ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ด้วยขนาดกองทุนรักษาพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มีเม็ดเงินนับแสนล้านบาทต่อปี การบริหารกองทุนจำเป็นต้องมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ"ยา"ซึ่งเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายสำคัญที่ต้องจัดการย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้กัน ทำอย่างไรที่จะสร้างความสมดุลทั้งด้านราคาและมาตรฐานยา เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้ง่ายอย่างมีคุณภาพและคุ้มค่ามากที่สุด

จากการรายงานค่าใช้จ่ายในระบบบริการสุขภาพ พบว่าประมาณ ร้อยละ 50% ของค่าใช้จ่ายบริการทางการแพทย์ในระบบกองทุนรักษาพยาบาลจะถูกใช้จ่ายไปในเรื่องของยา ซึ่ง"ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" เป็นกองทุนหนึ่งที่เป็นไปในลักษณะดังกล่าว จึงต้องมีนโยบายการจัดการด้านยาที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)กล่าวถึงนโยบายในการบริหารจัดการยาของ สปสช.ว่า มีวัตถุประสงค์มุ่งให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาคุณภาพได้มาตรฐานและมีราคาเหมาะสม ทั้งยังต้องสร้างความมั่นคงให้กับระบบยาของประเทศเพื่อให้สามารถพึ่งตนเองด้านยาได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาหรือผลิตเพื่อรองรับดูแลผู้ป่วยในประเทศ และด้วยเหตุผลดังกล่าว ที่ผ่านมา สปสช.จึงมีการใช้กลยุทธ์บริหารยา ด้วยการแบ่งยาออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มยาที่กระจายการจัดซื้อไปให้กับโรงพยาบาลและหน่วยบริการ โดยเป็นยาในกลุ่มบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่ง สปสช.จะเข้าไปควบคุมในเรื่องคุณภาพและราคาให้เหมาะสม

ซึ่งโดยทั่วไปยากลุ่มนี้ได้ผ่านการพิจารณาคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว จึงทำให้มั่นใจได้อยู่แล้ว  นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการยาของทางกระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการยาของโรงพยาบาลกำกับดูแลและตรวจสอบ ประกอบกับการจัดซื้อยายังต้องดำเนินไปตามระเบียบพัสดุ สำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้สามารถเชื่อถือในคุณภาพได้

ส่วนกลุ่มที่ 2 ยาที่จัดซื้อที่ส่วนกลาง โดยทาง สปสช. เป็นผู้ดำเนินการเอง แล้วจึงกระจายยาไปตามโรงพยาบาล ยากลุ่มนี้มีความจำเป็นต่อการรักษาผู้ป่วย แต่มีปัญหาการเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจัดหา จัดซื้อ หรืออุปสรรคทางด้านราคา ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มยากำพร้า 2.กลุ่มบัญชียา(จ.2) และ 3.กลุ่มยาราคาแพง

นพ.ประทีปอธิบายว่า ยากำพร้าเป็นยาที่มีความจำเป็นในการรักษาอยู่ ไม่มียาใดใช้แทนได้ แต่มีการใช้ที่น้อยมาก จึงกลายเป็นยาที่ไม่ทำกำไร ทำให้บริษัทยาส่วนใหญ่ไม่สนใจผลิตหรือนำเข้าเพราะไม่คุ้มค่า จนกระทั่งส่งผลต่อการเข้าถึงยาของผู้ป่วย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มยาต้านพิษ เซรุ่มแก้พิษ เป็นต้น ถือเป็นยาจำเป็นต่อชีวิต ไม่มีไม่ได้ ส่วนยากลุ่มบัญชียา จ.2 เป็นยาที่มีราคาสูงมาก แต่มีผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาไม่มากและมีผู้ผลิตไม่กี่ราย ซึ่งทางคณะกรรมการยาได้จัดทำบัญชียาขึ้นเป็นพิเศษเพื่อใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เข้าถึงได้ อาทิ ยากดภูมิต้านทานร่างกายหลังการปลูกถ่ายไต และยาอิริโทโปอิตินเพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด เป็นต้น

ขณะที่กลุ่มยาราคาแพงเป็นกลุ่มยาที่ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงเช่นกัน เป็นยาที่ติดสิทธิบัตรอยู่ทำให้มีราคาสูง เช่น ยารักษามะเร็ง ยาต้านไวรัสเอดส์ และยารักษาโรคหัวใจ ที่ผ่านมาจึงมีการบังคับใช้สิทธิ์เหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) เพื่อช่วยผู้ป่วย ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องมีการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ

