ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -หลังจากมีการจัดตั้ง “กองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัว” เพื่อให้ได้ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยมี สปสช.บริหารจัดการแทนท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้พนักงานกลุ่มนี้ได้รับสิทธิสะดวกขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไปงานนี้ทำให้พนักงานมหาวิทยาลัย ออกโรงขอสิทธิรักษาพยาบาลดังกล่าว และปฏิเสธที่จะไม่ใช้สิทธิประกันสังคม

หลังจากรัฐบาล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)จัดตั้ง “กองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัว” ที่มีกว่า 5.3 แสนคน เพื่อให้บุคคลดังกล่าวที่มีสิทธิตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินสวัสดิการการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 ได้ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยมี สปสช.บริหารจัดการแทนท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้พนักงานกลุ่มนี้ได้รับสิทธิสะดวกขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป

งานนี้ทำให้พนักงานมหาวิทยาลัย ออกโรงขอสิทธิรักษาพยาบาลดังกล่าว และเตรียมขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ หลังจากได้เข้าพูดคุยกับ นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาถึงความเป็นไปได้ในการตั้งคณะทำงานศึกษาการตั้งกองทุนดังกล่าว

รศ.ดร. วีรชัย พุทธวงศ์  เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ อธิบายถึงข้อจำเป็นของการเรียกร้องครั้งนี้ ว่า  สิ่งที่ออกมาเรียกร้อง เพราะประสงค์สิทธิการรักษาพยาบาลที่เทียบเท่าอาจารย์ข้าราชการคนอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนทุนรัฐบาลที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ในช่วงปี 2540 -2542 ทุกคนเข้าใจว่า เมื่อกลับมาใช้ทุนการศึกษาทุกคนจะได้รับราชการ แต่เมื่อมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ปี 2542 ที่ยกเลิกการบรรจุข้าราชการใหม่ทำให้ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม

“ระยะเวลาเรียนมีทั้ง 3 ปี 5 ปี และ 6 ปี ทำให้นักเรียนทุนกลับประเทศไม่ทันมติครม.ปี 2542 จึงต้องแปรสภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ความผิดของพวกเขา เพราะสาเหตุที่ต้องรับทุนการศึกษา  นอกจากฐานะครอบครัวที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ต้องรับทุนแล้ว ส่วนหนึ่งครอบครัวก็อยากให้เป็นข้าราชการ แต่เมื่อมีมติครม. ก็เลยต้องเป็นเช่นนี้”

สำหรับจุดด้อยของพนักงานมหาวิทยาลัย ในเรื่องสิทธิรักษาพยาบาลนั้น ดร.วีรชัย ระบุว่า ย่อมไม่เท่ากับข้าราชการ และความไม่เป็นธรรมของสัญญาจ้าง ซึ่งมหาวิทยาลัยสามารถกำหนดสัญญาจ้างเองได้ เดิมทีเป็นปีต่อปี แต่ขณะนี้หลังจากมีการเรียกร้องปรับเพิ่มเป็น 3 ปี 5 ปี และมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ก็เกษียณอายุ ซึ่งจริงๆ แล้วมีข้อเสนออยากให้ขยายอายุถึง 60 ปี และให้มีการประเมินออกกรณีคนที่ไม่มีศักยภาพในการทำงานจริงๆ คือ เราจะไม่เอาเปรียบรัฐ แต่ขณะเดียวกันก็อยากให้สนับสนุนในเรื่องสิทธิรักษาพยาบาลที่เทียบเท่าข้าราชการคนอื่นๆ ด้วย

“เกิดคำถามมานานในกลุ่มพวกเราว่า เพราะอะไรถึงให้พนักงานมหาวิทยาลัยไปอยู่กองทุนประกันสังคม เพราะจริงๆแล้วสิทธิในการรักษาเทียบไม่ได้กับข้าราชการ ยิ่งบัตรทองก็ไม่ได้ เพราะบัตรทองมีการพัฒนาตัวเองจนดีกว่ามาก ส่วนประกันสังคม มีความเหลื่อมล้ำในแง่สิทธิประโยชน์หลายอย่าง เช่น  ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือการใช้หัตถการทางการแพทย์ต่างๆก็ต้องเป็นไปตามสิทธิ มีเงื่อนไขเยอะ แต่ข้าราชการกับบัตรทองไม่ต้อง ที่สำคัญสิทธิข้าราชการและบัตรทองยังใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้หลังเกษียณอีก แต่ประกันสังคมไม่คุ้มครอง ซึ่งในมุมมองของพนักงานมหาวิทยาลัยมองว่า พวกเราก็เป็นข้าราชการแต่กลับถูกให้อยู่ในกองทุนอื่นก็ควรได้รับสิทธิที่เท่ากันด้วย แบบนี้ไม่เป็นธรรม” รศ.ดร.วีรชัย กล่าว

