ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล 

ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหนึ่งในผู้ที่ศึกษาบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขในการเป็นผู้ดูแลระดับนโยบายสุขภาพแห่งชาติ  (National Health Authority) ว่า สิ่งสำคัญต้องมีความชัดเจนในแง่การทำหน้าที่ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ใช้นโยบายเอง เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นเจ้าของโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ซึ่งก็เหมือนเป็นผู้ใช้นโยบายที่ตัวเองกำหนดด้วย ทำให้เกิดคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ทั้งๆ ที่ควรแยกออกจากกันให้ชัดเจน ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) เดิมก็เป็นโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวง แต่เมื่อแยกออกมาก็มีความเป็นอิสระ สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง

ศ.นพ.ไพบูลย์กล่าวอีกว่า กระทรวงควรปล่อยให้โรงพยาบาลในสังกัดทั้งหมดมีความเป็นอิสระ บริหารงานเองตามกรอบนโยบายที่กระทรวงกำหนด โดยโรงพยาบาลอาจออกมาในรูปแบบขององค์การมหาชน ซึ่งจะมีความเป็นอิสระขึ้น หรืออาจไม่ต้องถึงขั้นโรงพยาบาลบ้านแพ้ว เพียงแค่กระทรวงปล่อยให้โรงพยาบาลทำงาน โดยไม่เข้าไปแทรกแซง เปิดกว้างให้มีการแข่งขันกับภาคเอกชนก็จะทำให้โรงพยาบาลพัฒนาประสิทธิภาพของตัวเองโดยอัตโนมัติ ความยากคือ เมื่อปล่อยโรงพยาบาลรัฐออกเป็นอิสระแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะทอดทิ้งเลย เพราะหากพวกเขาช่วยตัวเองไม่ได้ กระทรวงก็ต้องช่วยเหลือด้วย

"จริงๆ แล้วการปรับบทบาทของกระทรวง ในแง่ของการแบ่งเป็นเขตบริการสุขภาพ 12 เครือข่ายถือว่ามีเจตนารมณ์ดีมาก เพราะจะทำให้ชาวบ้านในต่างจังหวัด ไม่ต้องเดินทางมารักษาถึงกรุงเทพฯ เนื่องจากแต่ละพื้นที่จะพึ่งตัวเองมากขึ้น ส่วนในอนาคตจะเป็นอย่างไรต้องติดตามต่อไป" ศ.นพ.ไพบูลย์กล่าว

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การแยกโรงพยาบาลออกจากสังกัด สธ. คงเป็นเรื่องวิวัฒนาการในอนาคต ขณะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน อยู่ระหว่างการวางแผนพัฒนาระบบการบริการให้มีบทบาทชัดเจน ไม่ทำงานซ้ำซ้อนกัน

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 24 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--