก็ต้องมีการพูดคุยทาบทามกันก่อน  ผมใช้วิธีการคุยและบอกเขาว่า “คุณนี่ละที่ชาวบ้านเขาไปหา   เขาระบุมาว่ามีอะไรก็มาปรึกษาคุณ” พอฟังเสร็จเขาก็ Happy เพราะเขาภูมิใจที่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคม   เพราะฉะนั้นเกือบทั้งหมดยอมรับตำแหน่ง

หลังจากทำไปสักระยะ  ผมคิดว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เขามีความสามารถจะรักษาพยาบาลกันทั้งนั้น  แต่ว่าที่ผ่านมาเขารักษาโดยไม่มีหลักการ คือรักษาไปตามประสบการณ์ หากเราเอาเขามาฝึกดีๆ จะทำให้เขามีประสิทธิภาพขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นผมมีความคิดจะสร้างอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ขึ้นมา โดยความตั้งใจแรก  ผมอยากฝึกพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ตามบ้านนั่นละ แต่ว่าเข้าไปไม่ถึงคนพวกนั้น  จึงปรับใหม่  หันมาขยับผสส.แทน เพราะถือว่าเขาเป็นตัวแทนอยู่แล้ว โดยผมเข้าไปพูดคุยกับเขาว่า ผมมีความคิดแบบนี้ สนใจไหม จะUpgrade ฐานะให้ โดยจะสอนวิชาเกี่ยวกับการรักษาเบื้องต้นให้ จะได้ดูแลคนที่เจ็บป่วยในหมู่บ้านได้

ตอนนั้นอาจารย์จ่ายเงินให้ ผสส. และ อสม. หรือเปล่า

ไม่ให้   เอาเงินไปให้เขาก็น่าเกลียดสิ  คือ คนที่ผมเลือกมาเป็นอาสาสมัคร ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่เป็นที่นับถือของผู้คนในละแวกอยู่แล้ว  เพราะฉะนั้นเขาจะรู้สึกภาคภูมิใจกับสิ่งที่เขาทำ   มันถึงมีความยั่งยืนไง ขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาใช้เงินจ้าง เพราะฉะนั้นจึงไม่มีที่ไหนเหลือรอดสักแห่ง เพราะเขาไปตั้งต้นผิด  เขาไปจ้างคนมาทำ  ไม่ได้ทำด้วยความเต็มใจ  พอทำโครงการมาได้ระยะหนึ่ง คนพวกนี้ก็จะเรียกร้องเยอะ เช่น มาขอขึ้นเงินเดือน  เขาจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ซึ่งพอเจออย่างนี้มากๆ เขาก็อยู่ไม่ได้  เพราะไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนให้

ที่ผ่านมา มีคนไม่เข้าใจสิ่งที่อาจารย์ทำบ้างไหม  เพราะหากพูดกันจริงๆ เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว คนส่วนใหญ่คงมองชาวบ้านว่าพวกไม่ฉลาด ทำเรื่องพวกนี้ไม่ได้หรอก

มี   เขาบอกว่าผมจะทำหมอเถื่อนเหรอ  เพื่อนกันนี่ละพูด คือ เขาไม่เข้าใจสิ่งที่ผมทำ เขามองว่า เรื่องพวกนี้เป็นหน้าที่ของราชการที่ต้องบริการประชาชน แต่ว่าผมมีประสบการณ์ ยิ่งแพทย์ที่อยู่ต่างจังหวัดอย่างผม  ที่ทั้งจังหวัดมีคนเดียว  ผมรู้ว่าปัญหาคืออะไร  แต่จะให้ไปดูแลหมด  คงเป็นไปไม่ได้

แล้วเรื่อง อสม. ผสส. ถูกบรรจุเข้าสู่นโยบายระดับประเทศเมื่อไหร่

ในช่วงปีพ.ศ. 2520 หลังจากที่ผมเป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว เผอิญช่วงนั้น ผมเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 4 (พศ.2520-2524) ผมจึงเอาเรื่องนี้ใส่เข้าไปด้วย รวมทั้งงานสาธารณสุขมูลฐานด้วย

