ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ช่วงสามปีแรก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มี "บทเฉพาะกาล" ให้กระทรวงสาธารณสุขยังคงเป็นผู้ "ดูแล"งบประมาณเอง ปรากฏว่าเกิดปรากฏการณ์โรงพยาบาลกว่า 200 แห่ง "ขาดทุน" "จะเจ๊ง"ขณะที่อีกนับร้อยแห่ง "ร่ำรวย" มีเงินบำรุงคงเหลือหลายร้อยล้าน สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการจัดสรรเงินที่ไม่เป็น "มืออาชีพ" มีการเลือกที่รักมักที่ชัง เกิดการต่อสู้แย่งชิงงบประมาณเป็นข่าวครึกโครมยืดเยื้อ

ที่จริงถ้าจัดสรรอย่างโปร่งใสและอย่างมืออาชีพ แม้มีปัญหาก็แก้ไม่ยาก เพราะปีแรกๆ มีการจัดสรรงบฉุกเฉิน (Contingency Fund)ไว้ราว 5,000 ล้านบาทแล้ว จนกระทั่งใกล้หมดบทเฉพาะกาล 3 ปี กระทรวงสาธารณสุขพยายาม "ดิ้นรน" ขอต่ออายุบทเฉพาะกาลต่อไป

วันหนึ่งมีการประชุม "ผู้บริหารระดับสูง"ในกระทรวงสาธารณสุข ใกล้เวลาประชุมแล้วองค์ประชุมหายไปเกือบหมด ผู้เขียนตรวจสอบพบว่า ทุกคนไปอยู่ในห้องรัฐมนตรี คือ พินิจจารุสมบัติ จึงตามไปสมทบ จึงพบว่า ทุกคนกำลังโน้มน้าวให้รัฐมนตรีขอต่ออายุบทเฉพาะกาล จนกำลังจะสรุปแล้ว ผู้เขียนจึงยกมือค้านอย่างแข็งขัน คุณพินิจฟังแล้วสรุปให้เอาตาม"เสียงข้างน้อยเสียงเดียว" ของผู้เขียน ไม่ต่ออายุบทเฉพาะกาล

พออำนาจจัดสรรตกอยู่ในมือ สปสช. หลังวันที่ 1 ต.ค. ซึ่งเป็นวันเริ่มปีงบประมาณไม่กี่วันนพ.สงวน ขึ้นเว็บไซต์แจ้งการจัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งทั่วประเทศได้หมด โรงพยาบาลทุกแห่งพอใจ แต่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขไม่พอใจเพราะต้องการให้แจ้งยอดรวมไปที่กระทรวงแล้วกระทรวงขอไป "บริหารภายใน" ต่อ ตามที่เห็นสมควรอีกทีหนึ่ง สุดท้าย นพ.สงวนยอมให้ตัดส่วนหนึ่งไปให้ผู้บริหารได้ "บริหาร"บ้าง หลังจากนั้นปัญหาโรงพยาบาลส่วนหนึ่ง"เจ๊ง" ส่วนหนึ่ง "รวย" ก็คลี่คลายลง

ภายใต้การบริหารของ สปสช. ซึ่งใช้เงินเพื่อการบริหารทั้งหมดไม่ถึง1% ของเงินกองทุน เงินงบประมาณราวร้อยละ 70 กลับเข้าสู่กระทรวงสาธารณสุข แต่เงินส่งตรงถึง"หน่วยบริการ" คือโรงพยาบาลต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกิดทั้งความเป็นธรรมและประสิทธิภาพอย่างสูง สปสช.สามารถเพิ่มสิทธิประโยชน์และพัฒนาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่องมากมาย

ตัวอย่างเช่น ปีแรก ยาเอดส์ยังแพงมากยังไม่มีการจ่ายยาต้านไวรัสเอดส์ให้คนไข้ ปีต่อมาองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาเอดส์ราคาถูกลงถึง 20-25 เท่า จึงมีการให้สิทธิแก่คนไข้เอดส์ทุกราย ทำให้คนไข้เอดส์มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก ใกล้เคียงคนปกติ คนไข้ที่ติดโรคฉวยโอกาส เคยต้องไปนอนรักษาตัวแน่นโรงพยาบาลหายไปเกือบหมด ต่อมามีการเพิ่มการให้บริการล้างไตแก่คนไข้ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยเริ่มจากล้างในโรงพยาบาล ต่อมาเพิ่มการให้ล้างไตทางช่องท้องโดยให้ล้างที่บ้าน ส่งน้ำยาให้ถึงบ้านเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี2554 คนไข้ล้างไตที่โรงพยาบาลเดือดร้อนมาก เพราะน้ำท่วมเดินทางลำบาก โรงพยาบาลบางแห่งปิดบริการเพราะน้ำท่วม แต่คนไข้ล้างไตทางช่องท้องเดือดร้อนน้อยกว่ามาก เพราะล้างได้เองที่บ้าน ผู้ที่ต้องอพยพหนีน้ำก็ไปล้างไตในที่พักพิงได้สบาย ต่อมามีการขยายการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้แก่กลุ่มเสี่ยงต่างๆ ป้องกันมิให้เจ็บป่วยซึ่งมักจะรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลเดือดร้อนทั้งคนไข้ ญาติ และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หลังฉีดวัคซีนคนไข้เหล่านี้ลดลงมากมาย

