ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -เลยล่วงพ้นผ่านรายนาที ยังแต่มีการแหกตาด้วยไม่รู้เท่าทัน

ใช่หรือไม่ว่าผู้บริโภคคือ “เหยื่อ” ? ... เหยื่อในที่นี้กินความหมายในภาพกว้าง

ประการหนึ่ง ถูกประกอบสร้างความเชื่อขึ้นจากกระแสสื่อถาโถม โดยเฉพาะโฆษณาฉ้อฉล

ประการหนึ่ง ถูกกระตุ้นจากสัญชาติญาณขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะความกลัว

ประการหนึ่ง ถูกปิดกั้นด้านข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะข้อเท็จจริงและรายละเอียดของผลิตภัณฑ์

ความย่นย่อถึงขั้นยานหย่อนของมาตรการทางกฎหมาย คือช่องว่างที่เสมือนหนึ่งว่าไร้ซึ่งหนทางถมให้เต็ม

อาการตระหนักรู้ชั่วขณะภายหลังตระหนกกับข่าวสารจากสื่อมวลชน เกิดขึ้นให้เห็นอย่างชินชา

ทันทีที่สื่อมวลชนตีข่าวผลิตภัณฑ์ปลอม ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปลอม เครื่องสำอางเถื่อน หรือแม้กระทั่งอาหารปนเปื้อน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร ผักผลไม้ รวมถึงล่าสุดข้าวถุงบรรจุหีบห่อ ... แน่นอนว่าผู้บริโภคถูกเร้าความสนใจ

ทว่า ความสนใจซึ่งถูกกระตุ้นเตือนนั้น กลับไม่ถูกไขข้อข้องใจหรือส่งผ่านประโยชน์ในชีวิตประจำวัน

“ปี 2555 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย ได้รับตัวอย่างครีมจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นตัวอย่างที่สั่งซื้อผ่านทางอินเตอร์เน็ต 44 ตัวอย่าง ผลวิเคราะห์ตรวจพบสารห้ามใช้ 3 ชนิด 12 ตัวอย่าง คิดเป็น 27%แบ่งเป็นพบสารไฮโดรควิโนน 2 ตัวอย่าง สารประกอบของปรอท 9 ตัวอย่าง และพบสารไฮโดรควิโนนร่วมกับกรดเรทิโนอิก 1 ตัวอย่าง”

“อย. ได้ตรวจกระเช้าปีใหม่จำนวน 3,167 กระเช้า ในซูเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 24 แห่ง พบสินค้าที่มีปัญหาจำนวน 221 ชิ้น และพบผู้กระทำความผิดเรื่องการแสดงฉลากไม่ถูกต้องจำนวน 7 ราย บางแห่งไม่แสดงวันหมดอายุ”

นี่คือตัวอย่างข่าวสารจากสื่อ, คำถามคือ ... รู้แล้วจะยังไงต่อ ?

หลากหลายข้อมูลทั้งจากหน่วยราชการ สื่อสารมวลชน หรือฐานข้อมูลอื่นๆ ล้วนแต่เลือกที่จะ“ปกปิด” ยี่ห้อสินค้าที่กระทำผิด แม้จะมีบางสื่อใจกล้าในบางกรณี แต่ทว่าสถานการณ์โดยรวมไม่ผิดแผกไปจากนี้

คำถามคือ ... เมื่อไม่บอกยี่ห้อ แล้วผู้บริโภคจะรู้ได้อย่างไรว่าสินค้าใดอันตรายหรือผิดกฎหมาย

รกรากของปัญหา เกิดขึ้นจากการ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในที่นี้หมายถึงทั้ง อย. และสื่อสารมวลชน

ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการ อย. อธิบายว่า ที่ผ่านมาอย.มีการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาและได้รับการร้องเรียนมาโดยตลอด แต่จะเลือกแจ้งชื่อต่อสาธารณชนเฉพาะสินค้าที่มีปัญหาเท่านั้น เนื่องจากหากแจ้งชื่อทั้งหมดคือทั้งสิ้นค้าที่มีปัญหาและสินค้าที่ไม่มีปัญหา อาจสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งหมดในภาพรวมได้

“การดำเนินการของอย.เพื่อความเป็นธรรม อย.จำเป็นต้องลงพื้นที่ตรวจสอบเองที่โรงงานทุกกรณี ถ้าตรวจจากสินค้าตามท้องตลาดจะไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ” รองเลขาธิการอย.ระบุ

นั่นคือวิธีคิดของอย.

อย่างไรก็ดี วงใน อย. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แท้จริงแล้วอย.เองก็ไม่อยากเปิดเผยชื่อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจาก 1.พ.ร.บ.อาหารและยา ไม่มีความชัดเจนในอำนาจของตัวเอง กล่าวคือไม่ได้ระบุว่าห้ามเปิดเผยชื่อผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย แต่ในทางกลับกันก็ไม่ได้ระบุไว้ว่าสามารถเปิดเผยชื่อผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้ 2.ระบบราชการทำให้อย.ไม่เป็นอิสระในการตรวจสอบ เนื่องจากเลขาธิการอย.อยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายการเมือง ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับธุรกิจ 3.หากอย.พลาดพลั้งมีโอกาสถูกฟ้องร้องสูง

นอกจากนี้ อย.ยังมีข้อจำกัดอื่นๆ อาทิ กฎหมายระบุไว้ว่า อย.สามารถดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้เฉพาะในจุดที่ตรวจพบ ดังนั้นหากตรวจเจอตามท้องตลาดก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ หรือแม้แต่ อย.ไม่มีอำนาจในการบุกจับกุมผู้กระทำความผิดต้องประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ด้าน สื่อมวลชน เหตุที่เลือกจะไม่เปิดเผยรายชื่อบริษัทหรือผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากเกรงว่าจะนำมาซึ่งคดีความการฟ้องร้องที่วุ่นวาย ซึ่งแม้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะผิดจริง แต่ก็มีโอกาสฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย กล่าวคือสามารถใช้สิทธิฟ้องหมิ่นประมาททำให้เสียชื่อเสียง ซึ่งนอกจากเป็นคดีอาญาแล้ว ยังมีโอกาสฟ้องแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้อีก

