ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนวคิดการจัดสวัสดิการข้าราชการด้วยการให้ระบบประกันภัยเข้าไปดูแล แม้จะมีหารือกันมาหลายปี ถึงตอนนี้ก็ยังไม่เป็นผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเป็นเม็ดเงินก้อนใหญ่ และเป็นรายจ่ายที่เกินงบประมาณที่ตั้งไว้มาโดยตลอดจึงเป็นการยากที่จะเข้าไปบริหารจัดการให้สมดุล ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวคิดใหม่ในการเข้าไปดูแลค่ารักษาพยาบาลส่วนเกินที่เบิกจากสวัสดิการ ซึ่งน่าจะง่ายกว่า โดยขณะนี้มีบริษัทประกันชีวิตออกแบบประกันมาเสนอขายแล้ว"เมืองไทย" เปิดตัวแบบประกันคุ้มครองส่วนเกินสวัสดิการ ขรก.

"สาระ ล่ำซำ" กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "สยามธุรกิจ" ว่า หลังจากบริษัทได้เข้าร่วมโครงการ "ประกันชีวิตเปี่ยมสุขเพื่อสมาชิก กบข." ของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยได้พัฒนาแบบประกันชีวิตหลากหลายที่ตรงกับความต้องการของสมาชิกกบข.ถึง 7 แบบ และในปีนี้ได้ออกแบบประกันใหม่มาอีก 2 แบบ คือ"เมืองไทยข้าราชการสุขสันต์" และ"เมืองไทยตะกาฟุล" เพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิกได้มากขึ้น

โดยเฉพาะแบบเมืองไทยข้าราชการสุขสันต์ เป็นแบบประกันที่เน้นคุ้มครองด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลส่วนที่เกินจากสวัสดิการข้าราชการได้รับซึ่งรวมถึงครอบครัวของสมาชิกที่ได้รับสิทธิ์เบิกจ่ายสวัสดิการข้าราชการด้วยเช่น คู่สมรส บุตร และบิดามารดา

"สวัสดิการข้าราชการไม่ได้เบิกได้ทั้งหมด จะมีกำหนดว่าตัวไหนเบิกได้เบิกไม่ได้ หรือเบิกได้เท่าไหร่ เช่น ค่าห้อง สมมตินอนโรงพยาบาลเอกชนกำหนดให้เบิกได้แค่ 600 บาทต่อวันแต่ค่าห้องเอกชนอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทต่อวัน เท่ากับต้องจ่ายส่วนเกินเอง1,400 บาท หรือมียาบางตัวที่อยู่นอกบัญชีก็ไม่สามารถเบิกได้ รวมไปถึงจะมีค่ารักษาพยาบาลบางตัว เช่น ค่าหมออาจจะไม่สามารถเบิกได้ ส่วนเกิน และส่วนที่เบิกไม่ได้นี้เองเป็นส่วนที่แบบประกันนี้จะเข้าไปคุ้มครอง"ต่อยอดกบข.ขายขรก. 5.4 ล้านคน

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากกลุ่มข้าราชการสมาชิกกบข.แล้ว บริษัทยังเตรียมที่จะนำแบบประกันนี้เสนอขายข้าราชการทั่วประเทศในเร็วๆ นี้อีกด้วย

"จากข้อมูลพบว่า มีข้าราชการ และครอบครัวที่มีสิทธิ์ในสวัสดิการรักษาพยาบาลอยู่ประมาณ 5.4 ล้านคน เป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา ซึ่งที่เราเสนอสมาชิกกบข.จะเป็นแพ็กเกจประกันชีวิตแบบตลอดชีพ 90/90 มาพ่วงสัญญาเพิ่มเติมค่ารักษาพยาบาล มีให้เลือก 4 แผนตามค่าห้อง คือ ค่าห้อง 800 บาท, 1,200 บาท, 2,000 บาท และ 3,500 บาท โดยที่ทุนประกันชีวิตกรณีเสียชีวิต หรืออยู่จนครบสัญญาจะอยู่ที่ 100,000 บาทเท่ากันทุกแผน ขณะที่วงเงินคุ้มครองสวัสดิการส่วนเกินอยู่ที่ 100 เท่าของค่าห้อง เช่นซื้อค่าห้อง 800 บาท เท่ากับวงเงินคุ้มครองค่ารักษาอยู่ที่ 80,000 บาท โดยเมื่อเบิกค่าห้องตามสิทธิ์จากสวัสดิการข้าราชการได้เต็มเพดาน 600 บาท แล้วส่วนเกินก็สามารถมาเบิกจากค่าห้องที่ซื้อไว้ได้ และหากมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เบิกไม่ได้จากสวัสดิการก็สามารถเบิกได้จากวงเงินคุ้มครองค่ารักษา 80,000 บาทดังกล่าว"

