ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดูแลสุขภาพประชาชนแนวชายแดน โดยเฉพาะพื้นที่ไทย–เมียนมาร์ ทั้งความร่วมมือในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค

วันนี้ (15 สิงหาคม 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สธ.ห่วงใยสุขภาพประชาชนตามพื้นที่แนวชายแดนที่มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคติดต่อต่างๆได้ง่ายกว่าประชาชนในพื้นที่อื่นๆ จึงมีนโยบายเน้นหนักในการดูแลประชาชนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ แต่ให้สอดคล้องกับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และอยู่ในกติกาของกฎอนามัยระหว่างประเทศ ค.ศ. 2005 ซึ่งประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกยอมรับและปฏิบัติต่อกัน โดยเฉพาะแนวชายแดนไทย–เมียนมาร์ ซึ่งมีความร่วมมือในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคร่วมกันมายาวนาน

ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเปิดการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศไทย และประเทศเมียนมาร์ ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ชายแดน (Thailand–Myanmar Collaborative Workshop on Disease Surveillance Prevention and Control at the Border Areas) ณ โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ กรุงเทพมหานคร ว่า การประชุมความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดต่อ และปัญหาสาธารณสุขอื่นๆ บริเวณชายแดนได้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 โดยทั้งสองฝ่ายได้จัดทำบันทึกการเจรจา (Minutes of Discussion) เพื่อพัฒนา และเสริมสร้างความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างจังหวัดชายแดน โดยเฉพาะโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรียในกลุ่มประชากรข้ามเขตแดน เนื่องจากมีพื้นชายแดนที่ติดต่อกันทำให้ประชากรทั้งสองฝั่งเคลื่อนย้ายข้ามเขตแดนได้สะดวก อันเป็นผลให้การแพร่ระบาดของโรคติดต่อระหว่างประเทศทั้งสองเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น จากนั้นใน พ.ศ.2543–2545 ได้มีการจัดทำแผนความร่วมมือด้านสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน โดยได้รับการการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การยูนิเซพ (UNICEF) และองค์การยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) การดำเนินงานในปัจจุบันเป็นการดำเนินงาน 2 ระดับ ได้แก่ ระดับส่วนกลาง และระดับท้องถิ่น/พื้นที่ โดยมีการดำเนินงานหลายรูปแบบ ได้แก่ การประชุมระดับรัฐมนตรีของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีๆละครั้ง โดยผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ และการประชุมระดับพื้นที่ได้มีการจัดประชุมเป็นระยะ ระหว่างจังหวัดคู่ขนาน ได้แก่ จังหวัดเชียงรายกับท่าขี้เหล็ก จังหวัดตากกับเมียวดี จังหวัดกาญจนบุรีกับด่านเจดีย์สามองค์ และจังหวัดระนองกับเกาะสอง นอกจากนี้ยังมีการประชุมผู้บริหารงานโครงการและนักวิชาการ ในส่วนกลางของทั้ง 2 ประเทศ และในปี พ.ศ.2550 ได้เพิ่มการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคอุบัติใหม่-อุบัติซ้ำในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาร์อีกด้วย

แผนงานความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศเมียนมาร์ในปัจจุบันเน้นการเตรียมพร้อมและตอบโต้สถานการณ์โรคระบาด การป้องกันโรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคอุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ โดยแผนงานโรคเอดส์เน้นการเข้าถึงบริการในการป้องกันโรคที่มีคุณภาพ วัณโรคเน้นการดำเนินงานตามกลวิธี DOTS คือ การรักษาแบบมีพี่เลี้ยง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายผลการรักษา ร้อยละ 85 ในทุกอำเภอของพื้นที่ชายแดน โรคมาลาเรีย มีเป้าหมายเพื่อลดการป่วยและตายด้วยโรคมาลาเรียในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาร์ โดยมุ่งควบคุมเชื้อมาลาเรียดื้อยา และป้องกันการแพร่กระจายของยารักษามาลาเรียปลอมในพื้นที่ชายแดน ส่วนการตอบโต้โรคระบาดนั้น เน้นการดำเนินการตามกฎหมายอนามัยระหว่างประเทศปี ค.ศ.2005 รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการสอบสวนโรคร่วมกัน และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังเน้นการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ชายแดน อย่างมีประสิทธิภาพ

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า การประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมาร์ ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคโรคติดต่อในพื้นที่ชายแดนครั้งนี้ จัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 14–15 สิงหาคม 2556 ณ โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ และติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือของทั้งสองประเทศในปีที่ผ่านมา ในเรื่องโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย เนื้อหาของการประชุมจะรายงานสถานการณ์ชายแดนสาธารณสุขในปัจจุบัน และรายงานผลการดำเนินงาน พร้อมกับวางแผนการดำเนินงานในปี ต่อไป การประชุมนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั้งสองประเทศ ในระดับบริหาร นักวิชาการและผู้ปฏิบัติงาน จากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันและควบคุมโรค ได้แก่ อธิบดีและรองอธิบดี กรมสุขภาพประเทศเมียนมาร์ รองอธิบดี กรมควบคุมโรค ประเทศไทย ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทยและประเทศเมียนมาร์ ผู้แทนสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ องค์การย้ายถิ่นระหว่างประเทศศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ประมาณ 70 คน