ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -หลังจากที่Hfocusได้นำเสนอเรื่องข้อจำกัดการใช้สิทธิประกันสังคมของกลุ่มแรงงานต่างด้าว ตอน โครงสร้างไม่เอื้อ ต่างด้าวเข้าไม่ถึงสิทธิประกันสังคม(http://www.hfocus.org/content/2013/07/3775) และข้อเสนอการปรับสิทธิประโยชน์ประกันสังคมของ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ตอน เปิดผลงานวิชาการ‘ปลัดแรงงาน’ ต่างด้าวควรได้สิทธิประกันสังคมแค่ไหน? (http://www.hfocus.org/content/2013/07/4017) ไปแล้ว

คำถามที่ตามมาคือ ความคืบหน้าการวางระบบประกันสังคมสำหรับกลุ่มแรงงานต่าวด้าวในขณะนี้ มีการดำเนินการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง มีแนวคิดการจัดระบบเช่นไร และมีข้อจำกัดอย่างไร?

อารักษ์ พรหมมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เล่าถึงภาพรวมการดำเนินการในขณะนี้ว่ามี 2 ส่วน ในส่วนของสปส.เอง ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาการปรับสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมกับแรงงานกลุ่มนี้ และมีการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งการประชุมครั้งที่ 3 ในเร็วๆนี้จะเริ่มจัดทำโมเดลประกันสังคมต่างด้าวว่าควรวางระบบอย่างไรบ้าง

ขณะเดียวกัน ยังได้มอบหมายให้นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำวิจัยรูปแบบสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมควบคู่ไปอีกทาง รวมทั้งนำงานวิชาการของปลัดกระทรวงแรงงานมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดทำโมเดลระบบ

และหลังจากที่วางรูปแบบต่างๆเสร็จแล้ว จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งลงพื้นที่พูดคุยกับตัวแรงงานต่างด้าวเอง ว่าเห็นด้วยกับระบบที่ออกแบบมาหรือไม่ จากนั้นจะจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้คณะกรรมการสปส. พิจารณาในที่สุด

ขณะที่การดำเนินการอีกส่วน ก็คือการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ในส่วนของการจ่ายเงินบำเหน็จแก่แรงงานต่างด้าวแทนการจ่ายสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพ ซึ่งในร่างกฎหมายฉบับที่สภาผู้แทนราษฏรรับหลักการนั้น ประกอบด้วย ร่างฉบับของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และร่างฉบับของนายเรวัติ อารีรอบ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์  

โดยในร่างฯฉบับของนายเรวัตินั้น เสนอให้เพิ่มมาตรา 33/1 “ให้บุคคลต่างสัญชาติที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี บริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปี บริบูรณ์ โดยปรากฏสัญชาติประเทศต้นทาง และมีนายจ้างผู้ได้รับอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างชาติ...หลักเกณฑ์อัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนวรรค 1 จะได้รับ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่สำนักงานกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ให้พิจารณาประโยชน์ทดแทนที่ไม่ต่ำกว่าความจำเป็นพื้นฐานและอาจกำหนดเงินบำเหน็จสะสมในการทำงานที่คืนให้เมื่อเดินทางกลับถิ่นฐานของประเทศต้นทางทุกครั้ง เป็นสิทธิประโยชน์ระยะสั้น

ขณะที่ร่างฯฉบับครม.เอง ได้กำหนดให้เพิ่มข้อความในมาตรา 77 ทวิ ว่า “ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงไม่ว่าจะส่งเงินสมทบครบ 180 เดือนหรือไม่ก็ตาม และประสงค์ที่จะไม่พำนักอยู่ในประเทศไทย ให้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

นอกจากนี้ อารักษ์ ยังมองว่าการวางระบบประกันสังคมต่างด้าว ยังไม่น่าถึงขั้นต้องแยกทำกฎหมายใหม่ แต่ควรให้รวมอยู่ในกฎหมายประกันสังคมเดิม เพียงแต่แยกมาตราออกมาให้ชัดเจน แล้วตราพระราชกฤษฎีกากำหนดรายละเอียดอีกที ดังเช่นข้อเสนอในร่างฯฉบับของนายเรวัติ ที่มีการเสนอ มาตรา33/1 ซึ่งแม้การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญจะไม่ได้นำมาพิจารณาด้วย แต่นายเรวัติได้สงวนคำแปรญัติเพื่อนำไปอภิปรายในวาระ 2 ต่อไป

“ในส่วนของการบริหารก็ควรแยกให้ชัดเจนเพราะถ้าเอามารวมกับมาตรา 33 เลย มันไม่สอดคล้องกัน แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน 2 ปี แล้วต่ออายุได้อีก 2ปี รวมเป็นไม่เกิน 4 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้น ส่วนมาตรา 33 เป็นสิทธิประโยชน์ระยะยาว ถ้าเอามารวมกันมันบริหารจัดการยาก”อารักษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากการแปรญัติในสภาผู้แทนราษฎรแล้วยังไม่มีการกำหนดโครงสร้างประกันสังคมแรงงานต่างด้าวให้แยกออกจากมาตรา 33 อย่างชัดเจน สปส.ก็ต้องหาช่องทางอื่นๆ เช่น ในมาตรา 4 ระบุว่าห้ามมิให้ใช้กฎหมายประกันสังคมกับข้าราชการ ลูกจ้างของราชการ ลูกจ้างของรัฐบาลต่างประเทศ ลูกจ้างของนายจ้างในประเทศที่ไปประจำต่างประเทศ ครูของโรงเรียนเอกชน นักเรียน นักศึกษา และลูกจ้างอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา โดยอาจต้องพิจารณาว่า สปส.จะกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับประกันสังคมแรงงานต่างด้าวภายใต้มาตรานี้ได้มากน้อยแค่ไหน

ด้าน บัณฑิต แป้นวิเศษ หัวหน้าฝ่ายแรงงานหญิง มูลนิธิเพื่อนหญิง ระบุว่าเครือข่ายแรงงานข้ามชาติไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการแยกระบบประกันสังคมแรงงานต่างด้าวหรือการแยกเป็นกฎหมายฉบับใหม่ออกจากมาตรา 33 เพราะอาจทำให้แรงงานต่างด้าวจ่ายเงินสมทบในอัตราที่ต่างจากแรงงานไทยจนเกิดความเหลื่อมล้ำ

หากจะระบุให้ชัดเจนกว่านั้น ก็คือการไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มมาตรา 33/1 ในร่างฯฉบับของนายเรวัติ ซึ่งมีข้อความว่า ...หลักเกณฑ์อัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนวรรค 1 จะได้รับ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่สำนักงานกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ให้พิจารณาประโยชน์ทดแทนที่ไม่ต่ำกว่าความจำเป็นพื้นฐาน... โดยบัณฑิต ชี้ว่าการกำหนดเช่นนี้ ทำให้นโยบายระยะสั้นเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ หากกำหนดอัตราการจ่ายสมทบต่ำก็ดีไป แต่หากกำหนดให้จ่ายเงินสมทบสูงกว่าเดิม จะสร้างภาระค่าใช้จ่ายแก่แรงงานต่างด้าวจนไม่อยากเข้าระบบประกันสังคม

นอกจากนี้ คำว่า ประโยชน์ทดแทนที่ไม่ต่ำกว่าความจำเป็นพื้นฐาน ก็ยังเป็นคำถามอีกด้วยว่าสิทธิประโยชน์แค่ไหนถึงเรียกว่าไม่ต่ำกว่าความจำเป็นพื้นฐาน

“เราเกรงว่าแรงงานต่างด้าวจะโดนเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่ม อย่าลืมว่าเขามีค่าใช้จ่ายหลายส่วน ทั้งค่าพิสูจน์สัญชาติ ค่าตรวจสุขภาพ แล้วยังมีค่าประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขอีก ถ้าแยกโครงสร้างออกมาแล้วเก็บแพงขึ้นอีก เขาก็ไม่อยากเข้าระบบ”บัณฑิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมาตรา 77 ทวิ ในร่างฯฉบับครม.ที่เปิดช่องให้แรงงานต่างด้าวรับบำเหน็จชราภาพเมื่อต้องเดินทางกลับประเทศได้นั้น เครือข่ายแรงงานต่างด้าวเห็นด้วยกับกฎหมายข้อนี้ เพราะหากว่าตามกฎหมายเดิม คนกลุ่มนี้ไม่สามารถรับสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพได้เนื่องจากอยู่ในประเทศแค่ 4 ปี แต่สิทธิเงินบำนาญชราภาพจะได้เมื่ออายุครบ 55 ปี และเป็นผู้ประกันตนมา 15 ปี จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่แรงงานต่างด้าวจะเข้าถึงสิทธินี้

“โดยสรุป ทางเครือข่ายแรงงานต่างด้าวไม่อยากให้แยกโครงสร้างการจัดการออกมา เอารวมไว้กับมาตรา 33 นั่นแหละ จะได้จ่ายเงินสมทบเหมือนแรงงานไทย แต่ให้กำหนดรายละเอียดเรื่องสิทธิประโยชน์และการรับสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมกับลักษณะการทำงานแยกต่างหาก เช่น อาจออกเป็นกฎกระทรวงหรือพระราชกฤษฎีกา ก็ได้ ซึ่งเรื่องหลักๆที่อยากให้แก้ก็เรื่องบำนาญชราภาพ เรื่องเงินสงเคราะห์บุตรที่ประกันสังคมจ่ายถึง 6 ปี แต่แรงงานต่างด้าวอยู่แค่ 4 ปี รวมทั้งเรื่องเงินชดเชยว่างงาน ซึ่งแรงงานต่างด้าวหากเลิกทำงานต้องออกนอกประเทศใน 7 วัน ไม่สามารถรับสิทธินี้ได้ ก็ต้องมาดีไซน์รายละเอียดกันว่าทำอย่างไรถึงจะเหมาะสม”บัณฑิต กล่าวทิ้งท้าย