ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -เมื่อไม่นานมานี้ผู้ป่วยชาวต่างชาติทุกคนคงดีใจไม่ใช่น้อย กับความมั่นใจที่จะได้รับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทย  เพราะล่าสุด “นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ตั้งคณะกรรมการกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการแพทย์ในระดับสากล (Medical Mediator) ขึ้น เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ป่วยต่างชาติที่มารับการบริการในโรงพยาบาลไทยทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งอาจเกิดกรณีข้อร้องเรียน ทั้งด้านคุณภาพการรักษาพยาบาล และอัตราค่าบริการ  โดยเน้นใช้ระบบการไกล่เกลี่ยเป็นหลัก เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและสร้างความเชื่อมั่น ความเข้าใจอันดีให้ชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาตัวในประเทศไทย

นับเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายเมดิคัล ฮับ  (Medical Hub)ของรัฐบาลอย่างพอดิบพอดี เพราะเป็นการเอื้ออำนวยในด้านการมารับบริการที่มั่นใจได้ว่าจะได้รับความเป็นธรรม  ซึ่งคณะกรรมการกลางดังกล่าว ประกอบด้วย 18 คน มีอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นประธาน ส่วนกรรมการอื่นๆประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมโรงพยาบาลเอกชน แพทยสภา กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์คลินิกไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สมาคมประกันชีวิตไทย กระทรวงการต่างประเทศ มีสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นเลขานุการ  

งานนี้แม้เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ไม่วายเกิดคำถามว่า สำหรับผู้ป่วยคนไทยได้รับการดูแลในเรื่องข้อพิพาททางการแพทย์ดีพอแล้วหรือยัง...

“นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา”  ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์  เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยคนไทยหรือต่างชาติก็ล้วนต้องได้รับการดูแลทั้งหมด การมีกฎเกณฑ์ขึ้นมาคุ้มครองถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ก็อดมองกลับมาไม่ได้ว่า ผู้ป่วยคนไทยได้รับการดูแลดีพอแล้วหรือไม่ เนื่องจากทุกวันนี้มีข้อพิพาทระหว่างผู้ป่วยและแพทย์มาตลอด จนกลายเป็นคดีความไม่จบสิ้น สุดท้ายผู้ป่วยก็มักเสียเปรียบ แม้ปัจจุบันตามกฎหมายมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จะกำหนดให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ แต่กฎหมายดังกล่าวไม่ครอบคลุมทุกสิทธิ ใช้ได้เพียงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคเท่านั้น

ขณะที่อัตราการจ่ายชดเชย ที่แม้จะมีการปรับเพิ่มเพดานการจ่ายเงินชดเชย เป็น 2 เท่า จากเงื่อนไขเดิม กรณีเสียชีวิตจาก 200,000 บาท เป็น 400,000 บาท และพิการจากเดิมจ่าย 120,000 บาท เป็น 240,000 บาทและติดเชื้อรุนแรงและกรณีความเสียหายอื่นๆ ปรับจาก 50,000 เป็น 100,000 บาท แต่เมื่อเกิดปัญหาจริงๆก็ต้องมีการตรวจสอบ สุดท้ายผู้เสียหายไม่ได้รับเงินในอัตราที่ควรจะได้รับ  

“ปัญหาของมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ยังคงมีอยู่ แต่หากมีการเดินหน้าร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ก็จะคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ได้ ที่สำคัญยังครอบคลุมทุกสิทธิ ไม่ว่าจะเป็น 30 บาทรักษาทุกโรค สิทธิสวัสดิการข้าราชการ สิทธิประกันสังคม หรือแม้แต่กรณีจ่ายเงินเองตามโรงพยาบาลเอกชนก็สามารถครอบคลุมได้ แต่จนแล้วจนรอดกลับไม่มีการเดินหน้า ทั้งๆที่ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ฉบับประชาชนอยู่ในวาระของสภาฯ เหลือเพียงร่างพ.ร.บ.ฯ ซึ่งเป็นร่างหลักของกระทรวงสาธารณสุข กลับไม่มีการเสนอเข้าสภาฯ เพื่อพิจารณาเสียที จึงไม่แน่ใจว่ารัฐมนตรี สธ.ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยไทยเทียบเท่าผู้ป่วยต่างชาติหรือไม่ เรื่องนี้จึงรู้สึกเสียใจจริงๆ และหากเป็นไปได้ก็จะขอโอกาสเข้าพบ นพ.ประดิษฐ สักครั้งเพื่อหารือเรื่องนี้” นางปรียนันท์ กล่าว

