ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผอ.สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากกรณีปัญหาสารตกค้างในข้าวสารบรรจุถุงนั้น นอกจากการแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 2) ตามพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 โดยเพิ่มชนิดและปริมาณสารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตร ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วนั้น มาตรการต่อมาคือ การให้ผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนตามมาตรฐานการผลิตอาหารที่ดีขั้นพื้นฐาน (Primary GMP) จากเดิมให้ผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนภายในปี 2558 แต่เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. ได้สั่งการให้เร่งรัดกระบวนการดังกล่าว อย.จึงให้ผู้ประกอบการข้าวสารบรรจุถุงทั้งหมดต้องมาขึ้นทะเบียนเพื่อขอเลขที่ อย. ภายในวันที่ 1 ม.ค.2557

"การขอขึ้นทะเบียนทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน เช่น เรื่องของสถานที่ เครื่องจักรอุปกรณ์ บุคลากร หรือเกณฑ์ของสารรมข้าว เป็นต้น โดย อย.จะออกหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรมีหลักเกณฑ์ในการรมข้าวทั้งเรื่องผู้ดำเนินการ และสารเคมี แต่ควบคุมในส่วนการส่งออกเท่านั้น ดังนั้น การกำหนดให้ผู้ประกอบการขอเลข อย.จะทำให้ทราบว่ามีผู้ประกอบการรายใดบ้าง และจะผ่านการตรวจประเมินที่เข้มงวด เชื่อว่าจะช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพของข้าวสารบรรจุถุงเพิ่มขึ้น" ผอ.สำนักอาหารกล่าว

น.ส.ทิพย์วรรณกล่าวต่อว่า ขณะนี้ อย.กำลังเร่งร่างมาตรฐานเพื่อใช้ในกรณีของข้าวโดยเฉพาะ โดยมาตรฐานดังกล่าวจะมีรายละเอียดทุกกระบวนการที่ได้มาตรฐานในส่วนของข้าวบรรจุถุง เช่น การรมข้าว สารเคมี เป็นต้น โดยอาจกำหนดให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด เมื่อ อย.ออกเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ถ้าตรวจพบว่าข้าวมีสารตกค้างเกินมาตรฐานจะถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งจะเร่งประกาศให้ทันภายในส.ค.นี้ ให้มีผลในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ก่อนม.ค. 2557

ที่มา --ข่าวสด ฉบับวันที่ 5 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--