“เขาจะฟ้องเราในฐานะผู้พิมพ์ผู้เผยแพร่ เรื่องมันจะยิ่งวุ่นวาย เราต้องไปพิสูจน์ในศาลอีก กระบวนการมันนานมาก ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้คดีมันก็ยาวนาน ทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย ยิ่งถ้าเป็นอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือธุรกิจยาข้ามชาติ ยิ่งหนักหน่วง นั่นเพราะเขามีทีมกฎหมายจ้องที่จะฟ้องร้องเราอยู่ ฟ้องเพื่อขู่สื่อมวลชนไม่ให้ไปยุ่งกับเขา แน่นอนว่าใครก็ไม่อยากวุ่นวาย ดังนั้นหากเป็นข้อมูลที่มาจากแหล่งที่มาอื่นที่ไม่ใช่ อย. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ ส่วนใหญ่สื่อจะหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา” ผู้บริหารสื่อสำนักหนึ่ง ให้ข้อเท็จจริง

บรรณาธิการสื่อมวลชนอีกแห่ง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า อย่างกรณีการเปิดเผยข้อมูลข้าวถุงปนเปื้อนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็มีการถกเถียงกันว่าสมควรเปิดชื่อผลิตภัณฑ์ที่ผิดหรือไม่ ซึ่งประเด็นแรกคือข้อมูลจากการแถลงไม่มีการอ้างที่มาที่ไปหรือสถานที่การตรวจ แต่โดยตัวมูลนิธิก็มีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่ง ประเด็นที่สองคือหากไม่เปิดเผยชื่อ ข่าวก็จะเสนอเพียงพบข้าวถุงปนเปื้อน 1 ยี่ห้อ ซึ่งก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรกับคนอ่าน ประเด็นสุดท้ายคือข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะซึ่งแน่นอนว่าสื่อมวลชนควรทำหน้าที่เปิดเผย

“ทั้งที่ทุกคนรู้อยู่เต็มอกว่าต้องเปิดเผยชื่อผลิตภัณฑ์ที่กระทำผิด แต่ก็ต้องมาประเมินกันอีก นี่คือผลของคดีความ มันเป็นผลพวงที่ล่ามไว้ไม่ให้สื่อทำงานได้อย่างเต็มที่” บรรณาธิการรายดังกล่าวระบุ

อีกหนึ่งความหวังคือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทว่าด้วยอำนาจความครอบคลุมเรียกได้ว่าทำอะไรได้น้อยมาก กล่าวคือสคบ.จะดำเนินการได้เฉพาะสินค้า-บริการที่ “ไม่มีเจ้าภาพ” แต่หากมีหน่วยงานเฉพาะดูแลแล้ว สคบ.ไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น เรื่องอาหารและยา ก็ต้องเป็น อย. ดูแลเป็นหลัก

นอกจากนี้ แม้ว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค จะให้อำนาจแจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้บริโภคได้ แต่ได้เขียนไว้อย่าง “หลวมๆ” ว่าในกรณีนี้อาจระบุชื่อสินค้าหรือบริการหรือชื่อของผู้ประกอบธุรกิจด้วยก็ได้ นั่นหมายถึงขึ้นอยู่กับ สคบ.จะพิจารณาเห็นควรอย่างไร

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าทางออกของปัญหาจะไม่มี

ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 61 ได้บัญญัติให้มีการจัดตั้งองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์กรอิสระจากหน่วยงานของรัฐ

สาระสำคัญคือ กำหนดบทบาทการให้องค์การฯ แห่งนี้ สามารถแจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้บริโภค โดยให้สิทธิแก่องค์การฯ ในการระบุชื่อสินค้าหรือบริการหรือชื่อของผู้ประกอบการที่ละเมิดสิทธิได้ด้วย

นั่นหมายความว่าองค์การฯ มีอำนาจ “แฉ” หรือเปิดเผยรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย ได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะถูกฟ้องร้อง

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่เป็นกลไกการจัดตั้งองค์กรแห่งนี้ขึ้นยังค้างคาอยู่ในสภา

ทั้งที่ร่างกฎหมายผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรและผ่านการปรับปุรงแก้ไขและเห็นชอบจากวุฒิสภาไปแล้วตั้งแต่เดือน ม.ค. 2555 รอเพียงสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เท่านั้น

แต่จนถึงบัดนี้ ก็ยังคาราคาซังอยู่เช่นเดิม

ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ สาขาวิชาเภสัชศาสตร์สังคมและการบริหารคณะเภสัชศาสตร์ ม.ขอนแก่น ระบุว่า โครงสร้างการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถรับมือกับปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคได้ โดยแต่ละปีมีคดีผู้บริโภคขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นร่วม 4 แสนคดี ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็น ผลิตภัณฑ์สุขภาพ บริการสุขภาพ

ดังนั้น เพื่ออุดช่องโหว่ของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ปี 2522 และจะได้ทำหน้าที่อย่างอิสระโดยไม่มีเงื่อนไขจากฝ่ายรัฐ หรือการเมือง จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดอย่างแท้จริง

 “ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เกิดมาตั้งแต่ ปี 2541 นับถึงตอนนี้ก็ 15 ขวบแล้ว รัฐบาลควรทำให้เกิดเป็นรูปเป็นร่างเสียที” นักวิชาการรายนี้ระบุ