ขณะที่ “นพ.ประดิษฐ” กล่าวว่า  การตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการแพทย์สำหรับชาวต่างชาตินั้น ไม่ได้หมายความว่าไม่มีระบบดูแลคนไทย เพราะระบบดังกล่าวดูแลทั้งหมด เพียงแต่ต้องแจ้งให้ชาวต่างชาติทราบว่ามีระบบตรงนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาอาจไม่ทราบ และเมื่อมีข้อร้องเรียนก็ไม่พอใจ แต่ไม่รู้จะแจ้งช่องทางไหน ซึ่งตรงนี้เพื่อการันตีคุณภาพการบริการของไทยก็ต้องมีช่องทางให้ชัดเจนขึ้น  ส่วนคนไทยมีช่องทางดูแลเช่นกัน ไม่ว่าจะสิทธิไหนหากมีปัญหาสามารถร้องเรียนมายัง  8 ช่องทาง ดังนี้1.ตู้ ปณ. 1111 สำนักนายกรัฐมนตรี  2.สายด่วน 0- 2193 -7999 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 3.เว็บไซต์ www.hss.moph.go.th 4.ไปรษณีย์ถึงศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อาคาร 5 ชั้น 5 กระทรวงสาธารณสุข อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000

5.ตู้รับเรื่องร้องเรียนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 6.ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สำนักกฎหมาย สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ7.โทรศัพท์หมายเลข 0 2149 5652 โทรสารหมายเลข 0 2149 5652 และ8.อีเมลล์ law_hss@hss.mail.go.th  

 “คงเป็นการเข้าใจผิดว่า กระทรวงฯไม่สนใจผู้ป่วยไทย ซึ่งไม่ใช่ เรามีช่องทางให้หมด อย่างกรณีสิทธิ 30 บาท ยังมีมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ คอยดูแล มีการจ่ายอัตราค่าชดเชยกรณีเกิดความเสียหาย ส่วนที่มีการเรียกร้องขอให้เดินหน้าพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ นั้น เป็นคนละประเด็น เพราะนั่นเป็นเรื่องการขยายไปสิทธิอื่น แต่นี่เป็นการให้ความเป็นธรรมเมื่อเกิดข้อร้องเรียนต่างๆ” นพ.ประดิษฐ กล่าว

“ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา” นายกแพทยสภา กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องมีการตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการแพทย์ให้ชาวต่างชาติ เนื่องจากหากเกิดข้อพิพาทใดขึ้นมา จะเป็นปัญหาในแง่ของการฟ้องร้องระหว่างต่างชาติและแพทย์ไทย ด้วยเหตุนี้หากมีคณะกรรมการไกล่เกลี่ยฯจะช่วยในการพูดคุยสร้างความเข้าใจ และตกลงกันได้มากกว่า ซึ่งจะง่ายในแง่การดำเนินการ และยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย ส่วนกรณีคนไทยนั้นก็ไม่ได้นิ่งเฉย มีระบบในการร้องเรียนอยู่แล้ว  เห็นได้จากมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ที่จ่ายชดเชยเบื้องต้น ซึ่งที่ผ่านมามีการจ่ายให้กรณีนี้มาตลอด ทั้งๆที่ในต่างประเทศจะต้องมีการพิสูจน์ว่า ความเสียหายที่เกิดกับผู้รับบริการต้องมาจากผู้ให้บริการจริงๆ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถจ่ายได้ ขณะที่ของไทยแม้จะมีการตรวจสอบ แต่ส่วนใหญ่จะจ่ายให้ถึง 90% 

เมื่อถามถึงการเดินหน้าร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ นายกแพทยสภา ตอบว่า เรื่องนี้ต้องระดมความเห็นจากทุกฝ่าย เพราะหากตัวกฎหมายนี้ระบุว่าต้องจ่ายให้กับผู้ได้รับผลกระทบโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิดก็จะเป็นการสิ้นเปลืองภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งจะต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และปัญหาคือ จะนำแหล่งเงินมาจากไหน ประกอบกับจะส่งผลต่อขวัญกำลังใจของแพทย์ ทำให้ไม่กล้ารักษา เพราะกลัวไปหมด อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ยังอยู่ระหว่างร่างรายละเอียดที่แฟร์ๆ ทุกฝ่าย ขณะเดียวกันแพทยสภาก็อยู่ระหว่างพิจารณาความเป็นไปได้ในการขยายสิทธิของมาตรา 41 ไปยังสิทธิสวัสดิการข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม

ด้าน “นพ.อารักษ์  วงศ์วรชาติ” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง  เพราะในระบบบริการของรัฐต้องทำหน้าที่ถ่วงดุลให้ผู้ป่วยไทยดีกว่านี้ เนื่องจากอย่าลืมว่า ปัจจุบันบุคลากรสาธารณสุขของไทยต้องทำงานภายใต้สภาวะกดดัน มีความเสี่ยงสูง จนหลายครั้งก็มีปัญหาระหว่างแพทย์และคนไข้ ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีระบบไกล่เกลี่ย หรือการช่วยเหลือที่ดีพอและเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ทางเลือกที่ดีที่สุด คือ การผลักดันพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ให้สามารถประกาศใช้ได้จริง ไม่ใช่หยุดชะงัก และหันไปให้ความคุ้มครองผู้ป่วยต่างชาติแทน เพราะการทำลักษณะนี้ชัดเจนแล้วว่า เอื้อภาคเอกชนมากกว่าคนไทย เพราะการตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการแพทย์ให้ต่างชาติ ก็เพื่อสนองตอบนโยบายเมดิคัล ฮับ ซึ่งเรื่องนี้ชมรมแพทย์ชนบททราบดีมาตลอด และเคยเตือนแล้ว สุดท้ายก็เป็นจริง