"ยาในกลุ่มหลังทั้งยากำพร้า ยาบัญชียา จ.2 และยาราคาแพง จำเป็นที่ สปสช.ต้องดึงมาบริหารที่ส่วนกลาง เพราะหากปล่อยให้โรงพยาบาลจัดหายากันเองคงทำได้ยาก จึงจำเป็นต้องมีการจัดการในภาพรวม ซึ่งนอกจากเพิ่มอำนาจต่อรองการจัดซื้อแล้ว ยังเป็นการวางระบบที่ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาที่จำเป็นได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกันนี้ยังเป็นการลดภาระของโรงพยาบาลที่ต้องแบกรับรายการยาที่มีมูลค่าสูง หรือยาที่จำเป็นต้องมีไว้ในห้องยาแต่มีการใช้น้อย หรือจัดหาไม่ได้" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวทั้งนี้หลังจากที่ สปสช.ได้ดำเนินนโยบายด้านยาในแนวทางนี้อย่างจริงจังมา 5 ปี พบว่า สามารถช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยามากขึ้น ซึ่งตัวอย่างยาที่เห็นได้ชัดเจน อาทิ ยาอิริโทโปอิตินซึ่งส่วนใหญ่ใช้กับผู้ป่วยไตวาย จากเดิมราคาอยู่ที่ 1,000 บาทต่อโด๊ส ซึ่งผู้ป่วยต้องใช้ 2 โด๊สต่อสัปดาห์ แต่หลังจากมีการบริหารจัดการที่ส่วนกลางทำให้ราคาเหลือเพียง 300-400 บาทต่อโด๊สเท่านั้น เช่นเดียวกับการทำซีแอลยาโคพิโดเกรล ทำให้จากเดิมยาราคาเม็ดละ 70 บาท เหลือเพียง 7 บาทเท่านั้น

นพ.ประทีป บอกว่าเมื่อดูสัดส่วนยาจะเห็นได้ว่า การบริหารจัดการยาที่ส่วนกลางมีเพียงไม่กี่รายการเท่านั้น และนับเป็นส่วนที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบการใช้ยาทั้งระบบ ซึ่งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีงบประมาณอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่ง 50% หรือ 70,000 ล้านบาทเป็นค่าใช้จ่ายด้านยา ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นการจัดหาโดยโรงพยาบาล มีเพียง 10% เท่านั้นที่จัดซื้อโดยส่วนกลางถือว่าไม่มาก

จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เรายังให้โรงพยาบาลเป็นผู้จัดหายาใช้เอง เพื่อให้เกิดการแข่งขันและสร้างความมั่นคงด้านยาให้กับประเทศ อีกทั้งกลุ่มยาที่ สปสช.ดึงมาบริหารจัดการที่ส่วนกลาง หากภายหลังเข้าที่เข้าทางไม่เป็นปัญหาแล้ว จะมีการโอนการจัดซื้อกลับไปยังโรงพยาบาลเช่นเดิม

สำหรับการจัดซื้อยาของทางส่วนกลางนั้น รองเลขาธิการ สปสช. บอกว่าสปสช.ได้ดำเนินการจัดซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เนื่องจากตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติระบุว่า เงินกองทุนมีไว้เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลและหน่วยบริการ ดังนั้นจึงต้องใช้ช่องว่างที่กฎหมายให้อำนาจบอร์ดแทน อีกทั้งที่ผ่านมา สปสช.ถือเป็นหน่วยงานที่เพิ่งเริ่มก่อตั้ง การดำเนินการจัดซื้อเองอาจมีข้อครหาได้ จึงต้องสร้างความมั่นใจว่า สปสข.จะไม่มีการเข้าไปจัดการเพื่อหาผลประโยชน์ จึงต้องหาหน่วยงานกลางเข้ามาดำเนินการในการจัดหาและซื้อยา ซึ่ง อภ.เป็นหน่วยงานที่เหมาะสม ทั้งยังมีหน้าที่โดยตรงในการซื้อขายยา

"สปสช.มีการดำเนินนโยบายการเข้าถึงยามา 10 ปีแล้ว แต่มีการดำเนินการอย่างจริงจังในช่วง 5 ปีหลังมานี้ ซึ่งประจวบเหมาะกับช่วงที่องค์การเภสัชกรรมมีการปรับเปลี่ยนการบริหารเช่นกัน สอดรับการทำงานซึ่งกันและกัน ทำให้สามารถดำเนินโยบายร่วมกันได้ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาที่มีคุณภาพมาตรฐานในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะในส่วน 10% ที่จัดซื้อโดยส่วนกลาง นอกจากนี้ทางองค์การเภสัชกรรมเองยังได้มีการปรับปรุงการจัดส่งยาโดยนำระบบวีเอ็มไอมาใช้ พร้อมจับมือกับบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ทำให้สามารถจัดส่งยาได้อย่างทั่วถึง" นพ.ประทีป กล่าว

ขณะที่ความคืบหน้าการบริหารจัดการด้านยาร่วมกันของ 3 กองทุนนั้น นพ.ประทีป บอกว่ามีความพยายามร่วมมือเพื่อจัดการด้านยาร่วมกันของทั้ง 3 กองทุน โดยมุ่งลดค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศ โดยเฉพาะในกองทุนสวัสดิการข้าราชการซึ่งสูงมาก ซึ่งมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันในการต่อรองราคายา แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

"อนาคตนโยบายด้านยาของ สปสช.จากนี้ยังคงเดินหน้าต่อ โดยเน้นการเข้าถึงยาของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ด้วยการรักษาสมดุลการจัดหายาที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม สามารถขยายครอบคลุมผู้ป่วยที่ต้องเข้าถึงยาเพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องมีหน่วยงานร่วมสนับสนุนเพื่อให้ สปสช.สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับที่ผ่านมา"นพ.ประทีป กล่าว

สปสช.มีงบประมาณอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่ง 50% หรือ 70,000 'ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายด้านยา ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นการจัดหาโดยโรงพยาบาล

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