ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เปิดกลไกไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ต่างชาติโวยการรักษาพยาบาล รพ.ไทย เพื่อสร้างความมั่นใจกรณีเกิดปัญหาตกลงกันไม่ได้

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวเรื่อง “การพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการแพทย์ (Medical Mediator)” ว่า ภายหลังจากที่มีชาวต่างชาติเข้ามารับบริการทางการแพทย์ที่ประเทศไทยเพิ่มขึ้นนั้น มีจำนวนหนึ่งได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการรับบริการ สธ. จึงพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยกรณีข้อพิพาททางการแพทย์สำหรับชาวต่างชาติ ทั้งในด้านคุณภาพการรักษาและอัตราค่าบริการ ทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน โดยเน้นระบบการไกล่เกลี่ยเป็นหลัก เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและสร้างความเชื่อมั่น ความเข้าใจอันดีให้ชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาตัวในประเทศไทย ผ่าน 3 ช่องทางคือ 1.Web Portal : www.thailandmedicalhub.net, E-mail : medicalhub702@gmail.com 2.Call Center กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หมายเลข 0-2193-7999 ตลอด 24 ชั่วโมง 3.รับเรื่องร้องเรียนโดยตรงผ่านทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการร้องเรียนของชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องอัตราค่าบริการทางการแพทย์

เบื้องต้นระบบนี้เน้นรองรับชาวต่างชาติที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ต้องจ่ายค่ารักษาเองทั้งหมดก่อน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ประมาณร้อยละ 80 โดยมีคณะกรรมการกลาง 1 ชุด พิจารณาไกล่เกลี่ย โดยมีอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นประธาน และประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่เจรจาไกล่เกลี่ย ทบทวน ให้ข้อคิดเห็น โดยยึดหลักความถูกต้องทางวิชาการทางการแพทย์ในระดับสากล รวมทั้งความสมเหตุสมผลในด้านการเงิน เป็นการยกระดับการพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยทางการแพทย์ของไทยสู่ระดับสากล มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการกรณีเกิดข้อพิพาททางการแพทย์ กำหนดระยะเวลาดำเนินการทั้งระบบไม่เกิน 90 วัน

ด้าน นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ ผอ.รพ.กรุงเทพ สายกิจกรรมพิเศษ ในฐานะกรรมการสมาคม รพ.เอกชน กล่าวว่า ระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการแพทย์ที่จัดตั้งขึ้นนี้ จะสร้างความมั่นใจให้กับชาวต่างชาติในการเข้ามารับการรักษาในประเทศมากขึ้น สำหรับการคิดอัตราค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนนั้น ขึ้นอยู่กับการบริการและความยากง่ายในการรักษาโรค อีกทั้งแต่ละ รพ.จะมีหลักเกณฑ์คำนวณแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการลงทุน ซึ่ง รพ.ขนาดใหญ่จะแตกต่างจาก รพ.เล็ก เพราะมีการลงทุนมากกว่า แต่ทั้งนี้การคิดค่ารักษาจะถูกควบคุมด้วยกลไกผู้ให้และผู้รับบริการอยู่แล้ว เพราะหากคิดค่ารักษาแพงไป โดยเฉพาะกรณีชาวต่างชาติ จะมีการบอกต่อและจะไม่มีผู้มาใช้บริการ

ที่มา: http://www.thaipost.net