ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในช่วงฤดูฝน โรคติดต่อที่พบการแพร่ระบาดได้บ่อยก็คือ โรคไข้เลือดออก อันเกิดจากยุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนชื้นที่กำลังเร่งแก้ปัญหา เพราะภัยนั้นทำให้ผู้ป่วยบางรายเสียชีวิตได้

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยา บาลรามาธิบดี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เปิดกิจกรรม "ชุมชนปลอดภัย รวมพลังเยาวชน สู้ภัยไข้เลือดออก"

มีแกนนำเด็ก-เยาวชนจาก 7 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนสวนเงิน เพชรบุรีซอย 7 ซอยแดงบุหงา โค้งรถไฟยมราช หลังกรมทางหลวง กองพล 1 และบ้านครัวเหนือ เข้าร่วมกว่า 150 คน เพื่อแสดงพลังเด็กในการทำความดี แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการต่อสู้ไข้เลือดออกจากเพื่อนสู่เพื่อน และสร้างกำลังใจให้แก่กันในการป้องกันไข้เลือดออก

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ประ ธานอนุกรรมการป้องกันโรคและอุบัติเหตุ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้โรคไข้เลือดออกกำลังแพร่ระบาด โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน แม้สถานการณ์จะเริ่มชะลอตัว แต่ยังพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มสัปดาห์ละกว่า 5,000 คน และยังคงมีผู้เสียชีวิตทุกสัปดาห์

ทางด้านกระทรวงสาธารณสุข และ กทม.มีมาตรการควบคุมการระบาดของไข้เลือดออกอย่างเต็มที่ ทั้งแพทย์ พยาบาล อสม. อสส. ในกรุงเทพฯ มีเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมของเขตติดตามการรายงานข้อมูลผู้ป่วยจากสถานพยาบาลต่างๆ 2 รอบต่อวัน เพื่อที่จะเข้าไปฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงในชุมชนที่พบผู้ป่วยภายใน 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม การควบคุมและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายตามแหล่งน้ำต่างๆ โดยเฉพาะในชุมชนแออัด เป็นสิ่งที่อยู่เหนือความสามารถของเจ้าหน้าที่ที่จะดำเนินการให้หมดได้ ดังนั้น พลังชุมชน เด็กและเยาวชนจึงมีความสำคัญมากที่จะนำไปสู่การควบคุมสิ่งแวดล้อมทุกบ้าน ทุกจุดในชุมชน

ประกอบกับชุมชนในเขตราชเทวีที่เคยทำงานร่วมกับราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ เรื่องชุมชนสุขภาพ เราจึงประชุมกันเกิดเป็นโครงการ "ชุมชนปลอดภัย รวมพลังเยาวชน สู้ภัยไข้เลือดออก" ขึ้น

ที่เขตราชเทวี สสส. และคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ได้ดำเนินโครงการโดยชุมชนที่มีสภาพการอยู่อาศัยหนาแน่น 7 แห่งรอบโรงพยาบาล ได้ร่วมใจกันสำรวจบ้านตนเองและบริเวณรอบบ้าน กำจัดลูกน้ำยุงลาย เฝ้าระวังการป่วย และรายงานหัวหน้าชุมชน

นอกจากนั้นในทุกวันหยุด ชุมชนทั้งหมดยังได้จัดตั้งอาสาสาสมัครเด็กและเยาวชนเดินเท้าเยี่ยมทุกบ้าน สำรวจแหล่งน้ำในครัวเรือนที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

โดยการเดินสำรวจ เมื่อเจอจุดเสี่ยงที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เยาวชนจะใช้การถ่ายรูปเก็บไว้ หากพื้นที่ใดมีหลุมหรือน้ำขังก็จะใส่ทรายอะเบต หรือปลาหางนกยูงหยอดตามบ้าน พร้อมกับพูดคุยและให้ความรู้กับชาวบ้านเพื่อกระตุ้นเตือน สร้างความสนใจให้แต่ละบ้านตื่นตัว

