ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ครม.เห็นชอบผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายอยู่ต่อในไทยได้อีก 1 ปี ก่อนรอปรับสถานะตามกระบวนการให้ถูกกฎหมาย

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 เกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ ดังนี้

1. แนวทางการจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา หลังวันที่ 11 สิงหาคม 2556 ดำเนินการโดยผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาที่นายจ้างได้ยื่นบัญชีรายชื่อไว้กับกรมการจัดหางานแล้วตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 (เรื่อง การผ่อนผันแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเป็นกรณีพิเศษเพื่อดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย) ยังไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลจากประเทศต้นทาง ให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับไม่เกิน 1 ปี และอนุญาตให้ทำงานตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และในระยะเวลาระหว่างการผ่อนผัน ให้ประเทศต้นทางเข้ามาดำเนินการพิสูจน์สัญชาติออกเอกสารเพื่อรับรองสถานะบุคคลให้แรงงานต่างด้าว เพื่อปรับเปลี่ยนสถานะเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมาย และขอรับอนุญาตทำงานตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ต่อไป

2. แนวทางการจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา (เฉพาะกิจการประมงทะเล) ดำเนินการโดยให้นายจ้างในกิจการประมงทะเลนำแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาที่ลักลอบทำงานอยู่กับนายจ้างอยู่แล้วมาจดทะเบียน ปีละ 2 ครั้ง โดยผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่จดทะเบียนแล้วอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับไม่เกิน 1 ปี และอนุญาตให้ทำงานตามมาตรา 13(2) แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551

ทั้งนี้ ให้กระทรวงแรงงานเร่งรัดดำเนินการตามแนวทางการจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และรายงานผลการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีเป็นระยะ โดยมอบหมายให้ รองนายกรัฐมนตรี (พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก) ควบคุมดูแลและกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รวมทั้ง เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้านสิทธิมนุษยชนในสังคมระหว่างประเทศให้ดีขึ้นด้วย และให้กระทรวงสาธารณสุขควบคุมและดูแลและการตรวจโรคให้แก่แรงงานต่างด้าวอย่างเคร่งครัดต่อไป