ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -สโลแกน “ยืดอกพกถุง” เริ่มติดหูสังคมไทยเมื่อประมาณปี 2550 ด้วยความพยายามของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ต้องการสร้างค่านิยมให้คนไทยใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ โดยมีเป้าประสงค์คือลดความเสี่ยงจากเชื้อเอชไอวี (เอดส์) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่น

ถัดมาอีก 4 ปี คือในปี 2554 สโลแกน “รักปลอดภัย ถุงยางอนามัยเอาอยู่” ถูกนำมาใช้รณรงค์ช่วงวาเลนไทน์ กระทั่งล่าสุดคือ “หญิงไทย ต้องพร้อมใช้ถุงยาง”

ทุกสโลแกนล้วนแฝงด้วยความพยายามปรับเปลี่ยนทัศนคติคนไทยให้เห็นการใช้ถุงยางอนามัยเป็นเรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องน่าอาย อย่างไรก็ดีแม้สถานการณ์การใช้ถุงยางอนามัยในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น ทว่าข้อเท็จจริงของการรณรงค์มิได้ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง

หนึ่งในตัวชี้วัดที่จับต้องได้คือจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังปรากฎในแต่ละปี จากสถิติของกรมควบคุมโรค พบว่าในปี 2555 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่มากกว่า 9,000 คน

หากย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2550-2554 จะพบว่าความชุกของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีสูงขึ้นเป็น 2 เท่า โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและวัยเริ่มทำงานอายุระหว่าง 15-24 ปี พบว่าความชุกการติดโรคทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นจาก 55: 1 แสนประชากร เป็น 90 : 1 แสนประชากร

ที่สำคัญ มีประชาชน 46.9% ที่ให้คำตอบว่าใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ทว่าคำตอบเหล่านั้นเป็นจริงหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

สำนักข่าว Hfocus มีโอกาสสอบถามความคิดเห็นของกลุ่มวัยรุ่นชายหญิง ซึ่งส่วนใหญ่สะท้อนมาในทิศทางเดียวกันคือ ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าถึงถุงยางอนามัยแต่มีความเขินอายที่จะซื้อ เนื่องจากตำแหน่งที่วางขายในร้าน โดยเฉพาะที่ร้านสะดวกซื้อนั้น ทั้งหมดวางขายอยู่ในเป็นบริเวณประตูทางเข้า-ออกร้าน หรือหน้าเคาน์เตอร์จ่ายเงิน

แน่นอนว่าบริเวณดังกล่าวมักจะมีคนรอคิวยาวเหยียดเพื่อชำระเงินซื้อสินค้า กลุ่มวัยรุ่นหญิงชายที่ต้องการซื้อถุงยางอนามัยจะต้องเผชิญกับสายตาคนรอบข้างที่จับจ้อง การหยุดเลือกซื้อหรือตัดสินใจหยิบถุงยางอนามัยสักกล่องขึ้นมาพิจารณาหรืออ่านฉลากเป็นเรื่องที่สร้างความลำบากใจอย่างมาก

แม้แต่การซื้อตามร้านขายยาหรือร้านขายของชำ ผู้ซื้อก็มีความรู้สึกกระอักกระอ่วนไม่น้อย บางส่วนต้องเจอกับสายตาดูแคลนของคนขายที่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการมีเพศสัมพันธ์

ในส่วนของราคานั้น เป็นอีกหนึ่งกำแพงที่สกัดกั้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจนไม่สามารถเข้าถึงถุงยางอนามัยได้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ราคาต่อกล่องของถุงยางอนามัยที่วางขายทั่วไปเริ่มตั้งแต่ 30 บาทไปจนถึงหลักร้อย หากเทียบเคียงกับค่าแรงขั้นต่ำจะพบว่า เป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่า 10% ของรายได้

