ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -การเดินทางของร่างกฎหมายประกันสังคม กำลังจะเข้าสู่วาระ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงเปิดประชุมสภาสมัยสามัญ เดือน ส.ค.-ก.ย. นี้ ซึ่งจะเป็นการเปิดให้ผู้ที่สงวนคำแปรญัติในชั้นกรรมาธิการวาระ 1 อภิปรายแสดงความเห็น จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจะลงคะแนนโหวตรายมาตราที่มีการแก้ไข

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ร่างกฎหมายประกันสังคมถูกเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฏร จำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างฉบับของคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2.ร่างฉบับของ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,264 คน เข้าชื่อเสนอ 3.ร่างฉบับของนายนคร มาฉิม ส.ส.ประชาธิปัตย์ และ 4.ร่างฉบับของนายเรวัติ อารีรอบ ส.ส.ประชาธิปัตย์ จากนั้นสภาฯรับหลักการวาระ 1 แค่ร่างฉบับครม.และของนายเรวัติ แต่ตีตกร่างฉบับของ น.ส.วิไลวรรณ และนายนคร

ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของขบวนแรงงานในการแก้กฎหมายประกันสังคมครั้งนี้ อยู่ที่การปรับโครงสร้างสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้เป็นองค์กรอิสระ เปลี่ยนสถานะจากหน่วยงานราชการมาเป็นนิติบุคคล มีเลขาสปส.ที่มาจากการสรรหา มีโครงสร้างการบริหารกองทุนที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ที่มาของกรรมการสปส.ฝ่ายลูกจ้างมาจากการเลือกตั้งโดยตรงเพื่อให้ผู้ประกันตน 10 ล้านคนมีส่วนร่วมในการบริหารกองทุนอย่างแท้จริง ตลอดจนแก้ไขนิยามลูกจ้างให้ครอบคลุมไปถึงคนรับงานไปทำที่บ้าน

ทว่า เป้าหมายดังกล่าวยิ่งมายิ่งไกลออกไป เพราะแค่ขั้นตอนการรับหลักการวาระ 1 สภาผู้แทนราษฎรก็ปฏิเสธหลักการนี้เสียแล้ว ขณะที่ร่างฯ ฉบับที่รับหลักการนั้นยังกำหนดโครงสร้างสปส.เป็นแบบเดิม ต่างกันแค่เรื่องจำนวนของกรรมการในบอร์ดเท่านั้น

นอกจากนี้ การแปรญัติในชั้นกรรมาธิการยังเดินไปคนละทางกับสิ่งที่แรงงานเรียกร้อง เพราะได้แก้ไขกฎหมายให้รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานลงมานั่งเป็นประธานบอร์ดสปส.อีกต่างหาก จากเดิมที่ให้ปลัดกระทรวงเป็นประธาน จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม เพราะแทนที่แก้กฎหมายแล้วจะทำให้สปส.ถูกแทรกแซงโดยการเมืองน้อยลง กลับยิ่งเพิ่มบทบาทให้มาร่วมจัดการเงินกองทุนมากกว่าเดิมเสียอีก

หากมองจากมุมของขบวนแรงงาน แม้จะผลักดันกันมาเป็นปีๆแต่ก็ยังไม่เฉียดเข้าใกล้เป้าหมายที่ต้องการเลยแม้แต่น้อย และคงต้องทบทวนจุดยืนว่าจะทำอย่างไรกับกฎหมายฉบับนี้ต่อไป เพราะขั้นตอนในวาระ 2 หากมาตราไหนที่ไม่ได้แก้ไข ก็จะไม่มีการนำมาอภิปรายในสภา แต่หากมาตราไหนที่แก้ไขก็อภิปรายได้ และหากมีผู้สงวนคำแปรญัติ ก็จะเปิดผู้สงวนฯอภิปราย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการแก้ไขใดๆที่เกิดขึ้นก็จะต้องไม่หลุดจากกรอบร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการในวาระ 1

ดังนั้น ความฝันให้ สปส.เป็นองค์กรอิสระมีการบริหารกองทุนแบบมืออาชีพเป็นอันสลายไปตั้นแต่ต้น นอกจากนี้ กรรมาธิการยังใช้ร่างฯฉบับครม.เป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งร่างฯฉบับดังกล่าวเน้นไปที่การแก้ไขรายละเอียดยิบย่อยในการปฏิบัติงานเสียมากกว่าจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใดๆ

และหากดูรายมาตราที่มีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ จะมีการแก้ไขหลักๆคือ มาตรา 8 แก้ให้รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานมาเป็นประธานบอร์ดสปส.แทนปลัดกระทรวง และเพิ่มสัดส่วนกรรมการฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างจากฝ่ายละ 6 คนเป็น 7 คน

อย่างไรก็ตาม มาตรานี้มีผู้ขอสงวนคำแปรญัติหลายคน เช่น นายเชน เทือกสุบรรณ เห็นว่าควรให้ปลัดกระทรวงเป็นประธานบอร์ดสปส.และมีสัดส่วนกรรมการฝ่ายนายจ้าง-ลูกจ้างฝ่ายละ 6 คน นายนคร มาฉิม เสนอให้ประธานบอร์ดมาจากการผู้ได้รับเสียงข้างมากของกรรมการ และ มีสัดส่วนกรรมการฝ่ายนายจ้าง-ลูกจ้างฝ่ายละ 7 คน โดยมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วิธีการเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด

นายชาลี ลอยสูง เสนอให้มีสัดส่วนกรรมการฝ่ายนายจ้าง - ลูกจ้างฝ่ายละ 8 คน นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท เสนอให้ปลัดกระทรวงเป็นประธานบอร์ดสปส.มีสัดส่วนกรรมการฝ่ายนายจ้าง-ลูกจ้างฝ่ายละ 6 คน กรรมการทั้ง 2 ฝ่ายให้มาจากการเลือกตั้ง แต่กรรมการฝ่ายลูกจ้างต้องมาจากการเลือกตั้งทางตรง

นอกจากนี้ กรรมาธิการยังได้แก้ไขในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 40 โดยให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนไม่เกินเงินสมทบที่ได้จากผู้ประกันตน จากเดิมซึ่งร่างฯฉบับครม.กำหนดให้จ่ายไม่เกินกึ่งหนึ่งของ เงินสมทบที่ได้จากผู้ประกันตนอีกด้วย รวมทั้งยังมีอีกหลายประเด็นที่มีผู้สงวนคำแปรญัติ เช่น นางรัชฎาภรณ์ เสนอให้แก้ไขประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรมาตรา 65 จากเดิมที่กำหนดให้เพียงแค่ 2 ครั้งเป็นไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยให้เบิกได้ตั้งแต่วันแรกของการเข้าสู่ระบบประกันสังคม จากเดิมที่ต้องจ่ายเงินเข้าระบบมาไม่ต่ำกว่า 7 เดือน

เช่นเดียวกับ นายชาลี ที่เสนอให้เพิ่มเติมความในมาตรา 63 วรรค 1 ว่าด้วยประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่ไม่ใช่เนื่องจากการทำงาน โดยขอให้เพิ่มเติมในเรื่องค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรครวมทั้งค่าตรวจสุขภาพประจำปี และสิทธิประโยชน์สงเคราะห์บุตรตามมาตรา 75 จากเดิมที่จ่ายเงินสงเคราะห์บุตรอายุไม่เกิน 15 ปี เปลี่ยนเป็น 20 ปี

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการถกเถียงแก้ไขต่างๆนานาแค่ไหน ก็เป็นเรื่องรายละเอียดวิธีปฏิบัติ แต่ที่สุดแล้วกรอบการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมก็ยังไม่หลุดจากร่างฯฉบับครม.และไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างใดๆ ที่ขบวนแรงงานต้องการจริงๆ

หรือแม้แต่คนที่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่าง นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ก็ยังมองว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ตอบโจทย์ในแง่การบริหาร เพราะบทบาทของบอร์ดสปส.ยังผสมๆระหว่างบอร์ดบริหารและบอร์ดที่ปรึกษา

“บอร์ดจะดูเรื่องการอนุมัติเงินเป็นหลัก แต่คนบริหารคือตัวสำนักงานสปส.ขณะเดียวกันบอร์ดก็มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีด้วย แต่ในชั้นกรรมาธิการมีการพูดถึงแค่จำนวนกรรมการแต่ไม่ได้แก้ไขเรื่องบทบาทหน้าที่ ดังนั้นอยากให้กำหนดบทบาทคณะกรรมการให้ชัดเจนกว่านี้”นพ.สมเกียรติ กล่าว

แล้วทางเลือกหลังจากนี้ขบวนแรงานจะทำอย่างไรต่อ มีทางเลือกในการผลักดันกฎหมายอย่างไรบ้าง?

รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายประกันสังคม มองว่า การผลักดันข้อเรียกร้องต่างๆในขั้นตอนการแปรญัติคงเอาชนะเสียงข้างมากได้ยาก แต่ก็ต้องอภิปรายหลักการและเหตุผลเพื่อคงเจตนาไว้ แล้วไปเสนอข้อแก้ไขกฎหมายเป็นรายมาตราในภายหลัง

“บางมาตราอยากแก้ก็แก้ไม่ได้เพราะไม่ได้มีการเสนอแก้มาตั้งแต่ต้น เช่น เรื่องประธานบอร์ดสปส.แก้จากปลัดกระทรวงมาเป็นรัฐมนตรี แต่ไม่ได้แก้เรื่องอำนาจหน้าที่ของประธานไว้ ซึ่งจะตามไปแก้ก็แก้ไม่ได้ แล้วมันจะเป็นปัญหาในภายหลัง”รัชฎาภรณ์ แสดงความเห็น

ด้านสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มองว่า แนวทางของเครือข่ายแรงงานขณะนี้อาจจะยอมรับการแก้ไขกฎหมายแล้วผลักดันข้อเรียกร้องเท่าที่เป็นไปได้ อีกทางคือรอให้กฎหมายผ่านสภาฯแล้วค่อยขอแก้เป็นรายมาตรา และอีกทางอาจจะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อล้มกฎหมายฉบับนี้ไปเลยว่าเป็นการตรากฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เคยทำหนังสือแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะต่อผู้นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภาและประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขร่างกฎหมายประกันสังคม โดยระบุว่า สิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน เป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มุ่งหมายให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง และให้ความสำคัญจนกำหนดเป็นหมวด 7 ว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน กำหนดให้เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกรรมาธิการทั้งหมด

ดังนั้นสิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายย่อมมีผลผูกพันการใช้อำนาจในการตรากฎหมายของสภา และการที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับหลักการร่างกฎหมายประกันสังคม ฉบับที่เสนอโดย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,264 คน ไม่เพียงแต่เป็นการปฏิเสธสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน ยังเป็นการใช้อำนาจไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 163 อาจทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ วิไลวรรณ แซ่เตีย ระบุว่า วันที่ 30 ก.ค.นี้ เครือข่ายแรงงานจะประชุมหารือกันว่าจะทำอย่างไรกับร่างกฎหมายประกันสังคมที่ผ่านกรรมาธิการแล้ว จะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นการออกกฎหมายโดยมิชอบหรือไม่ เพื่อล้มร่างกฎหมายฉบับนี้ไปเลย