ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คนทำงานที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในสำนักงาน หากคิดว่า แค่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แล้วเกิดอาการปวดล้าบริเวณต้นคอ หลัง ไหล่ หรือข้อนิ้ว ข้อมือเป็นเรื่องธรรมดาละก็อาจจะต้องคิดใหม่ เพราะนั่นอาจเข้าข่ายอาการที่เรียกว่า WMSDs Work-Related Musculoskeletal Disorders หรือแปลได้ว่า อาการกล้ามเนื้อปวดล้า จากการทำงาน ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดาอีกต่อไปแล้ว

น.พ.ภรชัย อังสุโวทัย รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ และศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกระดูกและข้อ โรงพยาบาลนครธน กล่าวในงานให้ความรู้เชิงวิชาการ เรื่อง"ห่างไกลกล้ามเนื้อปวดล้าจาก WMSDs เพื่อสุขภาพที่ดีของหนุ่มสาวออฟฟิศ"จัดโดยบริษัท อังกฤษตรางู (แอล.พี.) จำกัด ร่วมกับ โรงพยาบาลนครธน ว่า โรคนี้ส่วนใหญ่ก็มาจากการทำงานในท่าเดิมๆ ซ้ำไป ซ้ำมา เป็นเวลานาน ซึ่งกลุ่มที่มาพบแพทย์บ่อยที่สุดก็จะเป็นผู้หญิง เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่จะทำงานอยู่แต่ในออฟฟิศ และอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา หนำซ้ำยังนั่งทำงานด้วยท่าเดิมๆ

ผู้ที่เข้าข่ายเสี่ยงอีกก็เช่น คนทำงานในแผนกต้อนรับที่จะต้องยืนอยู่ที่เดิมตลอดเวลา แผนกแคชเชียร์ที่จะต้องเอื้อมมือหยิบของ และกดเงินซ้ำๆ เมื่อใช้งานบริเวณกล้ามเนื้อนั้นๆซ้ำๆ มากๆ ก็เกิดอาการกล้ามเนื้อปวดล้าจากการทำงาน

"นอกจากนั้น สิ่งแวดล้อมก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เช่น การทำงานในสถานที่คับแคบ หรือโต๊ะทำงานอยู่ในระดับที่ไม่เหมาะสมกับร่างกาย อุณหภูมิ และแสงสว่างในห้องไม่เหมาะสม อีกอย่างคือความเครียด เพราะเมื่อเกิดอาการเครียดสารบางอย่างที่หลั่งในสมอง จะส่งสัญญาณมาที่กล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อ หดตัว เกร็งตัว เกิดอาการเจ็บขึ้นมา"

น.พ.ภรชัยกล่าวว่า เหตุที่ WMSDs ไม่ใช่เรื่องธรรมดาอีกต่อไป เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง เนื่องจากผู้ที่ทำงานเกิดความรู้สึกปวดล้า ไม่สบายตัว บางครั้งต้องหยุดงานเพื่อไปรักษาตัวและที่สำคัญ ต้องใช้ค่ารักษามหาศาล จากการสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่า ตัวเลขค่ารักษาอาการดังกล่าวสูงถึงปีละ 15-20 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับประเทศไทย เงินกองทุนประกันสังคมที่ใช้ไปกับการรักษาอาการนี้อยู่ในอันดับ 3-4 รองจากโรคอื่นๆซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ค่อยตรงกับข้อมูลจริงนัก เพราะคนไทยไม่ค่อยไปพบแพทย์ แต่มักจะซื้อยารักษาตัวเอง รอจนอาการหนักจริงๆ ค่อยไป จึงไม่สามารถเก็บตัวเลขที่แท้จริงได้ จึงคิดว่าเป็นเรื่องระดับประเทศชาติแต่ประเทศไทยเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก

น.พ.ภรชัย จึงแนะวิธีป้องกันไว้ด้วยว่า ควรจัดการที่ 3 ปัจจัยหลักคือ 1. ด้านเครื่องมือ ควรมีการออกแบบเครื่องมือเครื่องจักรรวมถึงการออกแบบลักษณะ และวิธีการทำงาน ให้เกิดความเหมาะสมและสะดวกกับผู้ใช้ให้มากที่สุด เพื่อให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น เร็วขึ้น และปลอดภัยมากขึ้น 2. ด้านมนุษย์ ควรปรับเปลี่ยนลักษณะท่าทางในการทำงานให้ถูกวิธี เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อเกิดอาการล้า การฝึกยืดกล้ามเนื้อ การเพิ่มพลังกล้ามเนื้อ การผ่อนคลายความเครียด และรู้จักช่วงเวลาพัก เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย และ 3. ด้านสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ขนาดของห้องทำงาน แสงสว่างภายในห้อง ระดับความดังของเสียงบริเวณที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งอุณหภูมิห้อง ควรจัดให้เหมาะสมกับการทำงาน

ในด้านการรักษานั้น กรณีเพิ่งเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อแบบเฉียบพลัน สามารถใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของยาในกลุ่มต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไดโคลฟีแนก (Diclofenac) เพื่อคลายอาการปวดและอักเสบของกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งมีมากมายหลายผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด ในปัจจุบันนี้บางผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของเมนทอลที่ให้ความเย็นเพิ่มเข้าไป โดยความเย็นสามารถบรรเทาอาการปวดแบบเฉียบพลันได้ พร้อมมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เช่น กลิ่นลาเวนเดอร์ ทำให้พกพาไปใช้ได้ทุกที่ ทุกเวลา

"หากปวดมากสามารถใช้ยาทาควบคู่กับยาชนิดรับประทานได้ แต่ไม่ควรรับประทานยาในปริมาณมาก และติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะยามีผลระคายเคืองกระเพาะอาหาร หรือใช้ยาทาประกอบกับการรักษาโดยกายภาพบำบัด แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาด้วยการปรับลักษณะท่าทางให้เหมาะสมในการทำงาน เพื่อป้องกันอาการปวดหากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะถ้าละเลยหรือไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องแล้ว อาจเกิดเป็นโรคเรื้อรังตามมาได้ เช่น เส้นเอ็นยึดกระดูกอักเสบ อาการปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ การบวมอักเสบของข้อต่อที่หัวไหล่ และพังผืดทับเส้นประสาทข้อมือ ทำให้เกิดอาการมือชา หากกายภาพบำบัดเป็นเวลานานแล้วยังไม่หาย อาจต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด"

ที่มา: หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ วันที่ 3 - 5 ส.ค. 2556--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง