ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผยผลวิจัยเด็กกินนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน ป้องกันเด็กท้องเสียได้นานถึง 2 ขวบ สธ.เข้มสั่งโรงพยาบาลทุกระดับเป็นพื้นที่ปลอดนมผง พร้อมตั้งเป้าปี 58 ให้ดื่มกินนมแม่ ร้อยละ 60

นายสรวงศ์ เทียนทอง รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า สธ.มีนโยบายให้แม่หลังคลอด ที่มีประมาณปีละ8 แสนราย เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนให้ได้ร้อยละ 60 ภายในปี 2558 จึงมีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกระดับทั้งในสังกัด และนอกสังกัดของ สธ. เป็นพื้นที่ปลอดนมผง

รศ.พญ.กุสุมา ชูศิลป์ กรรมการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ได้นำเสนอผลการดำเนินงานของโรงพยาบาล 11 แห่ง พบว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวลดจากร้อยละ94.9 ในช่วงสัปดาห์แรกหลังเกิด เป็นร้อยละ 39.6 เมื่อทารกอายุ 6 เดือนเต็ม

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนป้องกันการเจ็บป่วยในเด็กได้หลายโรค โดยมีอาการไข้น้อยที่สุดเพียงร้อยละ 26.9 เมื่อเทียบกับทารกที่ได้รับนมผสมอย่างเดียวร้อยละ 30.8 ได้นมแม่และน้ำร้อยละ38.4 ได้นมแม่และนมผสมร้อยละ 45.1 และได้นมผสมร่วมกับอาหารอื่นร้อยละ 51.2 โรคที่ลดลงได้อย่างชัดเจน ได้แก่ โรคท้องเสีย และโรคผื่นแพ้ที่ผิวหนัง

เมื่ออายุ 2 ขวบ ทารกที่เคยได้รับนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน  มีอัตราเจ็บป่วยด้วยโรคท้องเสียน้อยที่สุด เพียงร้อยละ 1.3 ในขณะที่ทารกที่ได้รับนมแม่ร่วมกับน้ำร้อยละ 10.8 และนมแม่ร่วมกับนมผสมร้อยละ 19.0 ป่วยด้วยโรคท้องเสียประมาณ 10 - 20 เท่าของทารกที่ได้รับนมแม่อย่างเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันโรคจากน้ำนมแม่ สามารถปกป้องกันทารกไม่ให้ป่วยจากโรคติดเชื้อได้นานถึง 2 ขวบ หรือมากกว่านั้น

รศ.พญ.กุสุมากล่าวว่า อาการของภาวะภูมิแพ้ที่พบบ่อยในช่วง 6 เดือนแรกหลังเกิด พบว่าทารกที่มีโอกาสเกิดน้อยที่สุดคือทารกที่ได้รับนมแม่อย่างเดียวเมื่ออายุ 2 เดือน ร้อยละ 4.0 อายุ 4 เดือนร้อยละ 4.5  อายุ 6 เดือนร้อยละ 2.7 และอายุ 24 เดือนร้อยละ 3.4  ส่วนทารกที่ได้รับนมแม่ร่วมกับน้ำมีโอกาสเกิดภาวะภูมิแพ้สูงที่สุดเมื่ออายุ 24 เดือนร้อยละ 5.1 ทารกที่เป็นผื่นแพ้ผิวหนังมักจะมีโอกาสเป็นโรคหืดตามมาด้วยเมื่อเด็กโตขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลัง 6 เดือนควรให้เด็กกินนมแม่จนอายุ 1 ขวบ โดยกินควบคู่กับอาหารอื่น เพื่อป้องกันภาวะขาดสารอาหาร โดยดูได้จากสมุดบันทึกสุขภาพและเด็กที่ได้รับจากสถานพยาบาลตั้งแต่เริ่มฝากครรภ์

ส่วนเรื่องของพัฒนาการเด็ก จากการติดตามทดสอบพบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กระตุ้นการเริ่มพฤติกรรมในสัดส่วนสูงสุด เช่น การยกหัวสูงจากพื้น 90 องศา ร้อยละ 52 เมื่ออายุ 2 เดือน การพลิกตัวจากคว่ำเป็นหงายร้อยละ 75 เมื่ออายุ 4 เดือน การคว้าจับวัตถุโดยใช้นิ้วชี้ และหัวแม่มือร้อยละ 62 เมื่ออายุ 6 เดือน และการกระโดด 2 ขาชิดกันร้อยละ 68  เมื่ออายุ 24 เดือน

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน  วันที่ 13 สิงหาคม 2556