สุภัทรา นาคะผิว ประธานมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เสนอว่า รัฐบาลควรทำให้ราคาถุงยางอนามัยถูกลง เพื่อให้ทุกชนชั้นในสังคมสามารถมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยได้ หรือรัฐบาลควรมีนโยบายการแจกจ่ายถุงยางอนามัยให้ครอบคลุมมากกว่านี้ ปัจจุบัน รัฐบาลแจกจ่ายถุงยางอนามัยฟรีประมาณ 40 ล้านชิ้นต่อปี แต่ความต้องการถุงยางอนามัยจริงๆนั้นอยู่ที่มากกว่า 270 ล้านชิ้นต่อปี (ประมาณการจากฐานประชากรชายวัยเจริญพันธุ์ที่ประมาณ 20-25 ล้านคน)

“ถุงยางอนามัยคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลควรจัดสรรให้ประชาชน” คุณสุภัทรากล่าว

รายงานข่าวจากสธ. ระบุว่า ปัจจุบัน สธ.ใช้วิธีการประมูลผู้จัดหาถุงยางอนามัยเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ต้นทุนการผลิตถุงยางอนามัยอยู่ที่ 1-1.50 บาทต่อชิ้น หากจะขยายปริมาณถุงยางอนามัยแจกฟรีให้ครอบคลุมทุกครัวเรือน เชื่อว่ารัฐบาลมีกำลังด้านงบประมาณ แต่ยังขาดการเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก ถุงยางอนามัยเกือบทั้งหมดผลิตในประเทศไทย แต่ราคาถุงยางอนามัยบางยี่ห้อในประเทศไทยกลับมีราคาไม่ต่างจากราคาถุงยางอนามัยในทางประเทศตะวันตก

สุภัทรา เล่าอีกว่า ก่อนหน้านี้ ทางภาคประชาชนได้มีการพูดคุยกับ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล อดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ถึงแนวทางการเพิ่มการเข้าถึงถุงยางอนามัยแก่คนไทย ซึ่งนพ.วิทิตประมาณการณ์ว่าอภ.มีศักยภาพในการผลิตถุงยางอนามัยและขายออกสู่ท้องตลาดในราคา 2 บาทต่อชิ้น โดยที่อภ.ไม่ขาดทุน อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้อำนวยการคนใหม่ที่จะเล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้หรือไม่

ด้าน นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เชื่อว่า รัฐบาลมีศักยภาพในการจัดหาถุงยางอนามัยให้ประชาชนได้มากกว่า 40 ล้านชิ้นต่อปี เนื่องจากถุงยางอนามัยมีจำนวนจำกัด จึงทำให้แจกจ่ายได้เฉพาะกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่นกลุ่มผู้ขายบริการทางเพศ กลุ่มชายรักชายที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย และกลุ่มแรงงาน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ทุกคนมีความเสี่ยงการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์

นอกจากนี้ ระบบการบริหารของรัฐบาลสร้างข้อจำกัดในการแจกจ่ายถุงยางอนามัย เช่น ในบางโรงพยาบาลมีข้อบังคับให้ผู้ขอบริการถุงยางอนามัยเซนต์ชื่อรับของ จึงทำให้ผู้มารับบริการโดยเฉพาะวัยรุ่นไม่กล้ามารับถุงยางอนามัย

การแจกถุงยางอนามัยโดยมีฐานเป็นโรงพยาบาล ทำให้ถุงยางอนามัยกระจายไม่ทั่วถึง เพราะผู้ใช้บริการต้องเดินทางไปให้ถึงที่ และยิ่งหากเป็นโรงพยาบาลระดับชุมชน หรือโรงพยาบาลขนาดเล็กที่สมาชิกชุมชนรู้จักกันทั่วถึง ผู้มาขอรับถุงยางอนามัยอาจรู้สึกไม่สะดวกใจในการมาขอใช้บริการ

นิมิตร์ เสนอว่า รัฐบาลควรมีการบริหารร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น ร่วมงานกับไปรษณีย์ไทยในการจัดส่งถุงยางอนามัยถึงบ้าน เพื่อให้สมาชิกแต่ละครัวเรือนเข้าถึงถุงยางอนามัยโดยปราศจากข้อจำกัดด้านทัศนคติทางสังคม