ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus— แม้จะกล่าวได้ว่า ระบบสุขภาพของไทยกำลังก่อร่างสร้างความเท่าเทียมให้ระหว่างหน่วยชนชั้นทางสังคม แต่ความเหลื่อมล้ำนั้นยังมีช่องว่างถ่างกว้าง การเข้าถึงสิทธิยังไม่ครอบคลุม ส่วนหนึ่งนั่นอาจเป็นเพราะว่า ผู้บริหารระบบกำลังเพ่งเล็งความสนใจไปยังการพัฒนาสิทธิประโยชน์ แต่การสื่อสารข้อมูลสู่สังคมและผู้ได้รับสิทธิยังไม่ประสบผล

กลุ่มแรงงานข้ามชาติเป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจน แรงงานสัญชาติ พม่า ลาว กัมพูชา ที่ถูกกฎหมายมีมากกว่า 840,000 คนทั่วประเทศไทย มีแรงงานภาคอุตสาหกรรมที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้วแค่ประมาณ 230,000 คน จากการที่ทีมงาน Hfocus ลงพื้นที่จังหวัดระนอง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีความหนาแน่นของแรงงานพม่าสูง พบว่า แรงงานอุตสาหกรรมเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายเหล่านี้แทบไม่รู้สิทธิของตนเอง หรือรู้เพียงว่าตนมีสิทธิรักษาพยาบาล แต่หารู้ไม่ ว่าตนมีสิทธิอื่นๆอีกหกรายการ ได้แก่ การคลอดบุตร การสงเคราะห์บุตร เบี้ยชราภาพ การรับเงินชดเชยเมื่อว่างงาน ทุพลภาพ และเสียชีวิต มีแรงงานข้ามชาติเข้าสู่สิทธิประกันสังคมเพียงประมาณกว่า 2,300 คน จากทั้งสิ้นประมาณ 80,000 คน (จำนวนแรงงานข้ามชาติที่ลงทะเบียนกับโรงพยาบาลทั่วจังหวัดระนอง)

มิใช่เพียงแค่ไม่รู้สิทธิเท่านั้น ในบางชุมชน กลุ่มแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารด้านสุขศึกษาและการป้องกันโรคเบื้องต้น  

จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่จากหน่วยบริการและสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่พบว่า การสื่อสารคือปัญหาใหญ่ของพื้นที่ กระบวนการปรับใช้นโยบายด้านการพัฒนาและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติจากส่วนกลางสะดุดที่หน่วยงานรัฐในพื้นที่ เนื่องจากไม่สามารถส่งผ่านข้อมูลสู่กลุ่มแรงงานข้ามชาติได้อย่างครอบคลุม เจ้าหน้าที่มีจำนวนจำกัด และล่ามขาดแคลนอย่างหนัก

ต้นเหตุหลัก คงหนีไม่พ้นข้อจำกัดด้านงบประมาณของหน่วยงานรัฐ และระเบียบราชการที่ไม่รองรับการเบิกเงินค่าจ้างให้แก่ล่ามแรงงานข้ามชาติ

ตัวแทนเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ระนองเล่าว่า ปัจจุบัน ทางสสจ.ระนองได้จ้างพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.)34 คน โดยค่าแรงอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาท/เดือน/คน เจ้าหน้าที่เหล่านี้ประจำอยู่ตามโรงพยาบาลและสสจ.เพื่อทำหน้าที่เป็นล่าม ช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องสิทธิการรักษาทางพยาบาลด้วยการบอกเล่าหรือกระจายแผ่นพับความรู้ และพสต.มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งเสริมและป้องกันโรคในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เพื่อไม่ให้โรคระบาดมาสู่คนไทย

กล่าวได้ว่า ล่ามคือผู้ที่จะนำพานโยบายแรงงานข้ามชาติของรัฐ ลงสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม จำนวนล่ามแรงงานข้ามชาติมิอาจเพียงพอต่อจำนวนประชากรต่างด้าวจำนวนเหยียบแสน การขาดแคลนล่ามได้กลายเป็นปัญหาแม้แต่ในกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาที่ถูกกักกันไว้ตามด่านตรวจคนเข้าเมือง  กำแพงภาษาจึงเป็นอุปสรรคขวางกั้นการรักษา ส่งเสริมและป้องกันโรคให้แก่กลุ่มผู้ลี้ภัย

“บางคนกลัวว่า การจ้างพสต.จะทำให้อาชีพราชการถูกแย่ง บางคนก็กังวลเรื่องความมั่นคง แต่งานสาธารณสุขไม่เหมือนงานอื่น ต้องยืดหยุ่น เพราะเป็นผลกระทบของภาพรวม” เจ้าหน้าที่คนนี้กล่าวโดยไม่ประสงค์ออกนาม

จากการพูดคุยกับพสต.ชาวพม่าในจ.ระนอง พบว่า แรงงานข้ามชาติมักเชื่อและฟังผู้ที่พูดภาษาเดียวกัน ล่ามแรงงานข้ามชาติจึงมีความสำคัญมาก เช่น เมื่อคราวที่โรคอหิวาต์ระบาดในชุมชนชาวพม่าเมื่อสองปีก่อน พสต.และล่ามจากองค์กรไม่พัฒนาเอกชนมีส่วนสำคัญในการหยุดยั้งการกระจายตัวของโรคได้ รวมถึงขณะนี้ที่โรคไข้เลือดออกกำลังระบาดหนักในประเทศไทย แต่ทว่า กลับไม่พบการระบาดของโรคในบางชุมชนชาวพม่าที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการป้องกันโรคผ่านล่าม

อย่างไรก็ตาม ทุกจังหวัดคงไม่โชคดีเท่าจ.ระนอง ที่แม้ค่าจ้างพสต.จะไม่มากนัก แต่ก็มีชาวพม่าสมัครใจเป็นพสต.ถึง 34 คน เช่น นางมะเคอายุ 34 ปี ทำงานเป็นพสต.มามากกว่า 10 ปี เล่าว่าแรงงานข้ามชาติที่ให้ความช่วยเหลือส่วนมากไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร หรือหากได้รับ ก็ไม่ครบถ้วน

“ที่เป็นพสต.มาหลายปีเพราะมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือคนพม่าด้วยกัน” นางมะเคพูด “หากมีพสต.หรือล่ามได้มากกว่านี้ เจ้าหน้าที่คนไทยก็ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น คนพม่าก็จะได้รับการช่วยเหลือมากขึ้น”

นายธานโทย อายุ 31 ปี ล่ามและเจ้าหน้าที่ประจำมูลนิธิศุภนิมิต มีความเห็นว่า การมีล่ามประจำหน่วยงานรัฐในปริมาณที่เพียงพอ จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานเชิงรุกได้มากขึ้น ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิต่างๆในพื้นที่ใช้ล่ามเป็นตัวกลางในการให้ความรู้เรื่องการเฝ้าระวังการติดเชื้อเอดส์แก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ล่ามทำหน้าที่เยี่ยมชุมชนแรงงานข้ามชาติหลายแห่งเพื่อประชาสัมพันธ์ความรู้ เป็นผลให้ผู้ติดเชื้อเอดส์แรงงานข้ามชาติหลายคนตระหนักได้ และยอมเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในพื้นที่ แม้ว่าพวกเขาต้องจ่ายค่ารักษาเองถึงเดือนละ 800-1,200 บาท เพราะการสื่อสารลงไปถึงกลุ่มเป้าหมาย กระบวนการรักษาจึงเกิด

“ล่ามคนหนึ่งทำได้หลายอย่างมาก แต่กลับไม่มีระบบรองรับล่าม” นายธานโทยกล่าว “คนไทยคนหนึ่งยังไม่รู้สิทธิของตัวเองเลย แล้วคนพม่าจะรู้ได้อย่างไรหากไม่มีการสื่อสารอย่างครบถ้วน”  

ถึงเวลาแล้ว ที่นโยบายด้านการพัฒนาและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติควรได้รับการทบทวน

การงบประมาณควรจะคำนึงถึงยุทธศาสตร์การด้านการสื่อสารให้มากขึ้น หาไม่แล้ว นโยบายสวยหรูที่วางไว้จะกลายเป็นเพียงแผ่นกระดาษ หาได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ใด