ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เคยคิดกันบ้างหรือไม่ว่า...เวลาไปช็อปปิ้งของกินของใช้ต่างๆ เรามักจะเห็นสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ หรือแพคเกจ (package) ขนาดใหญ่ สวยงาม แต่ของข้างในมีจำนวนหรือปริมาณน้อยนิด เปิดซอง ฉีกห่อแต่ละครั้ง เห็นของข้างในแล้วชวนให้คลื่นคิดข่าวอารมณ์เสีย เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับแพคเกจแล้วช่างแตกต่างกันซะเหลือเกิน

ภาพเหล่านั้นเห็นกันจนชินตา ทุกวันนี้... ผู้บริโภคจึงเหมือนต้องตกอยู่ในภาวะจำยอมให้เจ้าของสินค้า "เอาเปรียบ" และยังไม่เคยมีใครออกมาเรียกร้องหาความรับผิดชอบจากเจ้าของสินค้ากันอย่างจริงจัง

หากมีการติดตามสถานการณ์ขนาดบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่เกินจริง หรือเกินความจำเป็น จะพบว่า ในกลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย มีขนาดบรรจุภัณฑ์ใหญ่เกินจริงประมาณร้อยละ 20-40 เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณสินค้า ซึ่งพบได้ในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอาหาร ประเภทขนมขบเคี้ยว สินค้าอุปโภค เช่น แชมพู ยาสระผม น้ำยาล้างจาน ฯลฯ ที่ผู้บริโภคต้องกินต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงมีการประเมินกันว่า ขนาดบรรจุภัณฑ์ไม่ควรใหญ่เกินกว่าปริมาณผลิตภัณฑ์ที่บรรจุร้อยละ 15 (ยกตัวอย่าง น้ำยาปรับผ้านุ่ม 1 ขวด จะต้องมีพื้นที่ว่างจากหัวขวดถึงน้ำยาปรับผ้านุ่มไม่เกินร้อยละ 15)

น่าสังเกตว่า สถานการณ์บรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่เกินจริงส่วนใหญ่จะปรากฏในประเทศกำลังพัฒนา นั่นอาจเป็นเพราะ...ผู้บริโภคไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือตระหนักถึงเรื่องนี้มากนัก ที่สำคัญมักไม่ชอบอ่านฉลาก แต่ตัดสินใจซื้อสินค้าโดยดูจากขนาดภายนอกเป็นสำคัญ

ส่วนเหตุผลสำคัญที่ผู้ประกอบการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่เกินจริงนั้น ก็เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคเห็นผลิตภัณฑ์บนชั้นวางสินค้าชัดเจน มีความโดดเด่นต่อสายตาของผู้บริโภค แต่ข้อเสียก็มี คือ

1.ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีจำนวนหรือปริมาณมากตามขนาดบรรจุภัณฑ์ แม้ว่าปริมาณบรรจุจริงกับที่แจ้งไว้ในฉลากจะถูกต้องตรงกันก็ตาม แต่เพราะผู้บริโภคในประเทศไทย รวมถึงประเทศกำลังพัฒนา มักจะไม่อ่านฉลาก ตัดสินใจซื้อจากขนาดของบรรจุภัณฑ์ โดยคิดง่ายๆ ว่าขวดใหญ่ ปริมาณก็จะมากตาม ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับผู้บริโภค

2.ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีการใช้พลาสติกบรรจุภัณฑ์มากเกินความจำเป็น ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นขยะที่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการจัดเก็บ ทำลาย หรือรีไซเคิล โดยเฉพาะในผู้ผลิตบางรายที่ยังใช้พลาสติกชนิดที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้

ยิ่งล่าสุด กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้รายงานสถานการณ์ขยะของประเทศไทย ระบุว่า เฉพาะปี 2555 เพียงปีเดียวมีขยะมูลฝอยมากถึง 16 ล้านตัน และช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อหรือไม่ว่าขยะกลุ่มนี้กำจัดอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการเพียง 5.8 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ที่เหลืออีกกว่า 10 ล้านตัน หรือร้อยละ 67 กำจัดโดยการเผาทิ้ง กองทิ้งในบ่อดินเก่าหรือพื้นที่รกร้าง ลองจินตนาการดูเอาเองว่าสภาพจะเป็นอย่างไร...

ขยะที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของทุกคน สังคมไทย...ยิ่งอุปโภคมาก บริโภคมาก ก็ยิ่งสร้างขยะมากเป็นเงาตามตัว เห็นแบบนี้แล้ว...ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกองค์กร ทุกหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องควรหันมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ "รณรงค์" เรื่องนี้อย่างจริงจัง โดย1.คุ้มครองผู้บริโภคด้วยการให้ความรู้ว่าซื้อของต้องอ่านฉลากก่อนตัดสินใจซื้อ

2.ผู้ประกอบการต้องมีจรรยาบรรณในการผลิตสินค้า โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนขนาดบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์มากขึ้น หากผู้ประกอบการรายใดดำเนินการไปแล้วก็ให้ดำเนินการต่อไป หากผู้ประกอบการรายใดยังไม่ดำเนินการ ขอให้เริ่มเสียตั้งแต่วันนี้ เพราะนอกจากสามารถลดต้นทุนการผลิตได้แล้ว ยังช่วยลดปริมาณขยะ และรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก แถมทำดีแบบนี้ยังสามารถนำไป "เครดิต" ให้องค์กรได้ว่า มีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคม

ปัจจุบัน มีหลายประเทศที่ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และออกกฎหมายควบคุมผู้ประกอบการและคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว อาทิ  ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ฯลฯ ส่วนในกลุ่มประเทศทางแถบยุโรปมีการทำบันทึกความตกลงร่วมกันในสมาคมระดับนานาชาติ (The International Association for Soaps, Detergents and Maintenance products: A.I.S.E) เพื่อควบคุมขนาดบรรจุภัณฑ์ให้มีความเหมาะสมกับปริมาณและจำนวนผลิตภัณฑ์

สำหรับประเทศไทย...งานนี้คงต้องขอให้ "สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค" (สคบ.) เป็นแม่งาน!

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน  วันที่ 17 สิงหาคม 2556