ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แจงกรณีอาการทารกหลังดื่มนมปนเปื้อนเชื้อคลอสตริเดียมโบทูลินั่ม แนะพ่อ-แม่ให้สังเกตอาการท้องผูก ไม่ดูดนม แขนขาไม่มีแรง คอตั้งศีรษะไม่ขึ้นม่านตาขยาย ร้องเสียงเบา ให้รีบพบแพทย์ พร้อมระบุประเทศไทยยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วย ด้านอย.สั่งผู้ประกอบการนำเข้านมและอาหารเด็ก ตรวจสอบย้อนหลังการนำเข้า รายงานผล 8 ส.ค.นี้

วานนี้(6ส.ค.) นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ พร้อมด้วย นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกันแถลงกรณีพบการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย คลอสตริเดียม โบทูลินั่ม ในนมผงเด็ก ซึ่งทางบริษัท ฟอนเทอร์รา ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์นมยักษ์ใหญ่ของนิวซีแลนด์ได้ประกาศเรียกคืนผลิตภัณฑ์นมที่ใช้ "เวย์" (whey) เป็นส่วนประกอบเนื่องจากพบการปนเปื้อนเชื้อดังกล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ภายหลังจากที่มีข่าวดังกล่าวออกมา ปรากฏว่าได้มีพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กจำนวนมากแสดงความเป็นห่วง และได้โทรศัพท์สอบถามมายังกุมารแพทย์ เกี่ยวกับอาการ ในกรณีหากดื่มนมที่มีการปนเปื้อน ซึ่งเชื้อแบคทีเรีย คลอสตริเดียม โบทูลินั่มเป็นเชื้อที่อยู่ในสภาพของสปอร์ เติบโตและแบ่งตัวได้ดีเมื่ออยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่มีออกซิเจน อย่างกรณีหน่อไม้ดอง แต่เมื่ออยู่ในนมผงเชื้อดังกล่าวจะไม่แบ่งตัว แต่หากเติมน้ำลงไปจึงจะมีการแบ่งตัว แม้ว่าจะเป็นน้ำร้อนก็ไม่สามารถทำลายเชื้อตัวนี้ได้ เนื่องจากทนต่อความร้อน

อย่างไรก็ตามเชื้อดังกล่าวจะไม่เป็นอันตรายกับผู้ใหญ่หรือเด็กโต เนื่องจากในลำไส้ผู้ใหญ่มีเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดอยู่แล้ว แต่ที่เป็นห่วงคือในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กทารกอายุ 0-6 เดือน ซึ่งในลำไส้ยังไม่มีเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินั่ม เข้าไปแล้วเจริญแบ่งตัวและสร้างพิษได้

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินั่ม ปกติจะพบตามธรรมชาติอยู่แล้ว เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะฟักตัวและมีอาการภายใน 3-30 วัน ซึ่งในเด็กเล็กในกรณีที่รับเชื้อ จะมีอาการท้องผูกประมาณ 3 วัน ไม่ดูดนม แขนขาไม่มีแรง คอตกตั้งศีรษะไม่ขึ้น ม่านตาขยาย หนังตาตก ร้องเสียงเบา ไม่มีเสียง จนถึงขั้นหายใจไม่ออก ซึ่งอาการจะค่อยเป็นค่อยไป และจะเพิ่มมากขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นหากพ่อแม่สงสัยขอให้รีบพาไปพบแพทย์ ซึ่งโรคดังกล่าวสามารถรักษาให้หายได้

อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานพบผู้ป่วยหรือเสียชีวิตในประเทศไทย รวมถึงอีก 6 ประเทศ ที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์ผลิตนมผงนี้ แต่ที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วยในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ป่วยจากเชื้อนี้ประมาณร้อยคน แต่เกิดจากการรับประทานน้ำผึ้งธรรมชาติไม่ได้เกิดจากการบริโภคนมที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย คลอสตริเดียม โบทูลินั่ม

"ในการใช้นมผงเลี้ยงทารกปกติไม่เป็นปัญหา รวมถึงที่จะซื้อใหม่ แต่มีปัญหาเฉพาะ ล็อตที่ทางบริษัทประกาศ ซึ่งปกติบริษัทนมผงจะมีมาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัยอยู่แล้วในการสุ่มตรวจ เพียงแต่ในกรณีนี้ในการผลิตอาจสุ่มตรวจไม่พบ แต่มีระบบ การรายงานภายหลังจากการวางจำหน่าย จึงได้มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัญหาเหล่านี้ " นพ.สมศักดิ์ กล่าว และว่า ขณะนี้ได้ส่ง ข้อมูลไปยังกุมารแพทย์ผ่านเว็บไซต์เพื่อให้ทำการเฝ้าระวังเด็กทารกที่อาจมารักษาด้วยอาการดังกล่าวที่อาจเกิดจากการดื่มนมผงที่ปนเปื้อนได้ เป็นเพียงมาตรการในการเฝ้าระวังเท่านั้น

