ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวอภิปราย "การคุ้มครองผู้บริโภคกับการแพทย์ทางเลือก" ภายในสัมมนา เรื่อง "รักษาทางเลือก เรื่องจริงหรือค้ากำไร" จัดโดยคณะกรรมาธิการสาธารณสุข ร่วมกับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ว่า จากการที่ปัจจุบันมีแพทย์ทางเลือกเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีการตรวจสอบ ควบคุมอย่างจริงจัง ซึ่งกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ควรเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ โดยบทบาทกรมควรส่งเสริมคุ้มครองการแพทย์แผนไทย ส่วนการแพทย์ทางเลือกต้องทำหน้าที่ควบคุม กำกับ

"ช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะออกมาควบคุมกำกับเรื่องการแพทย์ทางเลือก สามารถใช้กลไกหน่วยงานหรือกฎหมายที่มีอยู่มาดูแลในเรื่องนี้ได้ โดยใช้ พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 ที่กำหนดโดยรวมว่า เครื่องมือแพทย์ หมายถึงสิ่งที่ใช้ใส่เข้าไปในร่างกายมนุษย์หรือสัตว์ สำหรับใช้วินิจฉัย ป้องกัน ติดตาม บำบัด บรรเทา หรือรักษาโรคหรือการบาดเจ็บ รวมถึงการประคับประคองหรือช่วยชีวิต เป็นต้น หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาใช้ก่อน เพื่อให้เท่าทันกับการแพทย์ทางเลือกที่เข้ามาให้บริการประชาชน" นพ.จักรธรรมกล่าว

นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า หน้าที่หนึ่งของกรม คือ กำหนด พัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน และเสนอแนะเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านไทย และการแพทย์ทางเลือก แต่กฎหมายเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีอยู่ราว 14 ฉบับ แบ่งเป็น 3 ด้านหลัก คือ ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านสถานประกอบกิจการ และด้านผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งเกือบทุกฉบับไม่มีการระบุให้ผู้แทนจากกรมและการแพทย์ทางเลือกเข้าร่วมเป็นกรรมการตามกฎหมาย ยกเว้นเพียง พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะและพ.ร.บ.วิชาชีพการแพทย์แผนไทยเท่านั้น ทำให้ขาดความรู้ที่จะคัดกรองในเรื่องการแพทย์ทางเลือกในส่วนที่ได้ผลมาใช้ประโยชน์

ที่มา --ข่าวสด ฉบับวันที่ 6 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--