ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในช่วงไม่ถึงสัปดาห์ เกิดโศกนาฏ กรรมกับนักเรียนอินเดียที่เข้าร่วมโครงการอาหารกลางวันฟรีของรัฐบาลถึง 2 เหตุการณ์ ซึ่งสร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก เพราะเหยื่อเป็นเด็กเล็กตาดำๆ อายุเพียง 5-12 ขวบ

เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นที่รัฐพิหาร ทางเหนือ มีเด็กเสียชีวิต 23 ราย ล้มป่วย 25 คน อีกเหตุการณ์เกิดขึ้นที่รัฐกัว ทางตะวันตกเฉียงใต้ มีเด็กล้มป่วย 23 คน

เด็กมีอาการเหมือนอาหารเป็นพิษ ทั้งอาเจียน ท้องเดิน หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจลำบาก ลมชักไปจนถึงอัมพาต สันนิษฐานว่าสาเหตุมาจากยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนในผัก และข้าว

บ้างก็เดาว่าเป็นเพราะน้ำมันปรุงอาหาร ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบ

แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปว่าสารพิษคืออะไร มาจากอะไร และไปอยู่ในอาหารเด็กโดยบังเอิญ หรือมีใครวางยา

ความสูญเสียนี้ทำให้สังคมหันมาจับจ้องมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร

การวิจารณ์ประเด็นนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และปลุกกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงโครงการอาหารกลางวัน จนทางการรัฐพิหารยอมตั้งชุดทำงานพิเศษดูแลโครงการนี้ตามโรงเรียนต่างๆ

ขณะที่รัฐพิหารได้ชื่อว่าเป็นรัฐที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ

ข้อมูลระบุว่า เด็กเกือบครึ่งของประเทศเป็นโรคขาดสารอาหาร และศาลฎีกาอินเดียตัดสินเมื่อปี 2554 ให้โรงเรียนของรัฐทุกแห่งจัดโครงการอาหารกลางวันฟรีแก่เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี

โครงการอาหารกลางวันของอินเดียนับเป็นโครงการอาหารสำหรับนักเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดูแลเด็กมากกว่า 120 ล้านคน จาก 1.2 ล้านโรงเรียน

หากอินเดียไม่ตื่นตัวปรับปรุงแก้ไขโครงการดังกล่าวเสียตั้งแต่ตอนนี้ ก็น่ากลัวว่าอาจต้องเผชิญโศกนาฏกรรมลักษณะนี้อย่างซ้ำซากอีกในอนาคต--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 24 กรกฎาคม 2556