ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.-ปคบ. จับยาชุดอันตราย ลักลอบใส่ยาสเตียรอยด์และยาอันตรายอ้างเป็นสมุนไพรอาหารเสริม แก้สารพัดโรค อันตรายสุด ๆ ผู้ใช้อาจเสียชีวิตหลังรับแจ้งจาก สสจ.เชียงใหม่ พบผู้ป่วยแพ้ยาอย่างรุนแรง อย.จับมือตำรวจ บก.ปคบ.

บุกตรวจจับผู้ผลิตที่ จ.สุพรรณบุรี และผู้ขายที่ จ.นครปฐม พบผลิตภัณฑ์ที่เป็นสาเหตุ ใช้ชื่อ “สมุนไพรอาหารเสริมเพื่อสุขภาพรักษาโรคชั้นหนึ่งชั้นหนึ่ง” โอ้อวดสรรพคุณรักษาสารพัดโรค โดยเฉพาะโรคที่มีอาการปวดเรื้อรัง โรคที่รักษาไม่หาย ส่งตรวจวิเคราะห์ พบมียาแผนปัจจุบันเด็กซาเมทาโซน ซึ่งเป็นยาสเตียรอยด์ จัดเป็นยาควบคุมพิเศษต้องจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น และพบยาไดโคลฟีแนค ยาในกลุ่มยาแก้ปวด จัดเป็นยาอันตราย ผสมอยู่ ยึดของกลางมูลค่ากว่า 5 แสนบาท พร้อมดำเนินคดี 3 ข้อหา โทษฐานผลิตยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา

วันนี้ (24 ก.ค. 56) ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และคณะผู้บริหาร พร้อมด้วย พ.ต.อ.ไพฑูรย์ คุ้มสระพรหม รอง ผบก.ปคบ. และคณะ ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า อย.ได้รับการแจ้งจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่(สสจ.) ขอให้ดำเนินคดีการจำหน่าย “สมุนไพรอาหารเสริมเพื่อสุขภาพรักษาโรคชั้นหนึ่งชั้นหนึ่ง” ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยคนหนึ่งที่มารักษาตัวที่โรงพยาบาลสันป่าตองด้วยอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง จนต้องส่งต่อไปที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด และเสียชีวิตในที่สุด โดยจากการซักประวัติการใช้ยา พบว่า ผู้ป่วยกิน “สมุนไพรอาหารเสริมเพื่อสุขภาพรักษาโรคชั้นหนึ่งชั้นหนึ่ง” ก่อนผื่นแพ้ยาขึ้นประมาณ 20 วัน สสจ.เชียงใหม่ได้ส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตรวจวิเคราะห์ พบว่ามียาเด็กซาเมทาโซน ยาไดโคลฟีแนค และวิตามินบี 1 ผสมอยู่

จึงขอความร่วมมือให้ อย. สืบสวนจับกุมผู้กระทำผิด อย.จึงได้ขอความร่วมมือจากตำรวจ บก.ปคบ.ในการติดตามและตรวจจับเมื่อวันศุกร์ที่ 19 ก.ค. 56 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. ภายใต้การควบคุมสั่งการของ.ต.อ.ล้ำพันธุ์ พรรธนประเทศ ผกก.๔ บก.ปคบ. นำโดย พ.ต.ท.อานันท์ วิชเศรษฐสมิต สว.กก.4 บก.ปคบ. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม ร่วมกันดำเนินการสืบสวนจับกุมผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชื่อ“สมุนไพรอาหารเสริมเพื่อสุขภาพรักษาโรคชั้นหนึ่งชั้นหนึ่ง” แสดงสรรพคุณในการรักษาโรคต่าง ๆ เช่น แก้ปวดหลัง ปวดเอว ปวดตามข้อ เส้นเอ็นพิการ โรคกระษัยไตพิการ ปวดกระดูก โรคเก๊าต์ รูมาตอยด์ เหน็บชา อัมพฤกษ์ อัมพาต เบาหวาน ริดสีดวงทุกจำพวก บนฉลากแจ้งข้อมูลผู้ขายคือนายเพชร ยอดแก้ว และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงได้ให้สายลับติดต่อซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านทางโทรศัพท์ และเดินทางไปรับผลิตภัณฑ์ที่บ้านเลขที่ 90/1 หมู่ 3 ต.หนองปากโลง อ.นครปฐมจ.นครปฐม เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนำผลิตภัณฑ์ ฯ ที่ได้จากการซื้อมาตรวจสอบดูพบว่าเป็นยาที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ผลการตรวจค้น เจ้าหน้าที่พบผลิตภัณฑ์ชื่อสมุนไพรอาหารเสริมเพื่อสุขภาพรักษาโรคชั้นหนึ่งชั้นหนึ่งพร้อมซองบรรจุ ฉลาก กล่องและซองสำหรับส่งพัสดุ เก็บอยู่ในห้องเก็บของชั้นล่างของบ้าน จากการสอบถาม

นายเพชร ฯ รับว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นยาเม็ดลูกกลอนที่ตนเองสั่งซื้อมาจากจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อนำมาขายให้กับลูกค้าทั่วไปโดยตนเองเป็นผู้ทำฉลากผลิตภัณฑ์เองเพื่อบรรยายสรรพคุณในการรักษาโรคต่าง ๆ และนำยาเม็ดลูกกลอนที่ซื้อมาบรรจุซองเองที่บ้าน โดยบ้านของนายเพชร ฯ ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ผลิตและขายยาแผนปัจจุบันแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่จึงได้ยึดของกลาง ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ชื่อ “สมุนไพรอาหารเสริมเพื่อสุขภาพรักษาโรคชั้นหนึ่งชั้นหนึ่ง” จำนวน 1,000 ซอง ( ซองละ 10 ชุด / 1 ชุด มี 5 เม็ด แบ่งเป็นสีดำ 1 เม็ด สีแดง 2 เม็ดสีเหลือง 2 เม็ด ) , ซองซิปแบบใส (สำหรับบรรจุเม็ดยา)จำนวน 160 แพ็ค (แพ็คละ 50 ใบ), แผ่นฉลาก“สมุนไพรอาหารเสริมเพื่อสุขภาพรักษาโรคชั้นหนึ่งชั้นหนึ่ง ” บรรจุอยู่ในซองซิปใส จำนวน 500 แผ่น, เม็ดยาลูกกลอนบรรจุถุงพลาสติกแยก 3 สี คือ สีดำ , สีแดง , สีเหลือง อย่างละ 1 ถุง ๆ ละ 400 เม็ด, กล่องพัสดุไปรษณีย์เปล่า (สำหรับส่งสินค้าให้ลูกค้า) ที่มุมบนด้านซ้ายช่อง ชื่อที่อยู่ผู้ส่ง ปรากฏชื่อ “ เพชร ยอดแก้ว 90/1หมู่ 3 ต.หนองปากโลง อ.เมือง จ.นครปฐม 73000” ปั๊มติดอยู่ จำนวน 15 กล่อง และ ซองสีน้ำตาล (สำหรับส่งสินค้าให้ลูกค้าทางไปรษณีย์) ที่มุมบนด้านซ้ายปรากฏชื่อที่อยู่ผู้ส่งเช่นเดียวกัน จำนวน 100 ซอง

ต่อมาบ่ายวันเดียวกันได้สืบสวนขยายผลไปบุกตรวจจับผู้ผลิต ซึ่งนายเพชร ฯ ได้ให้การไว้ว่า ซื้อเม็ดยาลูกกลอนมาจากจังหวัดสุพรรณบุรี ผลการตรวจสอบพบว่าผู้ผลิตคือนายเคน สินธุ์บัว อยู่บ้านพักเลขที่ 1890/4ต.อู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี จากการตรวจค้น พบยาลูกกลอน และอุปกรณ์การผลิตต่าง ๆ อยู่ในบ้าน โดยนายเคน ฯ จะผลิตส่งให้ลูกค้าทั่วไปนำไปขายต่อ โดยไม่มีใบอนุญาตให้ผลิตและขายยาแผนปัจจุบันแต่อย่างใดและยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา เจ้าหน้าที่จึงได้ยึดยาลูกกลอนสีดำ สีแดง สีเหลือง และอุปกรณ์การผลิต เช่นเครื่องอัดเม็ดยาด้วยมือ กระด้งสำหรับตากยาเม็ด และกะละมังสำหรับผสมยา นำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

สำหรับข้อหาที่จะดำเนินคดีมี 3 ข้อหา ดังนี้1. ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท2. ขายยาที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรบไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ3. ผลิตยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท

เลขาธิการ ฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า การลักลอบผสมยาเด็กซาเมทาโซน ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องสั่งจ่ายและควบคุมการใช้โดยแพทย์เท่านั้น เพราะแม้เป็นยาที่ดูเหมือนจะให้

ผลการรักษาหายเร็วทันใจ แต่เป็นยาที่มีผลข้างเคียงสูงมากมาย เช่น มีอาการบวมน้ำ กระดูกผุ เยื่อบุกระเพาะอาหารบางลงอาจถึงขั้นกระเพาะทะลุ ภูมิต้านทานโรคต่ำ บางรายถึงขั้นไตวาย เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ยังพบยาไดโคลฟีแนค ซึ่งเป็นยาในกลุ่มยาแก้ปวด มีฤทธิ์ลดการอักสบ เช่น ปวดข้อปวดกระดูก จัดเป็นยาอันตราย ต้องจ่ายยาโดยเภสัชกร ไม่ควรซื้อยามากินเอง เพราะมีผลข้างเคียงมากมาย โดยมีฤทธิ๋ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร หากแพ้ยา จะทำให้คลื่นไส้มาก หายใจติดขัด อาการอื่นที่พบได้ เช่น ปวดศีรษะ ผื่นคัน สภาวะตับอักเสบ ไตล้มเหลวเฉียบพลัน ขณะนี้ยังปรากฏว่ามีการระบาดของยาชุดในต่างจังหวัดอยู่จำนวนมากและแผ่วงกว้างไปทั่ว โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ ผู้ที่ใช้แรงในการทำงาน ซึ่งมักจะพบว่า ยาชุดดังกล่าวมีการลักลอบผสมยาสเตียรอยด์ และยาอันตรายอื่น ๆ ที่สำคัญโฆษณาชวนเชื่ออวดอ้างรักษาสารพัดโรค โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง เช่นโรคเบาหวาน โรคข้อ ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง เป็นต้น เมื่อใช้ยาในช่วงแรก ๆ จะรู้สึกหายเร็วทันใจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แค่เป็นการบดบังภาวะโรค เข้าใจว่าเป็นยาดี กินแล้วถูกกับโรค ทำให้มีการกินอย่างต่อเนื่อง เกิดการสะสมพิษของยา ทำให้เจ็บป่วยหนักกว่าเดิม บางรายถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้น ขอเตือนผู้บริโภคอย่าซื้อยาชุดมาใช้โดยเด็ดขาด ถ้าพบเบาะแสให้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขหรือร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย.1556

ทั้งนี้ ได้ขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเข้มงวด ติดตาม สอดส่อง การผลิตหรือขายผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้แล้ว ถ้าตรวจพบให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาดทันที

ที่มา: http://www.thanonline.com