แล้วระบบสาธารณสุขมูลฐาน เริ่มต้นได้อย่างไร

มันต่อเนื่องจากโครงการจาก อสม. ผสส.เผอิญช่วงนั้น Dr.Mahler T. Halfdan ซึ่งเคยเป็นหมออยู่ตามบ้านนอกเหมือนกับผม เข้าไปเป็นผู้อำนวยการขององค์การอนามัยโลก (WHO) ท่านก็สร้างนโยบายขึ้นมาอันหนึ่งเรียกว่า Health for all ซึ่งใช้หลักของสาธารณสุขมูลฐานขึ้นมาทำ โดยให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนในการดูแลสุขภาพของตัวเอง ผมเองซึ่งรับนโยบายตรงนี้มา มองว่านี่เป็นเรื่องที่ดีมาก  เพราะมองว่าชาวบ้านนี่ละ  ต้องเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างสุขภาพที่ดี จะไปหวังพึ่งหมออย่างเดียวคงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม  แนวคิดของ Dr.Mahler T. Halfdan มักถูกตีความผิดไป โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเขามองว่า คนที่จะทำเรื่องนี้   มีแต่ “หมอ” เท่านั้น เพราะหมอในประเทศพวกนี้มีอิทธิพลมาก ที่สำคัญยังเห็นแก่ตัวมาก ขนาดพยาบาลยังไม่ให้ฉีดยาแทนเลย หรือเวลาจัดการอะไร เขาก็ไม่ให้ชาวบ้านเขามายุ่ง  ทั้งที่ความจริงแล้ว  นี่เป็นเรื่องของชาวบ้านด้วยซ้ำ  ยิ่งที่ผ่านมาผมเห็นปัญหาของชาวบ้านเยอะ  จึงทำให้รู้ว่าทำแบบนี้ไม่ถูก จะมาหวงก้างทำไม ไม่ยุติธรรมเลย  นี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้งานของเขาล้าหลังกว่าเรา

สำหรับประเทศไทย  เริ่มงานสาธารณสุขมูลฐานอย่างจริงจังเมื่อปีพ.ศ.2521 ตอนนั้นผมเป็นรองปลัดกระทรวงแล้ว ผมจึงถือโอกาสเอาเรื่องนี้มาทำ เพราะมองว่ายิ่งทำเยอะก็ยิ่งดี โดยขั้นแรก ผมทำเรื่อง Planning ก่อน เพื่อจะได้รู้ว่า มียุทธศาสตร์อย่างไร ควรใส่ใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ควรเอาเทคโนโลยีด้านใดเข้ามาใช้   ถึงเกิดประโยชน์มากที่สุด

พอปีพ.ศ.2523 ผมเป็นอธิบดีกรมอนามัย ผมก็นำเรื่องสาธารณสุขมูลฐาน หรือ Primary health care เข้ามาใส่ในงานของกองโภชนาการ คือ ผมอยากเห็นชาวบ้านสามารถลุกขึ้นมาทำเอง คิดเองได้หมด ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก สามารถดูแลครอบครัวของตัวเองได้ อย่างเวลาเด็กแรกเกิด ต้องมีการฉีดวัคซีน มีการชั่งน้ำหนัก แม่เด็กต้องรู้ ไม่ใช่ตัวเองอยู่เฉยๆ นั่งรอแต่หมอ พยาบาลมาเรียก ที่ผ่านมาตรงนี้ถือเป็นข้อเสียของราชการ   เพราะเราไปทำให้เขาหมด เขาเลยรู้สึกว่าตัวเองไม่ต้องทำอะไร เดี๋ยวก็มีคนมาทำให้เอง

