ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังเข้าเรียกร้องสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ในการขอตั้งกองทุนรักษาพยาบาลพนักงานมหาวิทยาลัย ให้เป็นลักษณะเดียวกับกองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการพนักงานท้องถิ่น ว่า เบื้องต้นได้หารือกับรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แล้ว และมีความเห็นร่วมกันว่า จะตั้งคณะอนุกรรมการย่อยเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ก่อนจะนำเสนอนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. ต่อไป จากนั้น ศูนย์ประสานงานจะขอเข้าพบร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน เพื่อหารือขอให้พนักงานมหาวิทยาลัยที่ปัจจุบันใช้สิทธิรักษาพยาบาลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้โอนมาอยู่ในการดูแลของ สปสช.แทน

"ส่วนจะสามารถโอนย้ายจาก สปส. มา สปสช. ได้จริงหรือไม่ ก็มีความเป็นไปได้ เนื่องจากกฎหมายประกันสังคมยังไม่ชัดเจนในเรื่องพนักงานมหาวิทยาลัย เพราะความจริงผู้ที่จะอยู่ในประกันสังคมต้องไม่ใช่ข้าราชการ แต่พนักงาน

มหาวิทยาลัยจริงๆ คือข้าราชการ ก็ต้องมีการตีความ ซึ่งอยากให้ สปส. ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเรื่องนี้ให้ชัดเจน สิ่งที่เรียกร้องเพราะต้องการความเป็นธรรมเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล เทียบเท่ากับอาจารย์ข้าราชการ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนทุนรัฐบาลที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนนโยบายการบรรจุข้าราชการในช่วงปี 2540-2542" รศ.ดร.วีรชัยกล่าว

รศ.ดร.วีรชัยกล่าวว่า สำหรับจุดด้อยของพนักงานมหาวิทยาลัย ในเรื่องสิทธิรักษาพยาบาลย่อมไม่เท่ากับข้าราชการ เมื่อเทียบกับ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังมีพัฒนาการด้านสิทธิประโยชน์ดีกว่าด้วยซ้ำ เช่น สิทธิประกันสังคมไม่สามารถใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือการใช้หัตถการทางการแพทย์ต่างๆ ขณะที่สิทธิข้าราชการและ 30 บาท ใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้หลังเกษียณ แต่ประกันสังคมไม่คุ้มครอง เป็นต้น ทั้งนี้นักเรียนทุนที่แปรสภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยน่าจะมีประมาณกว่า 30,000 คน

ที่มา--ข่าวสด ฉบับวันที่ 13 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--