ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -ถูกจับตามองไม่ใช่น้อยกับนโยบายปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข ที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศการบริหารงานรูปแบบเขตบริการสุขภาพทั้งหมด 12 เขต ซึ่งแต่ละเขตมาจากการรวมตัวกันของ 3-4 จังหวัด โดยทำงานเป็นกลุ่มเครือข่าย ซึ่งง่ายต่อการบริหารงาน และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ อาทิ การแช่ร์ทรัพยากรร่วมกัน เช่น ห้องผ่าตัด ฯลฯ  ลดปัญหารอคิวนานจากการส่งไปยังโรงพยาบาลข้างเคียง

ล่าสุด นพ.ประดิษฐ รุกหนักโดยให้กรม กองต่างๆ ไปตรวจสอบว่า แต่ละกรมมีหน่วยงานใดที่ทำงานซ้ำซ้อนระหว่างผู้กำหนดนโยบาย กับผู้ปฏิบัติ คือ ผู้ที่นำนโยบายไปใช้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องแยกให้ชัดเจน อย่างกรณีกลุ่มประกันสุขภาพ ทำหน้าที่ทั้งตรวจสอบสถานะทางการเงิน การประเมินค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่างๆ ซึ่งซ้ำซ้อนกันเอง จึงมีความคิดให้แบ่งหน้าที่เป็น 2 ส่วน คือ ฝ่ายปฏิบัติในการนำนโยบายทางด้านการเงินไปใช้ หรือการทำหน้าที่ตรวจสอบสถานะการเงินต่างๆ ส่วนอีกฝ่ายต้องเป็นผู้ออกกฎเกณฑ์ หรือแนวทางในการควบคุมค่าใช้จ่าย  โดยให้ตั้งเป็นสำนักงานพัฒนานโยบายการเงินการคลัง ขึ้น โดยในส่วนนี้จะต้องทำงานร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ซึ่งมีอนุกรรมการการเงินการคลัง  ต้องทำงานควบคู่กันไป

โดยสำนักพัฒนานโยบายการเงินการคลัง จะทำหน้าที่คิดต้นทุนหรือราคาซื้อ กับราคาขายให้แก่โรงพยาบาลในสังกัดทั้งหมด เพื่อให้โรงพยาบาลรู้ต้นทุนจริงของตัวเอง นอกจากนี้ จะทำระบบการเงินตอบแทนกรณี โรงพยาบาลบริหารรายโรคดี เช่น การผ่าตัดไส้ติ่ง หากผ่าตัดดีไม่มีโรคแทรกซ้อน จะได้รับเงินรายโรคเพิ่มจาก 10,000 บาท  เป็น 10,500 บาท หรือ 11,000 บาท  แต่หากมีโรคแทรกซ้อนจะต้องรับผิดชอบเอง  

“ทั้งหมดเป็นแนวทางให้กรม กอง ต่างๆ ไปพิจารณา ว่า มีหน่วยงานไหนทำงานซ้ำซ้อน เพราะโดยหลักกรม กอง จะต้องทำหน้าที่ด้านวิชาการเป็นหลัก ไม่ใช่เป็นผู้ปฏิบัติหรือผู้ให้บริการด้วย ไม่เหมาะสม โดยให้เวลา 2 สัปดาห์และนำเข้าที่ประชุมผู้บริหารพิจารณาอีกครั้ง เพื่อเริ่มดำเนินการจริงในเดือนตุลาคม” นพ.ประดิษฐ กล่าวและยกตัวอย่างว่าการตั้งศูนย์บริการต่างๆ  เช่น ศูนย์อนามัยแม่และเด็ก ของกรมอนามัย  ศูนย์สุขภาพจิตของกรมสุขภาพจิต  ตรงนี้ต้องแยกออกมา โดยอาจย้ายมาอยู่สำนักงานปลัดกระทรวงฯ 

สรุปคือ แนวทางการปฏิรูป จะแบ่งเป็น 1.ผู้ซื้อบริการ(Purchaser) ซึ่งก็คือสปสช. ทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อบริการสาธารณสุขสำหรับประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายใต้ตัวชี้วัดที่ สธ.กำหนด เพื่อนำมาตั้งเป็นผลลัพธ์จากคนขายบริการหรือรพ.   ซึ่งตัวชี้วัดจะจัดทำโดย สธ. เป็นผู้กำหนด ซึ่งสธ.จะแยกเป็น 2 ส่วน  1.ผู้กำหนดนโยบาย (National Health Authority) และ 3.ส่วนที่เป็นผู้ปฏิบัติ (Service Provider) หรือโรงพยาบาลต่างๆ นั่นเอง  โดยในส่วนผู้กำหนดนโยบายนั้น จะมีกรมมาทำหน้าที่ออกนโยบาย หรือทำข้อมูลวิชาการต่างๆ  ในฐานะที่เป็นกรมวิชาการ(Health Regulator) โดยผู้ปฏิบ้ติ หรือโรงพยาบาลต่างๆ ต้องปฏิบัติตามนั่นเอง

เกี่ยวกับการตั้งสำนักงานพัฒนานโยบายการเงินการคลัง ในมุมมองของผู้ปฏิบัติอย่างโรงพยาบาลต่างๆ คิดอย่างไร

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ  ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) และแพทย์ประจำโรงพยาบาลสุรินทร์ เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ โดยเฉพาะการปรับหน้าที่กลุ่มประกันสุขภาพขึ้นให้เป็นสำนักงานพัฒนานโยบายการเงินการคลัง เนื่องจากเดิมทีหน่วยงานนี้สำคัญมาก เพราะต้องทราบข้อมูลสถานะการเงินต่างๆ  แต่ที่ผ่านมาโรงพยาบาลจะส่งข้อมูลขึ้นตรงให้กับสปสช. ซึ่ง สปสช.ก็ไม่ส่งข้อมูลกลับมาให้กลุ่มประกันสุขภาพ ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องทางการเงิน กระทรวงฯก็แทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพราะไม่รู้ข้อมูลนั่นเอง ดังนั้น หากมีการทำงานปรับรูปแบบใหม่ก็จะเป็นเรื่องดีมาก ถือเป็นยุคดีก็ว่าได้

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ” อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช กลับเห็นตรงข้าม เนื่องจากกลุ่มประกันสุขภาพ ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ และประเมินสถานะการเงินของแต่ละโรงพยาบาลอยู่แล้ว การจะตั้งสำนักงานพัฒนานโยบายการเงินการคลังอีก ไม่เห็นความจำเป็น ที่สำคัญเดิมทีกลุ่มประกันสุขภาพและ สปสช.ก็ทำงานร่วมกัน ดังนั้น การที่ตั้งสำนักงานใหม่ขึ้นมา ต้องระบุภารกิจให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นก็จะอดคิดไม่ได้ว่าจะเป็นการครอบงำเกินไป ไม่มีความเป็นอิสระหรือไม่