“สำหรับนักเรียนทุนที่แปรสภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยนั้นน่าจะมีประมาณกว่า 30,000 คน ซึ่งในเรื่องของปัญหาสิทธิรักษาพยาบาลที่ไม่เท่าเทียมสิทธิข้าราชการนั้น ไม่เพียงแต่นักเรียนทุนที่ถูกปรับเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย แต่ยังมีพนักงานมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็ต้องการสิทธิรักษาพยาบาลเหมือนข้าราชการเช่นกัน เมื่อไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ แต่ต้องเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแทนนั้น สิทธิรักษาพยาบาลจึงถูกให้ไปอยู่ในกองทุนประกันสังคมแทน”

รศ. ดร. วีรชัย ขยายความว่า พนักงานมหาวิทยาลัย ตาม พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มาตรา 3 ที่ให้เพิ่มคำนิยามของพนักงานมหาวิทยาลัยใน มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 คือบุคคลที่ได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา

“ในเรื่องสวัสดิการการรักษาพยาบาลพบว่า พนักงานมหาวิทยาลัยเกือบทั้งหมดถูกผลักเข้าไปใช้สิทธิประกันสังคม ซึ่งยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก  และเมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 9 (3)  คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามอำนาจใน ม. 9 สามารถบริหารจัดการให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ใช่ข้าราชการได้รับบริการสาธารณสุขได้แล้วแต่กรณี โดยอาจกำหนดในรูปของการประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา และเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสามบังคับแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐแล้วแต่กรณีดำเนินการจัดสรรเงินในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสำหรับบุคคลตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฏีกานั้นให้แก่กองทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ตกลงกับคณะกรรมการได้”

ดร.วีรชัยได้อธิบายว่า ได้ศึกษาเรื่องกฎหมายมาอย่างดี และทราบว่า ตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ระบุชัดว่า สามารถขยายบริการสาธารณสุขตาม พ.ร.บ. นี้ไปยังผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม สามารถทำได้โดยให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพและคณะกรรมการประกันสังคมตกลงกัน ซึ่งปัจจุบันพนักงานมหาวิทยาลัย ทางมหาวิทยาลัย และรัฐบาลได้จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมในสัดส่วนฝ่ายละ 3% นั้นสามารถโยกงบประมาณกลับมาให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) บริหารจัดการได้

“ที่สำคัญการโยกงบดังกล่าวจะทำให้ในภาพรวม รัฐบาลประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้อีกด้วย กล่าวคือ  เมื่อคำนวณดูแล้ว งบต่อหัวต่อเดือนที่ต้องใช้กับระบบประกันสุขภาพของประกันสังคมตกประมาณ 1,800 บาทต่อเดือน หรือ 21,600 บาทต่อคนต่อปี  เมื่อพิจารณาจำนวนบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาที่ถูกผลักเข้าไปใช้ระบบประกันสังคมมีข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ) พบว่า พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานราชการและบุคลากรที่ไม่ใช่ข้าราชการทั้งหมด มีจำนวนรวม 131,692 คน  นั่นคือระบบประกันสังคมได้รับงบประมาณจากคนกลุ่มนี้ประมาณ 2,844,547,200 บาท หรือเกือบ 3 พันล้านบาทต่อปี”

ท้ายสุดสิ่งที่ดร.วีรชัยเปรียบเทียบคือ “หากพิจารณาในส่วนกองทุนอื่น ในงบประมาณที่รัฐอุดหนุนระบบสวัสดิการ เช่น ระบบราชการ ตกปีละ 6 หมื่นล้านบาท ต่อข้าราชการ 5 ล้านคน ตกปีละ 12,000 บาท หรือเดือนละ 1,000 บาทต่อคน และหากดูเรื่องงบประมาณต่อหัว จะสามารถนำพนักงานมหาวิทยาลัยออกมาใช้ระบบที่ทัดเทียมราชการได้”  

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ออกโรงยังไม่รับปาก เนื่องจากสปสช. เป็นหน่วยงานที่ช่วยบริหารมากกว่า แต่ในเรื่องแหล่งเงินก็ต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง

สุดท้ายไม่รู้จะออกมาตามข้อเรียกร้องได้หรือไม่ คงต้องรอดูการหารือร่วมระหว่างนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก่อน