ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ขยายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็น 85 เปอร์เซ็นต์...กลายเป็นประเด็นร้อนจนถึงขั้นมีการฟ้องร้องกันขึ้นมาทันที

หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขออก ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงรูปภาพ ข้อความคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัย และช่องทางติดต่อเพื่อการเลิกยาสูบ ในฉลากของบุหรี่ซิกาแรต พ.ศ.2556 เพื่อให้แนวทางในการขยายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่มีผลบังคับใช้

ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา แล้วเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา และตามกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ตุลาคม ที่จะถึงนี้

แน่นอน...เมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทผู้ผลิต และนำเข้าบุหรี่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จึงนำไปสู่การยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางของบริษัทบุหรี่ 2 กรณี คือ

1. ขอให้ศาลปกครองกลางไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อคุ้มครองชั่วคราวยับยั้งประกาศดังกล่าว ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ตุลาคมนี้ โดยให้เหตุผลว่า ไม่สามารถดำเนินการซื้อเครื่องจักรตามเงื่อนไขเพิ่มพื้นที่ภาพคำเตือนได้ทัน

2. ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนประกาศดังกล่าว โดยอ้างว่า กระทรวงสาธารณสุขทำเกินอำนาจหน้าที่ ที่กฎหมายแม่บทกำหนด

จากการต่อสู้รอบแรกในขั้นตอนของการไต่สวน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้การต่อศาลว่า แม้ในวันที่ 2 ตุลาคมนี้ จะเป็นวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้วันแรก แต่จากการประชุมร่วมกันกับบริษัทบุหรี่ ได้กำหนดให้มีการขยายระยะเวลาออกไป จนถึงวันที่ 30 มีนาคม 2557

ฉะนั้น...ตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงมีผลบังคับใช้ และระยะเวลาขยายในการระบายของเก่า รวมแล้วเกือบ 1 ปี และศาลให้ทางกระทรวงสาธารณสุข ทำเอกสารชี้แจงเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียดและส่งกลับมาที่ศาลปกครองกลางภายใน 30 วัน

ส่วนผลจะออกมาเป็นเช่นไร คงต้องรอคำตัดสินของศาลปกครองกลาง ที่จะมีคำวินิจฉัยว่าจะรับฟ้องหรือไม่...ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้

แต่ในขณะเดียวกันภาคนักวิชาการ นักวิชาชีพสุขภาพ และภาคประชาสังคม ที่ทำงานด้านสุขภาพมองว่าการออกมาฟ้องร้องของบริษัทบุหรี่ในครั้งนี้ ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย สะท้อนว่า ประเทศไทยมีปัญหาการเพิ่มขึ้นของนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ มีผลสำรวจยืนยันว่า ได้ผลตั้งแต่การมองเห็น โดยเฉพาะสำหรับนักสูบหน้าใหม่

“ประชาชนเกือบ 100% รับทราบพิษภัยบุหรี่ แต่ที่สูบอยู่คือความเคยชิน และเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ในภาพของนักวิชาชีพสุขภาพมีผลพิสูจน์ทางการแพทย์ว่า...

บุหรี่ นอกจากมีนิโคติน ควันพิษต่างๆ และสารพิษกว่า 2–3 พันชนิด บริษัทบุหรี่ก็รู้แต่ไม่ต่อต้าน และยังขายอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาเราก็มีกฎหมายในการห้ามโฆษณาบุหรี่

แต่ยังเหลือช่องทางเล็กๆ คือบนซองบุหรี่ ที่ทางบริษัทบุหรี่ไปจดลิขสิทธิ์ว่า บนซองจะต้องมีลักษณะอย่างไรบ้าง ซึ่งในบางประเทศได้มีการเพิ่มขนาดคำเตือนบนซองบุหรี่แล้ว และมีเรื่องฟ้องร้องจากบริษัทบุหรี่ เช่น ออสเตรเลีย และบราซิล แต่ศาลก็ยกฟ้องไปแล้ว” นพ.วันชาติ ทิ้งท้าย

เช่นเดียวกับ น.ส.บังอร ฤทธิภักดี ผอ.เครือข่ายการควบคุมการบริโภคยาสูบในอาเซียน ที่ออกมาให้ข้อมูลว่า มาตรการใช้ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่มีอยู่ในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก แต่จะมีขนาดที่แตกต่างกัน และมีหลายประเทศไม่สามารถกำหนดให้มีขนาดใหญ่เท่าประเทศไทยได้

เพราะ...ถูกบริษัทบุหรี่ล็อบบี้ไม่ให้กฎหมายผ่าน

ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายประเทศที่บริษัทบุหรี่เคยฟ้องรัฐบาลของประเทศนั้นๆ เช่น ที่ ออสเตรเลีย และอุรุกวัย ที่กำหนดมาตรการให้พิมพ์คำเตือนขนาดใหญ่บนซองบุหรี่ แต่บริษัทบุหรี่ก็แพ้คดี โดยศาลตัดสินว่ามาตรการเรื่องนี้ของรัฐไม่ได้ละเมิดกฎหมายเครื่องหมายการค้า ตามที่บริษัทบุหรี่อ้าง

ทั้งนี้ ซองบุหรี่ที่ออสเตรเลีย มีภาพคำเตือนที่ใหญ่กว่าของประเทศไทยด้วยซ้ำ โดยรัฐบาลออสเตรเลียกำหนดขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ด้านหน้า 75% และด้านหลัง 90% บวกกับคำเตือนเรื่องการทิ้งก้นบุหรี่เสี่ยงต่อไฟไหม้อีก 10% ทำให้คำเตือนบนซองบุหรี่ ในออสเตรเลียมีขนาดเฉลี่ย 87.5% และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 ในขณะที่อุรุกวัยใช้ภาพคำเตือน 80% ตั้งแต่ พ.ศ.2553

ผู้อำนวยการเครือข่ายการควบคุมการบริโภคยาสูบในอาเซียน ยังยืนยันด้วยว่า ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่มีผลโดยตรงต่อผู้ที่จะตัดสินใจเป็นสิงห์อมควัน พร้อมเปิดเผยข้อมูล งานวิจัย Health warning messages on tobacco products : a review ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Tobacco Control 2011 โดยระบุว่า จากการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ 94 ชิ้น พบว่า ภาพคำเตือนเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับพิษภัยของสุขภาพกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่สำคัญของผู้ไม่สูบบุหรี่และสาธารณชนทั่วไป

ขณะเดียวกันมีงานวิจัยที่แคนาดา พบว่า หากเพิ่มขนาดของภาพคำเตือนจากขนาดเดิม 50% เป็น 75%...90% และ 100% จะทำให้ภาพคำเตือนมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ ทั้งผู้ใหญ่ และ เยาวชน รวมถึงเยาวชนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ด้วย

“บุหรี่...เป็นสาเหตุให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตปีละกว่า 6 ล้านคน หรือเฉลี่ยนาทีละ 11 คน ส่วนในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ปีละ 50,700 คน เฉลี่ย 1 คนในทุก 10 นาที ด้วยโรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด...โรคหัวใจและหลอดเลือด จากจำนวนผู้สูบบุหรี่ทั่วประเทศ 13 ล้านคน”

ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับการที่บริษัทบุหรี่ไปฟ้องต่อศาลปกครอง

เนื่องจากเป็นจุดประสงค์เพียงเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนเองเท่านั้น บังอรเชื่อว่าประกาศดังกล่าวของ กระทรวงสาธารณสุข จะสามารถทำให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็ก...เยาวชนรุ่นใหม่เห็นถึงโทษของการสูบบุหรี่

และไม่เลือกที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน แต่จะช่วยลดจำนวนคนสูบบุหรี่ได้มากหรือน้อยเพียงใดนั้น จะต้องพิสูจน์ภายหลังประกาศนี้บังคับใช้แล้ว

ไม่ว่าบทสรุปสุดท้ายของการต่อสู้ระหว่างภาครัฐ กับบริษัทบุหรี่ จะจบลงที่ใครเป็นฝ่ายชนะ แต่จะขออัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2547 มีใจความตอนหนึ่งว่า “เห็นมีการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ แล้วก็ห้ามขายบุหรี่แก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่จริงเด็กอายุ 50 ปี ก็ควรจะห้าม”

ฝากไว้เป็นข้อคิดกันเอาเองว่า การต่อสู้ในครั้งนี้ฝ่ายใดจะถูกมองว่าเป็นฝ่ายที่ถูกต้องมากกว่ากัน.

ที่มา: http://www.thairath.co.th