จากนั้นอีก 1 อาทิตย์ก็กลับมาสำรวจที่เดิม ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงไหม พร้อมกับตรวจดูแหล่งใหม่ หากพบก็ถ่ายรูปพร้อมกับดำเนินการต่อไป ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่าสามารถป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะดำเนินการต่อไปจนกว่าสถานการณ์ไข้เลือดออกจะลดลง

นางสมบุญ แตงน้อย ประธานชมรมโค้งรถไฟยมราช 1 ใน 7 ชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรม "ชุมชนปลอดภัย รวมพลังเยาวชน สู้ภัยไข้เลือดออก" เปิดเผยว่า ชุมชนมีแหล่งน้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอยู่มาก ทำให้คนในชุมชนโดยเฉพาะเด็กเป็นโรคไข้เลือดออก แต่เมื่อเริ่มรณรงค์การป้องกันไข้เลือดออกอย่างจริงจังตั้งแต่ ก.ค.ที่ผ่านมา สถานการณ์โรคก็ดีขึ้น ไม่มีคนในชุมชนเป็นไข้เลือดออกอีก

ต้องขอบคุณคนในชุมชน โดยเฉพาะเยาวชนที่เป็นกำลังหลักของการรณรงค์ป้องกันไข้เลือดออกเป็นอย่างดี ตั้งแต่การให้ความรู้ เดินแจกทรายอะเบตกำจัดยุงตามบ้านต่างๆ สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ติดป้าย แจกโปสเตอร์ และมีเสียงตามสายรณรงค์ให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการป้องกันโรคไข้เลือดออก หากบ้านใดมีคนในบ้านไม่สบายก็ให้รีบมาแจ้งที่ประธาน หรืออาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อให้ได้รับรักษาอย่างทันท่วงที

ด้าน เด็กหญิงปภาดา ศรีทองสด (น้องแบม) อายุ 11 ปี อาสาสมัครเด็กและเยาวชนจากชุมชนหลังกรมทางหลวง บอกว่า รู้สึกดีใจที่มีส่วนช่วยชุมชนไม่ให้มียุง เพื่อทุกคนที่อาศัยในชุมชนจะได้ปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก โดยหนูและเพื่อนๆ จะใช้เวลาในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เดินสำรวจในชุมชน ซึ่งชุมชนหนูมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงค่อนข้างเยอะ เพราะติดกับคลอง พวกเราก็จะช่วยกันใส่ทรายอะเบตเพื่อกำจัดลูกน้ำ รวมทั้งเดินแจกใบปลิวให้คนในชุมชนระวังและช่วยกันป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยหลังจากพวกหนูทำการสำรวจ พวกยุงและลูกน้ำก็เริ่มลดลงและหายไปค่ะ

เด็กหญิงมีนารักษ์ เมฆสอน (น้องตาล) อายุ 13 ปี อาสาสมัครเด็กและเยาวชนจากชุมชนสวนเงิน เล่าว่า ดีใจที่มีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับไข้เลือดออกขึ้น เพราะทำให้คนในชุมชนมีความรู้และป้องกันตัวไม่ให้โดนยุงกัด ซึ่งเป็นสาเหตุอาการป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก พอทราบข่าวจากรองประธานชุมชนจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อจะได้มีความรู้และเอาไปปฏิบัติตามได้ อย่างเช่น การกำจัดแหล่งที่มีน้ำขังโดยใช้ทรายอะเบต หรือคว่ำภาชนะต่างๆ เอาไว้ ซึ่งในชุมชนก็มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงค่อนข้างเยอะ พบมากตามบริเวณใต้ถุนบ้าน แต่หลังจากที่อาสาสมัครช่วยกันกำจัด ปริมาณยุงต่างๆ ก็ลดลง

เพื่อป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออก ควรช่วยกันตรวจสอบบริเวณที่อยู่อาศัยของท่าน ว่ามีพื้นที่เสี่ยงในการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายหรือไม่ โดยสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ทุกๆ 7 วัน เพื่อป้องกันโรคติดต่อร้ายแรงดังกล่าว.

ที่มา: http://www.thaipost.net