หลังจากทำเป็นนโยบายแล้ว ผลที่ออกมาเป็นไปอย่างที่ต้องการไหม

ไม่  เหตุผลมี 2 อย่าง เรื่องแรก มาจากตัวคนปฏิบัติงานเอง เพราะว่าระบบราชการไทยมีนิสัยอยู่อย่างหนึ่งที่หล่อหลอมกันมา  ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์  คือ ราชการต้องรับใช้ประชาชน หรือ Service mind ซึ่งแตกต่างจากเรื่องที่เราจะทำ และที่สำคัญเรื่องนี้มันเข้ามาครอบงานของเราจนหมด  ทำให้เกิดปัญหาในระบบสาธารณสุขเยอะมาก เพราะการที่เราจะบริการอย่างเดียวได้ก็ต้องรอให้ป่วยก่อน ซึ่งช้าไปแล้ว จริงๆ เราควรทำต้องขั้นตอนป้องกัน หรือ Prevention แต่เราไม่เคยใส่ใจ เดี๋ยวนี้ไปดูได้เลยว่านโยบายปัจจุบัน แทบไม่พูดถึงเรื่องนี้เลย

ส่วนที่สอง คือ ชาวบ้าน  เขาไม่เข้าใจว่าเรื่อง Health ว่ามีประโยชน์อะไรกับเขา ที่ผ่านมา เราพยายามหาคำขวัญขึ้นมาขายชาวบ้านอย่าง “สุขภาพดีเป็นของทุกคน ซื้อก็หาไม่ได้  ต้องทำเอาเอง” แต่ไม่ได้ผลอยู่ดี เพราะเขาไม่สนใจ ไม่ยอมลุกขึ้น ถึงแม้เราจะเอาหมอ พยาบาลเข้าไปชี้แนะก็ไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องเปลี่ยนคอนเซ็ปท์ใหม่ จะมานั่งขายแต่  Health อย่างเดียวไม่ได้แล้ว เราก็มามองปัญหาในภาพที่กว้างกว่านั้นว่า ชาวบ้านเขารู้สึกว่าอะไรเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตเขาบ้าง เราก็พบว่าหากเราพูดเรื่องคุณภาพชีวิต อย่างอาชีพ การศึกษา ความมั่นคงในชีวิต หรืออะไรที่เป็นรูปธรรมมากๆ ชาวบ้านเขาฟังและสนใจ เราก็เปลี่ยนใหม่หมด ไม่เอาแล้ว Health for all หันมาทำเรื่อง Quality of life for all แทน แล้วแทรกเรื่องสุขภาพลงไปด้วย  ถ้าเปรียบง่ายๆ คือ เราต้องมีตัวพาหะที่เขาให้ความสนใจเป็นตัวนำทาง โครงการถึงจะสำเร็จ แล้วก็สำเร็จจริงๆ

หลังจากที่เราเปลี่ยนนโยบาย  ผมนำเรื่องนี้ ไปพูดกับ WHO ว่าเราหยุดทำเรื่อง Health for all แล้วนะ เพราะทำไปก็ไม่ได้ผลหรอก พอผมพูดเสร็จ Dr.Mahler T. Halfdan ที่เป็นคนคิดโกรธมากเลย   ซึ่งสุดท้ายแล้วเวลาก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเรื่อง Health for all ไม่รอดจริงๆ เพราะตอนนี้ลองไปดูเลยว่ามีประเทศไหน เขาทำอยู่บ้าง ไม่มีเลย แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามันล้มเหลว

อาจารย์คิดว่าเพราะอะไร ถึงทำให้เรื่อง Quality of life for all อยู่ได้จนมาถึงทุกวันนี้

ผมคิดว่า เป็นเรื่องวัฒนธรรม  อย่างพวก อสม. ที่ทำกันได้จนถึงทุกวันนี้ มาจากความมีจิตอาสาของเขา เขาทำโดยไม่ต้องการเงิน แต่อาจมีบางคนที่ต้องการบ้าง แต่ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ไม่ใช่ แล้วที่ผ่านมาเราปลูกฝังเรื่องนี้มาตลอด 30 ปี แล้วก็เกิดการสืบทอดกันในลักษณะรุ่นต่อรุ่น  เดี๋ยวนี้มี อสม. รุ่นใหม่ๆ เยอะมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นต่อจากพ่อแม่นั่นละ

ในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มอสม.ขึ้นมา อาจารย์คิดอย่างไรที่รัฐบาลจะมีเงินเดือนตอบแทน

ให้กับอสม.