เรื่องการจัดซื้อยาล็อตใหญ่ๆคือ ยาเอดส์และวัคซีน สปสช.รับไปดำเนินการเอง ปีแรกที่ซื้อยาเอดส์ลดงบประมาณลงได้ถึงประมาณพันล้านจากที่กระทรวงสาธารณสุขเคยซื้อ วัคซีนก็ใช้งบประมาณลดลงราว 30% และยังทำให้คุณภาพวัคซีนดีขึ้นด้วย เพราะเดิมกรมควบคุมโรครับภาระจัดซื้อ จึงไม่มีเวลาไปดูแลเรื่องระบบลูกโซ่ความเย็น (Cold Chain) เท่าที่ควรหลัง สปสช.จัดซื้อเอง กรมควบคุมโรคกลับไปทำหน้าที่ทางวิชาการ จึงมีการพัฒนาระบบลูกโซ่ความเย็นได้เต็มที่

ที่สำคัญ สปสช.มีการสำรอง "ยากำพร้า"เช่น เซรัมรักษาโรคคอตีบ ยาแก้พิษกรณีเป็นพิษจากหน่อไม้ปีบ เป็นต้น ยาเหล่านี้เป็นยาช่วยชีวิต แต่ไม่มีบริษัทยาผลิตหรือนำมาจำหน่ายเพราะปริมาณการใช้น้อย ยาเหล่านี้ได้อานิสงส์กับประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการด้วย

ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาราคาแพง เช่น มะเร็งโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย ก็มีการบริหารจัดการให้ทุกคนได้รับยาและการดูแลรักษาตามมาตรฐาน มีการบริหารจัดการเรื่องที่ผู้ป่วยต้องรอคิวนาน ให้คิวสั้นลงมาก เช่น คนไข้ต้อกระจก คนไข้ที่ต้องผ่าเชื่อมเส้นเลือดหัวใจคนไข้ที่ต้องเปลี่ยนเข่า เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีระบบ "สายด่วน 1330" ให้คำปรึกษาการใช้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง บริการเหล่านี้พัฒนาขึ้นจน "แซงหน้า"ประกันสังคมซึ่งทำมาก่อนถึง 10 ปีเศษ แต่บริหารแบบราชการจนต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่หลังปรากฏเป็นข่าวว่า "ล้าหลัง" ไปมากแล้ว ทั้งที่ใช้งบประมาณสูงกว่า

พัฒนาการเหล่านี้ ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากบริหารโดยกระทรวงสาธารณสุข แม้จะมอบให้ นพ.สงวน เป็นผู้บริหาร ก็จะถูกขัดขวาง กลั่นแกล้ง "เตะตัดขา" หรือกระทั่ง "ใส่ร้ายป้ายสี" จนทำอะไรไม่ได้

เมื่อเริ่มงานของสปสช. นพ.สงวน เริ่มรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งปอด และจะมีอายุต่อไปไม่นาน อาจจะเพียง 6 เดือนเท่านั้น แต่คุณหมอสงวนสู้ทั้งกับโรคและปัญหานานาประการจนสร้าง สปสช.ที่เข้มแข็ง ก่อคุณูปการให้แก่ประชาชนมากมาย พอหมดวาระแรก ฝ่าย"แพทย์พาณิชย์" พยายามเข้าไปยึดครอง สปสช.เพื่อดึงผลประโยชน์จน นพ.สงวนเกือบหลุดจากตำแหน่ง โหวตได้คะแนน 13 ต่อ 13 เท่าคู่แข่ง เคราะห์ดี นพ.มงคล ณ สงขลา ในฐานะรัฐมนตรี โหวตชี้ขาดให้รับตำแหน่งเลขาธิการต่อไป จึงมีเวลาทำงานต่ออีกราว 1 ปี ก่อนเสียชีวิต

หลัง นพ.สงวน เสียชีวิต สปสช.ก็ขาดผู้นำที่มีบารมีเพียงพอ ประกอบกับฝ่ายการเมืองเปลี่ยนขั้ว ได้พรรคการเมืองที่เป็นผู้ให้กำเนิดสปสช.เข้ามามีอำนาจ น่าเสียดายที่ไม่ยึดกุมหลักการนโยบายเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงกลับมุ่ง "ยึดอำนาจ" โดยยึดบอร์ด ตั้งผู้ทรงคุณวุฒิโดย "มิชอบ" แทรกแซงองค์กรเรื่องการตั้งรองเลขาธิการ และมีพฤติการณ์ที่จะ "แสวงประโยชน์" เพื่อตนเองและพรรคพวกซึ่งจะทำให้ประชาชนภายใต้ สปสช.กลายสภาพเป็น"คนไข้อนาถา" ไปในที่สุด

น่าสงสารคุณทักษิณที่สามารถสร้างสิ่งดีๆที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกขึ้นมาได้ แต่กำลังถูกทำลายโดยคนรอบข้าง

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 13 สิงหาคม 2556