ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

FTA Watch วิพากษ์งานวิจัยของศูนย์ยุโรปศึกษา จุฬาฯ เรื่องผลกระทบเจรจาค้าเสรีไทย-อียู ข้อมูลไม่ลึก ละเลยประเด็นผลกระทบสุขภาพ ชี้ หากไม่จงใจบิดเบือนก็ด้อยคุณภาพวิชาการ

ตามที่ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอโครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาผลกระทบจากการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรป” นั้น

นายจักรชัย โฉมทองดี รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ซึ่งได้ไปร่วมรับฟังการนำเสนอโครงการวิจัยดังกล่าว ให้ความเห็นในเวทีว่า เป็นงานศึกษาที่กล่าวถึงเพียงข้อมูลพื้นฐานความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ อุปสรรคทางการค้าที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนการเจรจาเอฟทีเอขาดบทวิเคราะห์ทางวิชาการที่เพียงพอ

“ไม่มีข้อค้นพบว่า เอฟทีเอกับสหภาพยุโรปจะแก้ไขปัญหาอุปสรรคการค้าที่ไม่ใช่ภาษี, เทคนิคทางการค้า หรือ สุขอนามัยพืช ได้อย่างไร ทั้งที่ชี้ว่าประเด็นเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญ

ในเรื่องของการใช้เอฟทีเอเพื่อคงหรือเพิ่มสิทธิพิเศษทางการค้า หรือ จีเอสพี ที่ภาคธุรกิจหวังอย่างมากจากการเจรจาครั้งนี้ ก็ไม่มีการศึกษาว่า หากไม่ได้ต่อสิทธิจีเอสพี ไทยจะเสียหายเท่าไรอย่างไร ไม่มีการศึกษาว่า สินค้าบางตัวแม้ไม่มีข้อได้เปรียบทางภาษีแล้วยังสามารถปรับตัวในด้านอื่นๆได้ ไม่มีข้อมูลเชิงตัวเลขที่จะสนับสนุนการเจรจาได้ เช่นเดียวกับงานวิจัยเรื่องสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหาร ไม่มีการศึกษาว่า การรักษาปริมาณการส่งออกไว้นั้น ผลประโยชน์จะเกิดเพิ่มขึ้นอย่างไร ละเลยประเด็นด้านการกระจายตัวของผลประโยชน์ โดยไม่ได้ชี้ว่า แรงงานจะได้ประโยชน์อย่างไร หรือจะได้ภายใต้เง่อนไขอะไร ขณะที่การเปิดตลาดให้กับผลิตภัณฑ์โคนม-โคเนื้อ ก็ไม่มีงานวิจัยเทียบเคียงกับการเปิดเสรีที่ไทยทำไว้กับออฟสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก่อนหน้านี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด”

รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวต่อว่า สำหรับงานวิจัยเรื่องแอลกอฮอล์และบุหรี่นั้น ไม่มีการมองผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศอย่างน่าตกใจ

“สะท้อนว่า ผู้วิจัยไม่ได้ทำข้อมูลอย่างลึกซึ้ง ไม่มีการวิเคราะห์ผลกระทบต่องบประมาณด้านสุขภาพ ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบจากกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนที่ผู้ลงทุนมีสิทธิฟ้องร้องรัฐต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ทำให้รัฐหมดพื้นที่ทางนโยบายไป อีกทั้งไม่ศึกษาข้อเรียกร้องของผู้คัดค้านที่ชี้ให้เห็นว่า หากทำตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป ผู้ประกอบการในไทยจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์แบบได้เปล่า (Free Rider) ด้วยซ้ำ ”  

สำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวกับยานั้น รองประธานกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ ตั้งข้อสังเกตว่า น่าแปลกใจมาก ที่งานวิจัยแยกความเห็นเป็น 2 กลุ่มคือ ของผู้ผลิต (manufacturers) กับความเห็นขององค์กรพัฒนาเอกชนและผู้บริโภค (NGOs – Consumers) การแบ่งแบบนี้ ไม่เหมาะกับความเป็นวิชาการ เพราะไม่ได้แยกชัดว่า ผู้ผลิตหมายถึงใคร ผู้ผลิตในประเทศ หรือตัวแทนบริษัทข้ามชาติที่มาตั้งสำนักงานในไทยและตั้งสมาคมชื่อภาษาไทย ผลประโยชน์ 2 กลุ่มนี้ต่างกันมาก ความต้องการต่างกันมาก อีกทั้งคนที่เห็นเช่นเดียวกับองค์กรพัฒนาเอกชนและผู้บริโภค ก็มิได้มีแค่องค์กรพัฒนาเอกชน แต่เป็นนักวิชาการ นักเภสัชศาสตร์ หน่วยงานรัฐ จำนวนมากก็เห็นเช่นนี้

ทางด้านนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า ค่อนข้างเป็นกังวลกับงานวิจัยในลักษณะนี้ ที่ผ่านมา ศูนย์ยุโรปศึกษาเคยรับศึกษาความยั่งยืนของเอฟทีเอระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป พบว่า พูดแต่ด้านดีเท่านั้น ไม่มีข้อเสนอให้ระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเอฟทีเอเลย

“เมื่อพิจารณาข้อมูลการนำเสนอในวันนี้แล้ว การสรุปของศูนย์ยุโรปแบบนี้ หากไม่เจตนาบิดเบือนก็แสดงให้เห็นถึงความด้อยคุณภาพของงานวิชาการ”

 

ทั้งนี้การเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปในรอบที่ 2 นั้น จะมีขึ้น ระหว่างวันที่ 16-20 กันยายนนี้ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทางกลุ่มฯ กำลังติดต่อเพื่อขอพบหัวหน้าคณะเจรจาทั้งสองฝ่ายเพื่อหารือถึงข้อห่วงกังวลต่างๆ และจะจัดกิจกรรมรณรงค์ในระหว่างการเจรจาด้วยเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนและสนับสนุนผู้เจรจาฝ่ายไทยให้ยืนหยัดในประเด็นที่สังคมจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่ผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น