อย.สั่งผู้ประกอบการตรวจย้อนหลัง

วันเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้เชิญผู้ประกอบการนำเข้านมและอาหารทารกสำหรับเด็กเล็ก สมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก รวมถึงผู้ผลิตเครื่องดื่มสำหรับผู้ออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อมาร่วมประชุม เพื่อแจ้งให้ทราบถึงสถานการณ์และมาตรการการนำเข้าเวย์โปรตีน หรือหางนมเข้มข้น โดยนพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการฯ อย. กล่าวว่า เพื่อตรวจสอบฐานข้อมูลของ อย. ว่ามีบริษัทใดนำเข้าเวย์โปรตีนจากประเทศนิวซีแลนด์ โดยเฉพาะใน 3 ล็อตที่มีปัญหา การปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย คลอสตริเดียม โบทูลินั่ม

เบื้องต้นพบว่ามีเพียงบริษัทดูเม็กซ์ผู้ผลิตนมผงออกจำหน่าย 5 รุ่น ปริมาณ 1,062 ตัน ซึ่งเก็บออกจากท้องตลาดแล้ว 50 ตัน ส่วนที่เหลือได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดออกตรวจสอบ และเก็บออกจากชั้นวางสินค้าแล้ว ส่วนบริษัทอื่นเท่าที่สอบถามไม่พบว่ามีการนำเข้าเวย์โปรตีนจากประเทศ นิวซีแลนด์แต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีการนำเวย์โปรตีนจากนิวซีแลนด์ไปผลิตเป็นเครื่องดื่มสำหรับพวก เล่นกล้าม เพาะกาย จำนวน 3 ยี่ห้อ แต่ไม่ใช่ล็อตที่มีปัญหา

ส่งผลตรวจสอบสินค้า 8ส.ค.

นพ.บุญ ชัย กล่าวต่อว่า มาตรการเบื้องต้น ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการดำเนินการตรวจสอบวัตถุดิบ ของตนเองอย่างเข้มงวดว่าใช้เวย์โปรตีนหรือไม่ นำเข้ามาจากที่ไหน และให้แจ้งกลับมาที่ อย.ภายในวันพฤหัสบดีที่ 8 ส.ค.นี้ ทั้งนี้หากพบว่ามีการนำเข้าเวย์โปรตีนจากประเทศนิวซีแลนด์ โดยเฉพาะจากบริษัทฟอนเทอร์รา ขอให้ส่งหลักฐานการตรวจวิเคราะห์ทุกล็อต หากไม่มีเอกสารมายืนยันจะต้องอายัดสินค้าเอาไว้ก่อน ส่วนเวย์โปรตีนที่นำเข้าจากแหล่งอื่นๆ ก็ขอให้ส่งหลักฐานว่านำเข้ามาจากประเทศใด

"โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คลอสตริเดียม โบทูลินั่ม ถือเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังและรายงานไปยังสำนักโรคระบาด กรมควบคุมโรค ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบรายงานว่ามีผู้ป่วยจากเชื้อนี้ จากการบริโภคนมในประเทศไทย แต่มีที่เกิดจากการบริโภคอย่างอื่น เช่น หน่อไม้ปี๊บ ดังนั้นประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก ขอให้หลีกเลี่ยงการบริโภคนมในล็อตที่เป็นปัญหา" นพ.บุญชัย กล่าวและว่า จากการตรวจสอบไปที่บริษัท ฟอนเทอร์รา เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาพบว่าไม่ได้นำเข้าเวย์โปรตีนประมาณ 10 ปีแล้ว ส่วนใหญ่บริษัทผู้ผลิตจะเป็นผู้นำเข้ามาเองจากหลายๆ ประเทศ อาทิ ออสเตรีเลีย สหรัฐอเมริกา และยุโรป เป็นต้น

ด้าน ภก.ศรีนวล กรกชกร กล่าวว่า ประเทศไทยจะมีการนำเข้าเวย์โปรตีนใน 2 รูปแบบ คือ 1. เวย์โปรตีนเข้มข้น ซึ่งบริษัทลูกของบริษัทฟอนเทอร์ราขึ้นทะเบียนนำเข้าเอาไว้ แต่ไม่นำเข้าประเทศมาเป็น 10 ปี แล้ว 2.นำเข้าในรูปแบบของมิลค์เบส (Milk based product) ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่บริษัทต่างประเทศนำเวย์โปรตีนไปผสมก่อนส่งเข้าประเทศไทย ซึ่งเราไม่รู้ว่าใช้เวย์โปรตีนจากแหล่งใด ต้องไปตรวจสอบจากบริษัทที่นำส่วนประกอบไปผสมอีกทีหนึ่ง

ขณะที่ นพ.ประพัฒน์ โสภณาทรณ์ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก กล่าวว่า ทางสมาคมมีสมาชิก 7 บริษัท ซึ่งทั้งหมดคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลักมากกว่าธุรกิจ แต่ที่เป็นห่วงขณะนี้คือความตื่นตระหนก ซึ่งต้องย้ำว่านมผงที่เป็นปัญหาขณะนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น และไม่ใช่นมผงของดูเม็กซ์ทั้งหมด เป็นเพียงล็อตส่วนน้อยที่เป็นปัญหา ส่วนอื่นยังปลอดภัย และที่ผ่านมาทางดูเม็กซ์เองยังเป็นผู้ทำการตรวจสอบเองและเปิดเผยข้อมูล ถือเป็นการแสดงความจริงใจรับผิดชอบต่อผู้บริโภค

อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางสมาคมได้ออกประกาศ ขอให้สมาชิกทำการตรวจสอบเพิ่มเติมว่ามีการนำเวย์โปรตีนเข้มข้นในล็อตที่มีปัญหาจากบริษัทฟอนเทียร่า ประเทศนิวซีแลนด์เข้ามาหรือไม่ และให้ส่งข้อมูลมาภายในวันที่ 8 ส.ค.นี้ ทั้งนี้มูลค่าการตลาดนมผงทารกอยู่ที่ราวหมื่นล้านบาท ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพียงส่วนน้อยมาก

"สมาชิกทุกบริษัทมีมาตรฐานการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เพื่อนำมาใช้ในการผลิตที่สูงมาก เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้กับทารก อย่างกรณีของดูเม็กซ์ไม่ได้ถูกตรวจสอบพบก่อน แต่เป็นการตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูลเพื่อแสดงความรับผิดชอบเอง และที่ผ่านมาเราได้ให้ความร่วมมือกับ อย.มาโดยตลอด มีการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว"

สำหรับสมาชิกสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก มี 7 บริษัท ได้แก่ บริษัท ดูเม็กซ์ จำกัด ประเทศไทย, บริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส ประเทศไทย, บริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด,บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด, บริษัท สโนว์แบรนด์สยาม จำกัด, บริษัท บริษัทแปซิฟิค เฮลธ์แคร์ จำกัด และ บริษัท ไวแอท(ประเทศไทย) จำกัด

นิวซีแลนด์เข้าคุมแก้ปัญหา

รัฐบาลนิวซีแลนด์เข้าควบคุมสถานการณ์ความวิตกกรณีตรวจพบสารปนเปื้อนในโปรตีนเวย์ของฟอนเทอร์รา หลังจากมีกระแสวิจารณ์เกี่ยวกับการรับมือกับวิกฤติของบริษัทรายนี้ ที่ทำให้ภาพลักษณ์ "อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" ของประเทศต้องด่างพร้อย

นายสตีเฟน จอยซ์ รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจของนิวซีแลนด์ แถลงว่า รัฐได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปยังโรงงานของฟอนเทอร์ราในนิวซีแลนด์ และออสเตรเลียเพื่อรับประกันว่าข้อมูลที่บริษัทดังกล่าวแจ้งมาเกี่ยวกับการตรวจพบแบคทีเรียที่อาจปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ใช้เป็นส่วนประกอบนมผงสำหรับทารกนั้นมีความถูกต้อง

นายจอยซ์ยอมรับว่าอาจเป็นเรื่องไม่ปกติที่รัฐบาลเข้ามาจัดการปัญหาร่วมกับบริษัทเอกชน แต่ทางการจำเป็นต้องเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกที่มีต่ออุตสาหกรรมนมนิวซีแลนด์กลับคืนมา ซึ่งอุตสาหกรรมนี้มีสัดส่วน 1 ใน 4 ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ

เขากล่าวอีกว่ามีการตรวจสอบแล้วว่า ข้อมูลที่บริษัทฟอนเทอร์รา ส่งมาในครั้งแรกเกี่ยวกับเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาหารเป็นพิษได้นั้นไม่ถูกต้อง จนนำไปสู่ข้อมูลที่ขัดแย้งกันและความสับสนในช่วงที่มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์จากจีนและซาอุดีอาระเบีย

นายจอยซ์ระบุว่า ทางการตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่มีสารปนเปื้อนประมาณ 90% จากทั้งหมด และเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมพื้นฐานของนิวซีแลนด์ก็หวังที่จะใช้ประวัติการขนส่งสินค้าของบริษัทฟอนเทอร์รา ในการค้นหาผลิตภัณฑ์ส่วนที่เหลือให้เจอภายในช่วงบ่ายวันนี้ (7 ส.ค.)

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 7 สิงหาคม 2556