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าเราไม่ควรจะให้เป็นเงินเดือนนะ เพราะเสียคอนเซ็ปท์ที่เราวางไว้ แต่เข้าใจนะว่าทำงาน  เขาต้องเสียค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน เราควรจะช่วยเขาบ้าง เพื่อความเป็นธรรม  ไม่ใช่จะใช้เขาฟรีตลอด แต่ผมมองว่าหากจะทำจริง  ก็ต้องทำอย่างมีเงื่อนไข คือ เราไม่ควรจะให้ทุกคนเท่ากันหมด  คนที่ทำดี  ทำงานหนักเหนื่อย  เราจะไปให้เท่ากับคนที่ขี้เกียจ ไม่ยอมทำงานได้อย่างไร ทางที่ดีเราควรเอาเงินของพวกขี้เกียจมาให้พวกขยันแทนจะดีกว่า

อีกวิธีหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเหมาะสมมากที่สุด คือ รัฐควรให้เงินนี้เป็นกองกลางของหมู่บ้าน คล้ายกับเป็นงบประมาณของอสม.โดยมีกรรมการกองทุนของเขา ทำหน้าที่จัดสรรแบ่งปันว่าจะเอาไปทำอะไรบ้าง

ตลอดเวลาเกือบ 30 ปีมานี้ อาจารย์มองว่างานเรื่องสาธารณสุขมูลฐานยังมีปัญหาอะไรอีกบ้าง

เรื่องแรก คือ ความเข้มแข็งของ อสม. ที่ผ่านมา ผมเตือนอยู่บ่อยๆ ว่าถึงเวลาแล้วที่พวกเขาควรมีชมรม หรือสมาคมอะไรจริงๆ สักที เพราะการทำงานที่ถูกต้อง ควรมีนิติบุคคลรองรับ รัฐบาลถึงจะสามารถปล่อยเงินลงไปได้  แต่ปัจจุบันนี้คืออะไร  เงินไปฝากอบต.หมด เขาเองก็มีธุระเยอะแยะเหมือนกัน  บางทีได้เงินมา  เขาก็ไม่ให้เราใช้

จริงๆ แล้ว อสม. อายุตั้ง 30 ปีแล้ว ควรเป็นตัวของตัวเองได้แล้ว  ถ้าเป็นคน ก็ต้องออกเรือนไปได้แล้ว จะมาห้อยเป็นติ่งอย่างทุกวันนี้ไม่ได้

อีกเรื่องหนึ่ง คือ พวกราชการนี่ละ หลายปีมานี้  เขาไม่มีความเปลี่ยนแปลงเลยนะ พวกนี้ชอบคิดว่าอสม.เป็นลูกน้อง สั่งเขาได้  ให้ทำโน่นทำนี่  ทั้งที่ความจริงแล้วเขาเป็นเจ้าบ้าน  ส่วนเราเป็นแค่ตัวกลางเท่านั้น ระบบถึงได้บิดเบี้ยวอย่างทุกวันนี้ ที่ผ่านมาผมก็พยายามเตือนผู้ใหญ่ในกระทรวงบ่อยๆ แต่เขาไม่ฟังผมหรอก