แต่สำหรับข้าราชการที่มีกรมธรรม์ประกันชีวิตอยู่แล้ว หรือเรียกว่ากรมธรรม์หลัก ก็สามารถที่จะซื้อความคุ้มครองนี้ในรูปของสัญญาเพิ่มเติมได้ ซึ่งเบี้ยประกันก็จะถูกลงไปอีก สมมติ เพศชายอายุ40 ปี มีประกันชีวิตกับบริษัทอยู่แล้ว หากซื้อสัญญาเพิ่มเติมค่าห้อง 800 บาท วงเงินคุ้มครองค่ารักษา 80,000 บาท ได้ในอัตราเบี้ยประมาณ 2,800-3,000 บาทต่อปี แต่หากไม่มีกรมธรรม์ประกันชีวิตซื้อแพ็กเกจปกติเลยอัตราเบี้ยจะอยู่ประมาณ 4,000 บาทต่อปี

แหล่งข่าวจากวงการประกันชีวิตเปิดเผย "สยามธุรกิจ" ว่า แผนประกันชีวิตข้าราชการนี้ นอกจากเมืองไทยประกันชีวิตแล้ว ยังมีบริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ยื่นขออนุมัติแบบประกันไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ด้วย โดยใช้บริษัทรับประกันภัยต่อต่างประเทศ (รีอินชัวเรอส์) รายเดียวกันในการเป็นที่ปรึกษาการออกแบบประกันนี้ แต่ตอนนี้ทิพยฯยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆประกันชีวิตเปี่ยมสุข กบข.โตต่อเนื่อง3 ค่ายผนึกกำลังโกยลูกค้า 8 แสนราย

สำหรับโครงการประกันชีวิตเปี่ยมสุขเพื่อสมาชิก กบข. ในรอบใหม่ตั้งแต่มิถุนายน2556-30มิถุนายน2558 ทางกบข.ยังต่ออายุให้กับ 3 บริษัทประกันชีวิต คือ เมืองไทยประกันชีวิต ไทยประกันชีวิต และเอไอเอ ในการเสนอแบบประกันให้กับสมาชิก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1.2 ล้านราย โดยตั้งแต่เริ่มโครงการในปี2549 ถึงขณะนี้มีสมาชิกกบข.ซื้อประกันผ่านโครงการนี้ประมาณ800,000 รายแล้ว คิดเป็นเบี้ยประกันประมาณ 7,200 ล้านบาท และมีทุนประกันรวมกันอยู่ที่ 128,000 ล้านบาทโดยแบบประกันที่นำมาเสนออัตราเบี้ยจะต่ำกว่าตลาดประมาณ 10-15%

"สาระ" กล่าวว่า ในส่วนของเมืองไทยประกันชีวิต มียอดขายจากโครงการนี้เฉลี่ย 2,000 กรมธรรม์ต่อเดือน ซึ่งอัตราเบี้ยที่นำเสนอต่อลูกค้ากลุ่มนี้ต่ำกว่าในท้องตลาด โดยขายผ่านตัวแทนของเมืองไทยฯทั่วประเทศ โดยนอกเหนือจาก 2 แบบใหม่เมืองไทยข้าราชการสุขสันต์ และแบบประกันเมืองไทยตะกาฟุล เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่นับถือศาสนาอิสลามแล้ว อีก 7 แบบที่ขายอยู่เดิม

          ด้านม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เอไอเอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทมียอดขายจากโครงการนี้เฉลี่ย 5,000 กรมธรรม์ต่อเดือน โดยเป็นลูกค้าหักเบี้ยจากบัญชีเงินเดือนเฉลี่ย 700-800 บาทต่อเดือนซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าประมาณ140,000 ราย เป็นเบี้ยประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยเสนอขายรวม 6 แบบซึ่งแบบที่ขายดีที่สุด คือ แบบคุ้มครองตลอดชีพ จ่ายเบี้ย 20 ปี

ขณะที่ "ดร.อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล" กรรมการและประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทร่วมโครงการนี้เป็นปีที่ 5 โดยมีแบบประกันเสนอขาย 6 แบบ มียอดขายเฉลี่ย6,000-7,000 กรมธรรม์ คิดเป็นเบี้ยประมาณ 80-90 ล้านบาทต่อเดือน

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 - 9 ส.ค. 2556