ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'พนักงานมหาวิทยาลัย'ครวญไม่ได้สิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ วอน สธ.-สปสช. หนุนตั้ง'กองทุนรักษาพยาบาล'เลียนแบบข้าราชการส่วนท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ นำตัวแทนกว่า 20 คน เข้าพบ นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อหารือถึงแนวทางการตั้งกองทุนรักษาพยาบาลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย เนื่องจากต้องการให้ได้สวัสดิการเหมือนกองทุนค่ารักษาพยาบาลข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัว หรือพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

รศ.วีรชัย เปิดเผยว่า เมื่อปี 2542 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้จัดจ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบ ส่งผลให้บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเดิมมีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนต้องปรับเปลี่ยนสถานะตั้งแต่นั้น แต่ยังมีบางส่วนที่เป็นข้าราชการเดิมและถูกปรับสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ก็ยังคงได้รับสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเดิม เพียงแต่กลุ่มที่เป็นนักเรียนทุน ซึ่งต้องบรรจุใหม่จะไม่ได้สิทธิรักษาแบบข้าราชการ แต่จะเป็นสิทธิรักษาตามกองทุนประกันสังคม ซึ่งยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก

"จากข้อมูลบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา (สกอ.) มีจำนวน 165,341 คน แบ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ 16 แห่ง 63,415 คน มหาวิทยาลัยในกำกับ สกอ.14 แห่ง 59,848 คน มหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่ง 28,592 คน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง 13,486 คน ทั้งนี้ ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยมี 65,992 คน คิดเป็นร้อยละ 39.91 ของบุคลากรทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หากเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ที่มีโรงเรียนแพทย์อยู่ในสังกัด มักไม่มีปัญหา เพราะใช้สิทธิรักษาได้ แต่พนักงานมหาวิทยาลัยที่ไม่มีโรงเรียนแพทย์ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฎทั้ง 40 แห่ง จะมีปัญหา เพราะไม่ได้สิทธิรักษาแบบข้าราชการ" รศ.วีรชัยกล่าว และว่า เบื้องต้นมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งหมดขอมีกองทุนสิทธิรักษาพยาบาลเหมือนพนักงานส่วนท้องถิ่น หรือพนักงาน อปท. โดยมี สปสช.เป็นผู้บริหารจัดการ ซึ่งจากการหารือกับ สธ. และ สปสช. เบื้องต้นจะตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งกองทุนสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย และในวันที่ 6 สิงหาคม จะขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการ สธ. เพื่อยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือในเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่พนักงานมหาวิทยาลัยจะให้ สปสช.บริหารและจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลขัดกับกฎระเบียบของมหาวิทยาลัย หรือไม่ รศ.วีรชัยกล่าวว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพนักงานมหาวิทยาลัยไม่ได้ปิดกั้น แต่ในส่วนของพนักงานมหาวิทยาลัยอื่นๆ จะเข้าร่วมหรือไม่ต้องสอบถามอีกครั้ง

ด้าน นพ.วินัยกล่าวว่า ต้องมีการสอบถามพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศว่า มีผู้สนใจเข้ากองทุนมีจำนวนเท่าใด และเงินที่จะมาใช้ในกองทุนจะมาจากแหล่งใด--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน  วันที่ 1 สิงหาคม 2556