ทุกวันนี้ยังมีเรื่องอะไรที่อาจารย์อยากทำอีกบ้างไหม

ตอนนี้คงเหลือเรื่องเดียว คือ เรื่องทำแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นการกำหนดจุดหมายปลายทางที่ชัดเจน สำหรับโครงการต่างที่เราได้วางเอาไว้ ให้สำเร็จตามเป้าหมาย โดยในแผนที่นี้จะระบุหมดเลยว่า ใครต้องทำอะไร  ใช้กระบวนการอะไร  ระบบอะไร ทักษะตรงไหน ถึงจะทำให้โครงการนี้สำเร็จ ที่สำคัญเรายังพูดถึงบทบาทของชาวบ้านว่าเป็นอย่างไร ภาคีทั้งหลายต้องทำอะไร เพื่อที่ชาวบ้านจะได้ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาของตัวเองเองได้

พอกำหนดรายละเอียดทั้งหมดเสร็จแล้ว เราก็จะพัฒนาข้อมูลทั้งหมดออกมาเป็นแผนที่ เพื่อดูว่าเรายังขาดอะไร ต้องเติมอะไรลงไปอีก รวมทั้งกำหนดจุดเป้าหมายที่ชัดเจนว่า เราจะทำโครงการนี้ให้เสร็จเมื่อไหร่ มีอะไรเป็นตัวชี้วัดบ้าง

ที่ผ่านมา ผมเริ่มส่งโครงการไปให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงไปแล้ว ตอนนี้บางจังหวัดเริ่มทำแล้ว บางจังหวัดกำลังฝึกกันอยู่ ผมคิดว่างานนี้คงเป็นงานสุดท้ายสำหรับผมแล้ว  ถ้าสำเร็จก็โอเค คุ้มแล้ว พอแค่นี้แหละ ถือว่าช่วยบ้านเมืองมาเต็มที่แล้ว หมดสภาพแล้ว

มีคนบอกว่าอาจารย์เป็นทั้งครู เป็นทั้งนักคิด จึงอยากให้อาจารย์ฝากข้อคิดถึงคนที่จะเป็นผู้นำรุ่นต่อไปว่าเขาควรจะประพฤติตัวต่อไปอย่างไร ในอนาคต

จริงๆ แล้วผู้นำมีหลายระดับนะ ผู้นำที่อยู่ในระดับพื้นฐานที่สุด หรือต่ำที่สุด  คือ ผู้นำที่มักจะนึกถึงตัวเองเป็นสำคัญ พวกนี้ เราสังเกตดูได้เลยว่า เวลาถามว่ามีปัญหาอะไรบ้าง สิ่งที่เขาตอบหรือยกมือถามเรา จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเขาหมดเลย เมื่อไหร่เงินเดือนผมจะได้มากกว่านี้ เมื่อไรตำแหน่งนี้จะถูกอัพเกรด พวกนี้ไม่ได้คิดว่าองค์กรจะดีขึ้นมาตรงไหน

ระดับ 2 นี่ดีขึ้นมาหน่อย คือ เห็นแก่กลุ่มของตัวเป็นหลัก อย่างราชการนี่ใช่เลย เห็นองค์กรของตัวเป็นสำคัญ เอาองค์กรฉันให้ดีก่อน คนอื่นจะเป็นยังไงช่าง ชาวบ้านได้ประโยชน์อะไรหรือเปล่าไม่สนใจ

ส่วนระดับ 3 อันนี้ถือว่าสูงสุด ผู้นำระดับนี้เวลาทำอะไรก็ตาม เขาจะมองว่าประชาชนจะประโยชน์ได้อะไร  ผมอยากให้ผู้นำรุ่นใหม่ๆ อยู่ในระดับนี้  โดยเฉพาะพวกที่อยู่ระบบราชการ เพราะเงินที่คุณทำอะไร  เป็นเงินของประเทศ  เป็นเงินของประชาชนทั้งนั้น

เพราะเวลาจะใช้เงินทำอะไร ก็ต้องคิดเสมอว่าเจ้าของเงิน เขาจะได้อะไรบ้าง

ที่มา : หลังประติมาสาธารณสุข 20 เบื้องหลังการขับเคลื่อนระบบสุขภาพไทย, อมรินทร์พริ้นติ้ง, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2553