ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "เสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาเครือข่ายสาธารณสุขอำเภอ เพื่อกลไกการกำกับดูแล (Regulation) ระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมระดับภาคใต้" หนุนภาคีเครือข่ายเข้มแข็งภาคสาธารณสุขอำเภอ ขับเคลื่อนอำเภอสุขภาพดี 80 ปียังแจ๋ว หวังให้ทุกกลุ่มวัยสุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี ในทุกพื้นที่

น.พ.ธีรพล โตพันธานนท์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "เสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาเครือข่ายสาธารณสุขอำเภอ เพื่อกลไกการกำกับดูแล (Regulation) ระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมระดับภาคใต้" ณ โรงแรมมุดาราบีชวิลล่า แอนด์ สปารีสอร์ท จ.พังงา เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า การดำเนินงานอำเภอสุขภาพดี 80 ปียังแจ๋ว เป็นเป้าหมายหลักในการส่งเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัยควบคู่ไปกับการพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งสาธารณสุข ท้องถิ่น การศึกษา และภาคประชาชน โดยมีสาธารณสุขระดับจังหวัดและระดับอำเภอเป็นแกนนำเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะสาธารณสุขอำเภอ นับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการอำนวยการส่งเสริมและสนับสนุนภาคี ให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและพัฒนาแก้ไขปัญหาสุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยง เพิ่มปัจจัยเอื้อต่อการมีสุขภาพดีภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่สอดรับกับบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยใช้สถานการณ์ข้อมูลสุขภาพจากการเฝ้าระวังในประชาชนทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนา

น.พ.ธีรพล กล่าวว่า พื้นที่ภาคใต้ตอนบนมีการขับเคลื่อนการพัฒนาอำเภอสุขภาพดี 80 ปียังแจ๋ว ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนมาตั้งแต่ปี 2552 มีอำเภอที่เป็นแบบอย่างการพัฒนาอำเภอสุขภาพดี 80 ปียังแจ๋ว จำนวน 19 อำเภอ อาทิ อ.ละอุ่น จ.ระนอง, อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา, อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร, อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี, อ.เมือง จ.ภูเก็ต, อ.ลำทับ จ.กระบี่ และ อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น สำหรับข้อมูลสุขภาพตามกลุ่มวัยในพื้นที่ภาคใต้ล่าสุดพบว่า ด้านแม่และเด็กปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพคือเด็กทารกแรกคลอดน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม มากกว่า 7% การขับเคลื่อนให้ชมรมสายใยรักแห่งครอบครัวและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการจะช่วยให้ทารกแรกคลอดมีสุขภาพดี มีน้ำหนักมากกว่า 2,500 กรัม และส่งผลให้อัตราการกินนมแม่อย่างเดียวเพิ่มขึ้น

"สุขภาพวัยเรียนพบยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ปัญหาที่พบคือเด็กวัยเรียนอายุ 12 ปี ไม่มีฟันแท้ผุ 45.6% ต่ำกว่าเป้าหมายคือมากกว่า 50% โดยเฉพาะจังหวัดพังงาและสุราษฎร์ธานี พบ 30.3% และ 40.3%  ตามลำดับ ส่วนปัญหาเด็กอ้วนพบในจังหวัดภูเก็ต 15.1% แต่เด็กได้รับการเฝ้าระวังด้านพฤติกรรมสุขภาพค่อนข้างดี เนื่องจากภาคีมีความเข้มแข็งทั้งในเรื่องของชมรมเด็กไทยทำได้ผ่านมาตรฐานคุณภาพ 29.2% มีโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับทองถึง 73.4% ระดับเพชร จำนวน 23 โรงเรียน โดยในปี 2556 มีการรับรองมาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชรเพิ่มอีก 24 โรงเรียน ได้แก่ จังหวัดกระบี่ 10 แห่ง พังงา 2 แห่ง ภูเก็ต 2 แห่ง ระนอง 1 แห่ง ชุมพร 2 แห่ง สุราษฎร์ธานี 5 แห่ง และนครศรีธรรมราช 2 แห่ง" น.พ.ธีรพล กล่าว

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อว่า ด้านพฤติกรรมสุขภาพวัยทำงานพบอัตราการคัดกรองสภาวะเสี่ยงมะเร็งเต้านม 36.08% มะเร็งปากมดลูก 58.38% เบาหวานและความดันโลหิตสูง 30.08% ถือว่าในภาพรวมยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 80% 60% และ 90% ตามลำดับ ส่วนสุขภาพผู้สูงอายุพบมีฟันใช้เคี้ยวได้อย่างเหมาะสม 53.24% มีดัชนีมวลกายและรอบเอวอยู่ในเกณฑ์ปกติ 74.71% ทั้งนี้ ด้านสุขาภิบาลอาหารพบว่าดำเนินการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ 80% ทั้งเป้าหมายอาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) 82.9% ตลาดสด 88.2% แสดงให้เห็นความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะภาคสาธารณสุข ภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน ที่สามารถดำเนินการร่วมกับกรมอนามัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"อำเภอสุขภาพดี 80 ปียังแจ๋ว จึงเป็นเป้าหมายร่วมกันที่จะดำเนินงานพัฒนาระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งพัฒนาระบบเฝ้าระวังสภาวะสุขภาพของประชาชนในอำเภอทุกกลุ่มวัย เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมาย กรมอนามัยในปี 2556 ที่ได้กำหนดตัวชี้วัดในการเฝ้าระวังสุขภาพ อาทิ ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัมไม่เกินร้อยละ 7 ให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนเพิ่มขึ้น 2.5% เด็ก 0-5 ปี มีพัฒนาการทางสติปัญญาสมวัย 90% เด็กอายุ 3 ปี ปราศจากโรคฟันผุไม่น้อยกว่า 41% เฝ้าระวังนักเรียนประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 ขึ้นไป ให้มีส่วนสูงตามเกณฑ์ 80% รูปร่างสมส่วน 77% นักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไป ปราศจากโรคฟันผุไม่น้อยกว่า 45% ผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปมีรอบเอวปกติในผู้ชาย 80% ผู้หญิง 50% กลุ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวานป่วยเป็นเบาหวานไม่เกิน 5% และผู้สูงอายุมีฟันใช้เคี้ยวอาหารได้อย่างเหมาะสมไม่น้อยกว่า 52%" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด